xs
xsm
sm
md
lg

อาหารแช่แข็งจาก Mass สู่ Fragment

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * ตลาดอาหารแช่แข็งหนาวสุดขั้ว ซีพีเอฟ ผุดแบรนด์ใหม่ “สมาร์ท มีล” ลุยเซกเมนต์เพื่อสุขภาพที่สร้างขึ้นใหม่หมาดๆ * พรานทะเล โต้กลับทันควันสนองตลาดเชิงลึก แตกแฟรกเมนต์พรึ่บ จากเมนูมื้อเช้า-กลางวัน-เย็น ซอยย่อยสู่เมนูเด็ก-ผู้ใหญ่, ชาย-หญิง * จับตาต่างจังหวัดบูมไม่แพ้เมืองกรุง ผุดหลากเมนูเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่ กินข้าวกล่องแทนข้าวแกงริมทาง

การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Smart Meal ในตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งของซีพีเอฟ ถือเป็นสเตปที่ 2 ของบริษัทในการก้าวสู่สมรภูมิรบดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้บริษัทเคยผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งภายใต้แบรนด์ ซีพีมีล บีเคมีล และอีซี่โก พร้อมกับการสื่อสารกับผู้บริโภคด้วย Emotional Marketing ในเรื่องรสชาติ โดยเห็นได้จากโฆษณาล่าสุดไก่เทอริยากิที่สื่อสารในเรื่องของรสชาติ หรือตัวอีซี่โกเองก็มีการโคแบรนด์กับผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการทำอาหาร เช่น อีซี่โกบายคุณหรีด เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งไม่เติบโตเท่าที่ควรเพราะผู้บริโภคมีทัศนคติในเชิงลบกับอาหารแช่แข็ง เช่น ไม่สด ไม่อร่อย ขาดคุณค่าทางโภชนาการ

ทว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยจะเน้นไปที่รสชาติความอร่อยมากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าสินค้านั้นจะมีจุดดีในด้านใดก็ตามแต่ถ้าเป็นของเข้าปากแล้วจะต้องชูเรื่องรสชาติมาก่อน จากนั้นจึงเสริมด้วยจุดแข็งอื่นๆในภายหลัง เช่นเดียวกับซีพีเอฟที่ผ่านสเตปแรกในการสื่อสารให้ผู้บริโภคยอมรับรสชาติความอร่อยของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง

ซีพีเอฟ งัดฟังก์ชันนอล
ชูสุขภาพ ชิงบัลลังก์แชมป์

สเตป 2 คือการสร้างการยอมรับในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งภายใต้แนวคิด “กินอย่างสมดุล อยู่อย่างสมดุล” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ ธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวไว้ ดังนั้น Smart Meal อาหารกล่องแช่แข็งแบรนด์ใหม่ของซีพีเอฟจึงวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน 1 กล่อง สำหรับ 1 มื้อ โดยตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากเมนูเช่นไม่มีวัตถุกันเสีย ไม่มีผงชูรส ไม่เติมน้ำตาล เน้นกากใยมาก ไขมันต่ำ

“ผลการสำรวจในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนในสังคมเมือง เปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยวิถีชีวิตอันเร่งรีบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะอยู่ในช่วงชะลอตัว ธุรกิจอาหารซึ่งถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ซึ่งนอกจากจะมีความต้องการของตลาดอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกและคุณสมบัติให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของอาหารกล่องแช่แข็งพร้อมทานซึ่งเข้ามามีบทบาทมากในชีวิตประจำวันของเรา และเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะสามารถ ตอบสนองความต้องการของคนเมืองรุ่นใหม่ ที่ไม่ถนัดทำอาหาร เบื่อการออกไปกินอาหารนอกบ้าน ร้านอาหารใกล้บ้านมีอาหารหรือเมนูอาหารตามสั่งไม่มากนัก ในขณะที่อาหารแช่แข็งพร้อมทานช่วยลดเวลาการทำอาหาร ไม่ต้องทำความสะอาดครัว หรือภาชนะบรรจุให้ยุ่งยาก ซึ่งซีพีเอฟ ให้ความสนใจ และพัฒนามาอย่างตลอด โดยเฉพาะตลาดของอาหารกล่องแช่แข็งพร้อมทานเพื่อสุขภาพ Smart Meal จะเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ และยังไม่มีสัดส่วนการตลาดภายในบ้านเรามากนักในปัจจุบัน แต่นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง” สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข กรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าว

