xs
xsm
sm
md
lg

สงครามขนส่งด่วนอากาศ…ปฏิบัติการชิงน่านฟ้าเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * บูม!..ธุรกิจขนส่งด่วนอากาศโซนเอเชีย * 4 ยักษ์ใหญ่คูเรียร์งัดกลยุทธ์สู้กันสุดฤทธิ์ * พร้อมขยายฐานจากไทยสู่แดนมังกร * หวังช่วงชิงความเป็นหนึ่งด้านบริการ

ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลของธุรกิจขนส่งด่วนอากาศไปเลียแล้ว เมื่อหลายค่ายธุรกิจหันมาเร่งทำตลาดจัดระเบียบใหม่ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพวางแผนจัดการพร้อมสรรหาบริการใหม่ๆหวังสร้างแรงดึงดูดใจลูกค้าพร้อมขยายตัวออกสู่ทั่วภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศจีน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดให้มากที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปริมาณการขนส่งด่วนอากาศกว่า 98% ของลูกค้าทั้งหมดในแถบเอเชียจะเป็นคูเรียร์ยักษ์ใหญ่ 4 ค่ายทั้งยุโรปและอเมริกานั่นก็คือ DHL , FedEx , UPS และ TNT

เมื่อเร็วๆค่าย เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส FDX ประกาศขยายบริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรออริตี้ ไดเร็ทดิสทริบิวชั่น (International Priority DirectDistributionSM : IPD) ผ่านพิธีศุลกากรเพียงครั้งเดียว สู่ประเทศในสหภาพ ยุโรปเพิ่มขึ้นอีก 12 แห่ง ส่งผลให้เฟดเอ็กซ์สามารถให้บริการขนส่งด่วนแบบ IPD ผ่านพิธี ศุลกากรเพียงครั้งเดียวครอบคลุมทุกประเทศในสหภาพยุโรปรวม 27 ประเทศ

ส่งผลให้ในปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เฟดเอ็กซ์ สามารถส่งสินค้าหรือพัสดุจากแหล่งผลิตถึงผู้รับปลายทางหลายรายในทุกประเทศของสหภาพยุโรปพร้อมกัน โดยใช้เอกสารกำกับการขนส่งระหว่างประเทศ และใบกำกับการค้ารวมเพียงใบเดียว สร้างความสะดวกให้กับลูกค้าที่จัดส่งสินค้าหรือพัสดุ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และ เวชภัณฑ์ถึงจุดหมายปลายทางหลากหลายแห่งได้พร้อมกันและตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านอื่นๆและที่สำคัญสามารถเข้าถึงตลาดเปิดใหม่ได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันต้นทุนทางด้านพิธีการ ศุลกากร การจัดการคลังสินค้าและการบริหาร สินค้าคงคลังถูกลดลง ส่งผลให้การจัดส่งสินค้าหรือพัสดุไปยังประเทศในสหภาพยุโรปมีประสิทธิภาพและ ลดระยะเวลาตั้งแต่การแจ้งขอใช้บริการจนถึงการส่งสินค้าถึงจุดหมายปลายทางลงเหลือเพียง 2-4 วันเท่านั้น

มร.เดวิด แอล คันนิ่งแฮม จูเนียร์ ประธาน เฟดเอ็กซ์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวถึงแผนการขยายการให้บริการดังกล่าวเป็นส่วน หนึ่งของนโยบายของเฟดเอ็กซ์ที่มุ่งพัฒนาการให้บริการขนส่งระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง สำหรับบริการใหม่ๆ ล่าสุดของเฟดเอ็กซ์ที่เปิดดำเนินการในตลาดเอเชีย-ยุโรป ประกอบด้วยการเปิดให้บริการขนส่งด่วนทางอากาศด้วยเที่ยวบินตรงจากจีนสู่ยุโรปเป็นรายแรก

สำหรับประเทศจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ 12 แห่ง ได้แก่ บัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ก ไซปรัส เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวะเกีย และสโลวีเนีย ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เฟดเอ็กซ์เปิดให้บริการ IPD ใน 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ในจำนวนประเทศคู่ค้า 10 อันดับแรกของสหภาพยุโรป มีประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมอยู่ด้วยถึง 4 ประเทศ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทของภูมิภาคเอเชียที่ทวีความสำคัญต่อเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียสามารถเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และเสริมสร้างลู่ทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น

DHLผนึกสเปเชียล โอลิมปิกส์

ขณะที่ ดีเอชแอล ยักษ์ใหญ่ขนส่งด่วนอากาศอีกค่ายหนึ่ง ก็ประกาศขอเป็นพันธมิตรร่วมระดับโลกกับสเปเชียล โอลิมปิกส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยบริการขนส่งคบเพลิง เพื่อการแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิกส์ เวิลด์ ฤดูร้อน (2007 Special Olympics World Summer Games) ที่จะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และการแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิกส์ เวิลด์ ฤดูหนาว (2009 Special Olypics World Winter Games) ที่จะจัดขึ้นในเมืองบอยซ์ รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา

การร่วมมือสเปเชียล โอลิมปิกส์ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของ DHL ว่ากันว่าอานิสงค์ครั้งนี้จะช่วยสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเพราะทุกขั้นตอนของการให้บริการจะใช้เครือข่ายฮับและเกตเวย์ของดีเอชแอล ที่มีอยู่ในการเคลื่อนย้าย “เปลวไฟแห่งความหวัง” ข้ามผ่านเมืองต่างๆ โดยใช้ทั้งเครื่องบินขนสินค้า และพาหนะของดีเอชแอล รวมทั้งเรือ ไปยังบริเวณที่จัดงานพิธีในเมืองเจ้าบ้านในแต่ละเมือง ซึ่งใช้เวลาการวิ่งคบเพลิงรอบโลกกว่า 3 เดือนเต็ม

ขณะเดียวกัน คบเพลิงดังกล่าวยังสามารถตรวจสอบสถานะการขนส่งได้เหมือนเช่นสินค้าอื่นๆ ที่ส่งกับบริษัท ดีเอชแอล ผ่านทางศูนย์ควบคุม การปฏิบัติการของดีเอชแอล และจะได้รับการสแกนในทุกจุดเข้าและออกระหว่างการวิ่ง

“เปลวไฟแห่งความหวัง” (Flame of Hope) ซึ่งปกติแล้วจะได้รับการนำส่งโดยเจ้าหน้าที่ตามข้อบังคับตามกฎหมายและนักกีฬาสเปเชียล โอลิมปิกส์ จะได้รับการขนส่งไปทั่วโลกก่อนจะไปถึงยังพิธีเปิดการแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิกส์ เวิลด์ ฤดูร้อน ปี 2007 ที่ผ่านมา

ล่าสุด“เปลวไฟแห่งความหวัง” ได้ถูกขนส่งด่วนไปถึงยังกรุงลอนดอนโดยดีเอชแอล เพื่อการจัดพิธีจุดคบเพลิงและวิ่งไปรอบๆ เมืองหลวง ซึ่งเป็นการหยุด ณ จุดที่สามของการเดินทางรอบโลก ข้ามผ่าน 5 ทวีป ก่อนจะไปสู่การแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิกส์ เวิลด์ ฤดูร้อน ที่จะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้

หลังการแข่งขันโอลิมปิกส์ เวิลด์ ฤดูร้อนในนครเซี่ยงไฮ้ “เปลวไฟแห่งปี 2007” จะถูกเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานใหญ่ของดีเอชแอล เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิกส์ เวิลด์ ฤดูร้อน 2007 ต่อจากนั้น ในปี พ.ศ. 2552 “เปลวไฟแห่งความหวัง” จะถูกจุดขึ้นอีกครั้ง ณ กรุงเอเธนส์ และเดินทางโดยดีเอช แอล ข้ามโลกไปยังการแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิกส์ ฤดูหนาว ในเมืองไอดาโฮ