เมนู Smart Meal จำหน่ายในราคา 69 บาท ประกอบด้วย ข้าวกล้องแดงแกงเขียวหวานไก่, ข้าวกล้องขาวแกงเหลืองปลาทับทิม, ข้าวกล้องขาวแกงป่าไก่, ข้างกล้องแดงผัดกะเพราไก่, ข้าวกล้องขาวผัดขี้เมาหมู และข้าวกล้องขาวหมูกระเทียม ซึ่งทุกกล่องจะระบุตัวเลขบอกปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดของอาหารในแต่ละกล่องที่รับประทาน ซึ่งถูกควบคุมให้อยู่ในระดับ 300 – 450 กิโลแคลอรี่ต่อกล่อง

นอกจากนี้ยังชูจุดขายด้านสุขภาพที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอาหาร และวิเคราะห์ผลโภชนาการ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลและรับรองโดยองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ซีพีเอฟมั่นใจว่า Smart Meal จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงใจ อีกทั้งสามารถหาซื้อได้สะดวก ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ และ ร้านซีพีเฟรชมาร์ท

ซีพีเอฟ ตั้งเป้ารายได้ปีแรกไว้ที่ 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ 40% และตลาดต่างประเทศอีก 60% ครอบคลุมทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และยุโรป เนื่องจากปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความใส่ใจต่อสุขภาพ และให้ความสำคัญต่อสัดส่วนหรือปริมาณคุณภาพของอาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความสด สะอาด และการผลิตที่ได้มาตรฐาน นอกเหนือจากความสะดวกสบายหรือความอร่อย ดังนั้น Smart Meal จึงให้ความสนใจเข้ารุกตลาดในส่วนนี้อย่างจริงจังพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายใต้แนวความคิด “อาหารเพื่อสุขภาพ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต” อาทิ Smart Diet / Smart Health / Smart Veggie / Smart Soup

ซีพีเอฟใช้งบการตลาดในช่วงแรกไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ในการรุกตลาด Smart Meal โดยมีทั้งการทำ Above the Line และ Below the Line เพื่อสร้างการรับรู้ของผลิตภัณฑ์และกระตุ้นยอดขาย มีการโฆษณา ณ จุดขาย และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อกลางแจ้ง พร้อมกับออกบูธไปตาม โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และ โมเดิร์นเทรดต่างๆ

ทว่าพรานทะเลซึ่งเป็นผู้นำในตลาดโฟรเซนซีฟู้ดมองว่าภาพลักษณ์ของคู่แข่งอย่างซีพีคือจุดเด่นในเรื่องไก่ การจะชูไก่เพื่อสุขภาพหรือหมูเพื่อสุขภาพ ไม่สามารถสร้างจุดขายด้านสุขภาพได้อย่างชัดเจน ดังนั้นซีพีเอฟจึงหาลูกเล่นกับเมนูอื่นๆเพื่อขายความเป็นฟังก์ชันนอลในเรื่องสุขภาพ แต่กระนั้นพรานทะเลก็เชื่อว่าโพสิชันนิ่งในการเป็นอาหารทะเลจะสะท้อนจุดเด่นในเรื่องสุขภาพได้ดีกว่า Smart Meal ของซีพีเอฟ ในขณะที่สุรพล ฟู้ด เคยโปรโมตคำว่าสุรพล ซีฟู้ด แต่ในความเป็นจริงเมนูต่างๆมิได้สอดคล้อง เพราะติ่มซำซึ่งเป็นสินค้าเอกของสุรพลยังคงเป็นไส้หมู มิใช่ติ่มซำซีฟู้ด ทั้งนี้ พรานทะเลมีการปรับสโลแกนก่อนหน้านี้ประมาณ 3 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ในเรื่องสุขภาพจากที่เคยใช้ว่า “ทางเลือกสดใหม่จากทะเล” เปลี่ยนมาเป็น “อาหารทะเลเพื่อสุขภาพ”

อย่างไรก็ดี ซีพีเอฟ มั่นใจว่า Smart Meal จะเป็น แบรนด์ที่แข็งแกร่งในกลุ่มอาหารกล่องแช่แข็งพร้อมทานเพื่อสุขภาพ และสามารถสร้างรายได้จากการเปิดตัวในปีแรกประมาณ 800 ล้านบาทของของตลาดอาหารกล่องแช่แข็งพร้อมทานในประเทศในปี 2551 ซึ่งถือว่าสูงกว่าพรานทะเลที่ทำตลาดในปีแรกได้ 300 ล้านบาท ทว่าในยุคนั้นผู้บริโภคไทยยังไม่ยอมรับอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเท่ากับยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ซีพีเอฟยังตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นผู้นำในด้านอาหารกล่องแช่แข็งพร้อมทานเพื่อสุขภาพทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการตั้งเป้ายอดขายในประเทศปีแรก

ถ้าทำสำเร็จ ต้องเรียกได้ว่าเขย่าบัลลังก์พรานทะเลมิใช่น้อย เพราะพรานทะเลตั้งเป้ายอดขายปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 5 ไว้ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ายอดขายในประเทศที่ซีพีเอฟตั้งเป้าปีแรกไว้เล็กน้อย ในขณะที่ปีหน้าซีพีเอฟตั้งเป้าเติบโตไว้สูงถึง 50% นั่นหมายถึงยอดขาย 1,200 ล้านบาทในปีหน้า ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากอาหารแช่แข็งแบรนด์อื่นๆที่ซีพีเอฟผลิต จึงถือได้ว่าเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

พรานทะเล แตกแฟรกเมนต์
ขยายฐาน เพิ่มความถี่ในการบริโภค

ส่งผลให้พรานทะเลต้องเร่งสปีดในการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เนื่องจากตลาดโฟรเซนซีฟู้ดที่พรานทะเลเป็นผู้นำนั้นเป็นตลาดที่เล็ก มีมูลค่าเพียง 400 กว่าล้านบาทสำหรับอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง และ 3,000 ล้านบาทสำหรับอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมรับประทาน ดังนั้นพรานทะเลจึงต้องขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่น การทำร้านซูชิเพื่อรองรับตลาดคนญี่ปุ่นในเมืองไทยซึ่งมีมากถึง 40,000 คนในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีการทำโบรชัวร์เป็นภาษาญี่ปุ่น พร้อมกับบริการดิลิเวอรี่ให้ลูกค้าในย่านสุขุมวิทซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยมาก

นอกจากนี้ก็ยังมีการทำตลาดแบรนด์ “พรานไพร” เพื่อขยายฐานลูกค้าที่ไม่ชอบอาหารทะเล โดยข้าวกล่องพรานไพรจะเป็นเมนูประเภท หมู ไก่ เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูน้ำแดง ข้าวขาหมู ข้าวไข่พะโล้ ข้าวหมกไก่ ข้าวแกงกะหรี่ไก่ ข้าวซี่โครงหมูอบ ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ และมักกะโรนีซอสมะเขือเทศไก่อบ โดยจำหน่ายในราคากล่องละ 49 บาท

“อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานก็เหมือนกับร้านข้าวแกงที่ผู้บริโภคไม่มีแบรนด์ลอยัลตี้มากนัก แต่ผู้บริโภคจะดูว่าร้านไหนมีเมนูให้เลือกมากกว่ากัน อาหารแช่แข็งก็เช่นกันต้องมีเมนูให้ผู้บริโภคเลือกมาก ถ้าไม่มีเมนูใหม่ๆดึงดูดให้เขาลอง เขาก็ไปหาแบรนด์อื่น” อนุรัตน์ กล่าว