ความพยายามของ DHL ที่ต้องการจะเจาะตลาดจีนให้ได้มากที่สุดกำลังถูกจับตามองจากคู่แข่งขัน เพราะการให้ความสำคัญของการเป็นพันธมิตรร่วมกับ สเปเชียล โอลิมปิกส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการใช้สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งเข้ามาเป็นกลยุทธ์ซึ่งค่าย DHL หยิบนำมาใช้นับว่าได้ผลมากทีเดียวทั้งในเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักรวมไปถึงการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย

Emergency Express Service กลยุทธ์ใหม่ TNT

ด้านบริษัท ทีเอ็นที เอ็กซเพรส จำกัดเป็นอีกค่ายหนึ่งของธุรกิจขนส่งด่วนทางอากาศอีกค่ายหนึ่งที่ต้องการทะลายกำแพงทางการตลาดหวังเพื่อจะแย่งชิงพื้นที่ในแถบโซนเอเชียมาครอบครองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเปิดตัวบริการขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วนพิเศษที่สุด (Emergency Express Service) ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถูกหยิบนำมาใช้ในช่วงนี้

สอดคล้องกับที่ผู้บริหาร ทีเอ็นทีระบุว่า เป็นบริการที่ทำให้ผู้ใช้มั่นใจว่าจะสามารถ ส่งสินค้าที่เร่งด่วนไปยังต่างประเทศกับสายการบินเที่ยวถัดไปได้ทันทีเพื่อให้ทันเวลาที่ผู้ใช้บริการกำหนด ด้วยการให้บริการรับ-ส่งตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งการส่งแบบเร่งด่วนนี้ได้เปิดให้บริการแล้วในทุกเมืองสำคัญในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ฮ่องกงและญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันนวัตกรรมการบริการรูปแบบใหม่ดังกล่าวเหมาะ สำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการย่นระยะเวลาในการทำงานและลดค่าใช้จ่ายในการเก็บสินค้าในคลังและสินค้าที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งความต้องการลักษณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่มีราคาแพง รวมถึงตัวอย่างเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเน่าเปื่อยได้ก็เป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่ต้องการการบริการที่รวดเร็วตลอดเวลา โดยการบริการรูปแบบใหม่นี้จะช่วยให้ประหยัดค่าขนส่งได้มากถึง 50%

สำหรับประเทศในเอเชียนั้น ขณะนี้บริการ ขนส่งแบบเร่งด่วนกำลังเป็นที่นิยม และมีการเติบโตมากที่สุดถึงกว่า 100% ในการขนส่งในปี 2549 ที่ผ่านมา และยังมีศักยภาพในการเติบโต ของการขนส่งแบบเร่งด่วนพิเศษ (Emergency Express Service) เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นบริการขนส่งแบบด่วนนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายของทีเอ็นที คือ การก้าวไปเป็นผู้นำอันดับที่หนึ่งในตลาดและให้ บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วในแถบภูมิภาคนี้

ว่ากันว่า...อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฮเทคและธุรกิจการบินเป็นกิจการที่มักต้องใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูง และมักรวมกันอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าใหญ่ ดังนั้นหลายบริษัทจำเป็นต้องพึ่งพาพนักงานของตนเองในการขนส่งสินค้าแบบเร่งด่วนด้วยการซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อโดยสารเครื่องบินเที่ยวถัดไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งเครื่องมือทางการ แพทย์มีมูลค่าสูงและยารักษาที่จำเป็นต้องมีความเร่งด่วนตลอดเวลา