ดังนั้นจึงมีการทำแฟรกเมนเตชั่นด้วยการลอนช์เมนูใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเชิงลึก โดยก่อนหน้านี้พรานทะเลมีการลอนช์อาหารแช่แข็งตามมื้อต่างๆ เช่น มื้อเช้าประกอบด้วย ข้าวต้มซีฟู้ด ราคา 26-29 บาท ข้าวต้มโกลด์ทะเล 59 บาท โจ๊กทะเล 39 บาท มื้อกลางวันประกอบด้วยเมนูอาหารภาคต่างๆกล่องละ 32 บาท เมนูรสจัดจ้าน 49 บาท ส่วนมื้อเย็นจำหน่ายเป็นชุดกับข้าว 2 อย่างราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท

ทว่าจากนี้ไปจะมีการซอยย่อยเมนูดังกล่าวเป็นเมนูมื้อเช้า กลางวัน เย็น สำหรับ เด็ก สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับผู้ชาย หรือสำหรับผู้หญิง เนื่องจากผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการและความชอบที่แตกต่างกัน โดยก่อนหน้านี้ สุรพล ฟู้ดส์ ก็มีการลอนช์ สุรพล ฟอร์ คิดส์ หรือเมนูสำหรับเด็ก

ในขณะที่ Smart Meal ที่ชูเรื่องสุขภาพก็มีการแตกแฟรกเมนต์เป็นเมนูอาหารกลุ่มต่างๆ เช่น Smart Diet, Smart Health, Smart Veggie และ Smart Soup ซึ่งแต่ละกลุ่มตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป

นอกจากนี้การแฟรกเมนเตชั่นยังเป็นการเพิ่มความถี่ในการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เนื่องจากในอดีตอาหารประเภทนี้ถูกมองเป็นมื้อสำรอง หรือเป็นอาหารที่ผู้บริโภคคิดถึงเมื่อหาร้านอาหารไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงค่ำหลังเลิกงานดึกๆ ซึ่งทำให้อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเป็นสินค้าที่ไกลตัว ดังนั้นจึงมีการผลิตเป็นเมนูประจำวันเหมาะสมกับมื้อต่างๆ เหมาะกับเพศและวัยต่างๆมากขึ้น เพื่อให้อาหารแช่แข็งเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภค

ชีลฟู้ด สร้างภาพลักษณ์สดใหม่

การเคลื่อนตัวของยักษ์ใหญ่แห่งวงการอาหารอย่งซีพีเอฟเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งได้เป็นอย่างดี ทว่ารูปแบบการแข่งขันในตลาดมิได้เป็นไปตามสเตปที่ซีพีเอฟเดิน

หากจำกันได้ประมาณ 4-5 ปีที่แล้วที่พรานทะเลเบนเข็มจากผู้ผลิตอาหารแช่แข็งเพื่อการส่งออกมา หันมาสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อรุกตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งในประเทศ พร้อมกับการทุ่มงบการตลาดกว่า 120 ล้านบาท โดยมีโฆษณาออกมาหลายชุด โดยเฉพาะโฆษณาชุดปลาเก๋าที่สามารถสร้างการรับรู้และจดจำให้กับผู้บริโภคได้อย่างดี ซึ่งมีการสื่อสารในเรื่องของความสด ความอร่อย ควบคู่ไปกับคุณค่าทางโภชนาการพร้อมๆกัน