UPS สวนกระแสรุกตลาดจีน

“ยูพีเอส” แม้ว่าจะดำเนินธุรกิจขนส่งด่วนทางการอากาศมากว่า 100 ปีก็ตาม แต่การเจาะตลาดในแถบโซนเอเชียยังนับว่าเป็นรองคู่แข่งขันไม่น้อย แต่เพื่อต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง การใช้กลยุทธ์การบริหาร “สินค้า ข้อมูล และเงินทุน” อย่างประสานสอดคล้องกันจึงเป็นยุทธวิธีที่ถูกหยิบนำมาใช้

ขณะที่ มร.แอนดี้ คอนแนลลี่ รองประธานอาวุโส ประจำเขตตอนใต้ ยูพีเอส เอเชียแปซิฟิก มองว่า ตลาดเอสเอ็มอีในประเทศไทยกำลังกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้และนับเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการสร้างความเติบโตและขยายธุรกิจให้ใหญ่มากขึ้น ดังนั้นการที่จะรุกตลาดไปยังจีนเหมือนหลายๆค่ายที่ทำอยู่ทาง ยูพีเอส กลับสวนกระแสหันมาเน้นตรงจุดนี้ก่อนหวังปูทางให้สร้างฐานการตลาดในประเทศไทยให้แข็งแกร่งเสียก่อนนั่นเอง

ดังนั้นทีมของยูพีเอสและแผนกการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจึงร่วมกันสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้กับธุรกิจไทยประเภทต่างๆ มากยิ่งขึ้น

“ด้วยบริการขนส่งระหว่างประเทศถึงที่หมายภายในเวลาที่กำหนดอันหลากหลายของเรา ทำให้ยูพีเอสเป็นกลไกสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า ข้อมูล และเงินทุน ไปได้ทุกที่ทั่วโลก”มร.แอนดี้ คอนแนลลี่ กล่าว

นอกจากนี้ ยูพีเอสยังมีโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจด้วย อาทิ ยูพีเอส เทรด อะบิลิตี้ (UPS TradeAbilityTM) และควอนตัม วิว แมเนจ (Quantum View? Manage) เป็นต้น ยูพีเอส เทรด อะบิลิตี้ (UPS TradeAbilityTM) จะช่วยให้ผู้ส่งสินค้าไปต่างประเทศสามารถระบุพิกัดอัตราภาษีศุลกากรในแต่ละประเทศ เพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมในการส่งสินค้าล่วงหน้าได้ ในขณะที่ควอนตัม วิว แมเนจ (Quantum View? Manage) เป็นโซลูชั่นที่ช่วยในการติดตามการจัดส่งสินค้าจากต้นทางถึงปลายทางแบบเบ็ดเสร็จ โดยจะแจ้งเตือนข้อมูลการขนส่งให้ลูกค้าทราบโดยอัตโนมัติทันทีที่การขนส่งสินค้ามีการติดขัด และอำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าสามารถจัดการกับชิปเม้นท์หรือสินค้าที่อยู่ภายในประเทศ ในกรณีการขนส่งสินค้ามีความล่าช้าเนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของศุลกากร (เดินพิธีการ)

*******************************************

เส้นทางล่าขุมทรัพย์ใน “จีน”

งบประมาณกว่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐที่จีนจะใช้ในการสร้าง Logistics Hub ขึ้นมา หวังที่จะปลุกปั้นให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งที่เซี่ยงไฮ้ หรือที่อื่นใดก็ตามแต่นั้น ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสิ้นได้ภายในปี 2008 กลายเป็นจุดขายที่ยักษ์ใหญ่คูเรียร์ต่างชาติหลายค่ายธุรกิจกำลังเฝ้าจับตามอง!...