ทว่าสเตปแรกของพรานทะเลคือการลอนช์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมปรุง หรือ Ready to Cook เพื่อจับตลาดครอบครัว พ่อบ้าน แม่บ้าน ยุคใหม่วัย 25 ปีไปถึง 60 ปี ที่ต้องทำงานนอกบ้านด้วย แต่อยากโชว์ฝีมือในการเข้าครัว แต่ก็ไม่อยากยุ่งยากกับการขอดเกล็ดปลา แร่เนื้อปลา หรือแกะเปลือกกุ้ง จากนั้นพรานทะเลก็ก้าวสู่สเตป 2 ด้วยการลอนช์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทาน หรือ Ready to Eat ซึ่งมีการออกเมนูรสชาติใหม่ๆเพื่อตอบสนองผู้บริโภควัย 25-40 ปี ที่ต้องการความรวดเร็ว ไม่พิถีพิถันกับมื้ออาหารมากนัก

ในฐานะผู้จุดกระแสในตลาดทำให้หลายค่ายนำมาศึกษาเป็นโมเดลในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งพรานทะเลภายใต้การกุมบังเหียนของ อนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง พยายามล้างทัศนคติที่ไม่ดีต่ออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง

“อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่ามีความสด ครบคุณค่าโภชนาการ แต่กระบวนการต้องดีด้วย ของจากทะเลขึ้นสู่เรือก็มีการแช่แข็งที่-20 องศาเซลเซียส และเมื่อนำมาละลายเข้าสู่กระบวนการปรุงแต่ง เสร็จแล้วก็แช่แข็งที่อุณหภูมิ-20 องศาฯ เมื่อไปถึงมือลูกค้าก็ยังคงความสดมากกว่าของสดในตลาดที่หลายครั้งน้ำแข็งกลบไปไม่ถึงด้านบน ทำให้อาหารขาดความสด สิ่งเหล่านี้ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และเราเองก็เห็นโอกาสในการทำตลาดในเมืองไทย” อนุรัตน์ กล่าว

สเตป 2 ของตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทานนอกจาจะมีอาหารแช่แข็งแล้ว มีเซกเมนต์ใหม่เกิดขึ้นคือ ชีลฟู้ด Chill Food หรืออาหารสำเร็จรูปแช่เย็นซึ่งมีความสดกว่าอาหารแช่แข็งเนื่องจากเก็บได้ 4-5 วัน ขณะที่อาหารแช่แข็งเก็บได้นาน 2 ปี และอาหารแช่เย็นเก็บไว้ที่อุณหภูมิเพียง 5 องศาเซลเซียส ทำให้หน้าตาของอาหารน่ารับประทานกว่าอาหารแช่แข็งที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งเพราะต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส อีกทั้งอาหารแช่เย็นยังใช้เวลาน้อยกว่าอาหารแช่แข็งในการอบด้วยไมโครเวฟ โดยอาหารแช่เย็นใช้เวลาเพียง 1-2 นาที ในขณะที่อาหารแช่แข็งต้องใช้เวลา 4-5 นาที

พรานทะเลพยายามผลักดันให้อาหารกล่องเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีการผุดร้าน พรานทะเล ฟาสต์ ซีฟู้ด เพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสรสชาติความอร่อยและความสดของอาหารแช่แข็งจนเกิดความคุ้นเคย ตลอดจนการเปิดร้านพรานทะเลตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 22 แห่ง รถไฟฟ้าใต้ดิน 3 แห่ง สถานีรถไฟหัวลำโพง และตามฟู้ด คอร์ท ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยนำอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นมาปรุงจำหน่ายเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังมีจำหน่ายในคอนวีเนียนสโตร์ และไฮเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์มาร์เกต

นอกจากนี้ชีลฟู้ดยังได้รับความสนใจจากเทสโก้ โลตัส จึงมีการว่าจ้างพรานทะเลผลิตข้าวกล่องแช่เย็นภายใต้ชื่อ เรดี้ มีล ให้กับเทสโก้ โลตัส พร้อมกับการใช้พรีเซ็นเตอร์คือ โอ๋-ภัคจีรา วรรณสุทธิ์ เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว และเป็นอีกแรงหนึ่งในการผลักดันให้ตลาดข้าวกล่องมีการเติบโตเนื่อง

“ที่ประเทศอังกฤษตลาดอาหารแช่แข็งกับตลาดอาหารแช่เย็นมีขนาดตลาดพอๆกัน การที่พรานทะเลไม่ได้เน้นไปที่อาหารแช่เย็นพร้อมๆกับการทำตลาดอาหารแช่แข็งเนื่องจากเราบุกตลาดอาหารแช่แข็งซึ่งยังอยู่ในยุคเริ่มต้น เราจึงต้องทุ่มเทให้กับตรงนั้นมากกว่า เมื่อโลตัสให้เราผลิตให้เราก็ไม่แข่งกับโลตัส ส่วนการที่โลตัสเลือกที่จะเข้าสู่ตลาดอาหารแช่เย็นก็เนื่องมากจากต้องการสร้างความแตกต่างเพราะในตลาดข้าวกล่องแช่เย็นยังไม่ค่อยมีผู้เล่นมากนัก ถ้าโลตัสทำสำเร็จ สามารถสร้างตลาดให้โตเท่าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เท่ากับว่าตลาดอาหารแช่เย็นเป็นของโลตัสเกือบหมด” อนุรัตน์ กล่าว

ต่างจังหวัดบูมไม่แพ้เมืองกรุง
ข้าวกล่องแทนข้าวแกง


“ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก เราสำรวจตลาดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีคนรู้จักอาหารแช่แข็งเพียง 5% วันนี้ผู้บริโภคกว่า 50% ที่รู้จัก และทดลองบริโภคอาหารแช่แข็ง ตู้แช่ที่เคยมีแต่ติมซำ ซาลาเปา ไอศกรีม วันนี้มีข้าวกล่องแช่แข็งให้ผู้บริโภคได้ซื้อหามากขึ้น ไม่เว้นแม่ตลาดต่างจังหวัดที่ผู้บริโภครู้จักโดยเราไม่ต้องมาอธิบายว่าดีอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากตอนเรารุกตลาดในปีแรกมีการโหมโฆษณาสร้างการรับรู้ และลูกค้าก็จดจำเราได้จากโฆษณาชุดปลาเก๋า โฆษณาไปถึง สินค้าไปถึง ทำให้เขาบริโภคสินค้าไม่ต่างจากคนกรุงเทพฯ” อนุรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้สัดส่วนยอดขายพรานทะเลในต่างจังหวัดมากพอๆกับกรุงเทพฯ จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้โครงสร้างตลาดมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เคยซื้อของสดตามตลาดเปลี่ยนมาสู่การซื้ออาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมปรุง โดยวัยของลูกค้าเริ่มลดลงจากคนมีครอบครัวมาสู่คนรุ่นใหม่ที่ซื้อไปใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในขณะที่อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานถูกสำรองในตู้เย็นเพื่อที่จะหยิบออกมาบริโภคได้ตลอดเวลา

นับแต่วันที่พรานทะเลเปิดตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทาน ซึ่งในยุคนั้นมีเพียงค่ายสุรพลฟู้ด กับ เอสแอนด์พี เท่านั้น แต่วันนี้มีแบรนด์ต่างๆกระโดดเข้าสู่สมรภูมิแช่แข็งมากมายไม่ว่าจะเป็น ค่าย PFP ที่ผันตัวจากผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งโดยมีการแตกแบรนด์ “ทัพพี” สำหรับข้าวกล่องแช่แข็ง ส่วนแบรนด์ PFP จะเป็นอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง ค่ายไอ-อิ่มที่รุกตลาดเมื่อ 3 ปีที่แล้วด้วยกลยุทธ์ราคาช่วงแนะนำ 19 บาท จากปรกติ 25 บาท ทำให้ตลาดอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานมีการขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากในอดีตอาหารแช่แข็งจะมีราคาเริ่มต้นที่ 49 บาท ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจับต้องได้ยาก และยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ให้ความสนใจกับตลาดดังกล่าวมากขึ้น

ทว่าวันนี้ตลาดที่ถูกขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มแมส กำลังพลิกโฉมไปสู่การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ด้วยเมนูที่ถูกพัฒนาในเชิงลึกเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น