ขณะเดียวกันทางรัฐบาลจีนยังต้องการทีจะสร้าง Logistics Hub ขึ้นภายในประเทศไปพร้อมๆกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ เทียนจิน หรือที่ชานตุง ซึ่งมีถนนหลวงอย่างดีคอยรองรับ แต่เนื่องด้วยการขาดประสบการณ์ในการบริหารศูนย์ขนส่งแบบโลจิสติกส์ ดังนั้นในช่วงระยะแรกนี้ประเทศจีนต้องขอความร่วมมือจากทางญี่ปุ่นเพื่อเข้าไปวางระบบต่างๆไว้ให้ก่อน

ว่ากันว่าในปัจจุบันอัตราการขนส่งด่วนทางอากาศระหว่างประเทศในจีนนั้นมีมูลทางการตลาดประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว และมีอัตราเติบโตประมาณ 30-50% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่สูงมาก จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ค่ายขนส่งด่วนทางอากาศระหว่างประเทศจึงได้สนใจจะเข้าไปทำธุรกิจกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น FedEx, DHL, UPS หรือ TNT แต่เท่าที่ผ่านมาสัดส่วนของมูลค่าตลาดทั้งหมดได้ตกอยู่ในมือของการไปรษณีย์ของจีนเสีย 1 ใน 3 ของตลาดทั้งหมด จึงทำให้ค่ายจากต่างชาติจะมีพื้นที่ทางการตลาดไม่เกินกว่า 70% ของตลาดทั้งหมดเท่านั้น

การแข่งขันระหว่างคู่แข่งที่เข้ามามีอิทธิพลในจีนนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มของการขนส่งด่วนทางอากาศ การเป็นตัวแทนในการนำเข้าสินค้า และธุรกิจโลจิสติกส์ ที่มุ่งจะให้ความสำคัญกับผู้ผลิตจากต่างประเทศและธุรกรรมทางด้านการจัดเลี้ยง โดยผู้ประกอบการในจีนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะเข้าไปแข่งขันอิทธิพลจากต่างประเทศที่จะมีเข้ามาในระยะสั้นเช่นนี้

พร้อมกันนั้นยังพบว่า ปริมาณการขนส่งกว่า 98% ของลูกค้าทั้งหมดซึ่งอยู่ในส่วนของยักษ์ใหญ่ 4 คือ DHL ,FEDEX ,UPS และ TNT ที่เข้ามาประกอบการในจีน และเข้าไปมีส่วนร่วมลงทุนกับบริษัทภายในประเทศของจีนอีกด้วย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากผู้ประกอบการภายในประเทศของจีนนั้น ไม่สามารถเข้าไปแข่งขันกันในเรื่องราคากับผู้ประกอบการขนส่งด่วนทางอากาศจากจีนได้ จนกระทั่งมีการนำเสนอว่าทางการจีนนั้นน่าจะที่จะวางกฎเกณฑ์ในการกำกับบทบาทด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อป้องกันการเข้ามาครองครองตลาดอย่างเต็มที่ของผู้ประกอบการขนส่งด่วนทางอากาศที่จะเข้ามากดดันค่ายระดับกลางและย่อยภายในประเทศ

ขณะเดียวกันศูนย์กลางด้านพยากรณ์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ของจีน มีความเห็นสอดคล้องกันว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เชื่อได้องค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าอย่างชาญฉลาด หรือบรรษัทขนส่งสินค้าทางเรือรายใหญ่ๆของจีน อาจต้องถูกควบรวมกิจการหรือเทคโอเวอร์ในที่สุดเนื่องมาจาก ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบันนั่นเอง

ล่าสุดมีผู้ประกอบการสำคัญรายใหญ่ของจีนซึ่งมีฐานกิจการอยู่ที่กวางโจว และ ปักกิ่ง ก็ให้ความสำคัญกับการควบรวมกิจการเช่นกัน เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญบางรายที่ให้ความเห็นเช่นกันว่า ความตื่นตัวในส่วนของตลาดโลจิสติกส์จะยิ่งตื่นตัวอย่างหนักขึ้น ขณะที่โลจิสติกส์ในประเทศก็มีความต้องการที่จะกระจายความรวดเร็วในการให้บริการออกไปให้กว้างไกลขึ้นเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น