xs
xsm
sm
md
lg

เจาะ 5 บิ๊กวงการวิทยุฝ่าวิกฤติคลื่นหลุด ตลาดซบ รบไม่แฟร์ แชร์เรตติ้งวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * เจาะ 5 บิ๊กวงการวิทยุไทย อสมท สกาย-ไฮ เวอร์จิ้นฯ คลิคฯ เอไทม์ฯ * ฝ่าวิกฤติรุมเร้า ทั้งมูลค่าการใช้สื่อวิทยุติดลบ คลื่นหลุดไม่รู้ตัว คู่แข่งตัวเอ้ ทำตัวไม่แฟร์ แต่ก็ต้องรักษาแชร์ตนเองไว้ให้ได้ * คาดการณ์ปีหน้าตลาดยังทรงตัว พับแผนขยายคลื่น รอ กสช. ล้างไพ่แจกคลื่นใหม่

ใครจะคิดว่าสถานการณ์ความรุนแรงของสื่อวิทยุที่เคยแข่งขันกันอย่างรุนแรงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่แต่ละค่าย แต่ละคลื่นระดมกลยุทธในการดึงดูดคนฟัง ทั้งการเสนอเงินค่าสัมปทานราคาสูงให้กับคลื่นเด่น ๆ แย่งชิงกันจนรายเล็ก รายน้อย ต้องระเหเรร่อน จนถึงการจัดโปรโมชั่นแจกบ้าน แจกรถ พาเที่ยวรอบโลก หวังชิงเรตติ้งผู้ฟังให้ล็อคคลื่นของตนอยู่บนหน้าปัทม์วิทยุ มาจนถึงปีก่อนสงครามวิทยุก็สงบลงพร้อมความเจ็บปวดของค่ายใหญ่น้อย บางรายติดหนี้ค่าเช่าสถานีบานเบอะ และอีกหลายรายที่ต้องคืนคลื่นกลับไปให้เจ้าของสัมปทาน ยุติการแข่งขันอันรุนแรงของธุรกิจวิทยุไป จนเหมือนกับว่าภูเขาไฟลูกนี้สงบลงแล้ว แต่ยังไม่ทันผ่านปี ภูเขาไฟของสื่อวิทยุเริ่มกลับมาปะทุอีกครั้ง เมื่อผู้ผลิตรายการยักษ์ใหญ่ สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค ในเครืออาร์เอส ต้องมีอันเสียคลื่นที่มีอยู่ถึง 2 ใน 3 คลื่นไปแบบไม่ทันตั้งตัว ตลาดวิทยุที่มีส่วนแบ่งอยู่ 6 พันล้านบาทต่อปี แนวโน้มโตมองไม่เห็น แต่แนวโน้มทรุดเตรียมรอรับวัดฝีมือ 5 ค่ายยักษ์ที่จะฝ่าออกไป

คลื่นหลุด แต่สปอนเซอร์ไม่หลุด
สกาย - ไฮ ฯ มั่นใจไม่สะดุด


บททดสอบเจ็บแสบที่ไม่เพียงแต่คนในสกาย-ไฮ เน็ทเวิร์คจะคาดไม่ถึง แม้แต่คนในวงการวิทยุด้วยกันยังรู้สึกเสียวสันหลัง ที่รายการวิทยุที่ทำกันมาอยู่ดี ๆ มีอันจรลีหายไปโดยไม่ทันตั้งตัว นโยบายหนึ่งบริษัทรับหนึ่งคลื่นของกรมสื่อสารทหารเรือ ทำให้สกาย-ไฮฯ เลือกที่จะเก็บคลื่นคูล 93.0 ฟาเรนไฮต์ มีฐานผู้ฟังมากเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มใหญ่ของวิทยุ อีซี่ลิซซึ่นนิ่ง เอาไว้ ส่วนอีกสองคลื่นที่เหลือนั้นได้ทำการเจรจากับคลื่นบนหน้าปัดวิทยุคลื่นอื่น ๆ และได้ข้อสรุปไปแล้วหนึ่งคือ แมกซ์ ย้ายมาอยู่ 94.5 ในขณะที่ 106 ไลฟ์ พลัส ที่จะหมดสัญญาในเดือนพฤษจิกายนนี้ คงรอความหวังอยู่ที่คลื่น 99.5 ที่เจ้าของสัมปทานหายใจรวยริน ธุรกิจย่ำแย่อยู่ในเวลานี้

คมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมชาติของสัมปทานวิทยุที่จะมีการปรับเปลี่ยน แม้ในกรณีที่เกิดขึ้นกับสกาย-ไฮ ถือเป็นครั้งแรกก็ตาม อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียมแผนรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยในเบื้องต้นใช้งบประมาณ 2 ล้านบาทในการประชาสัมพันธ์ให้แก่กลุ่มผู้ฟังได้รับทราบ นอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อสร้างรอยัลตี้ในคลื่นใหม่ โดยจะมีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายอีก 3- 4 กิจกรรม

" สัมปทานวิทยุที่หลุดไป 2 คลื่นไม่มีผลกระทบใดใดต่อการดำเนินงาน อาจจะมีเล็กน้อยในแง่ของการวิ่งหาคลื่นใหม่ แต่เมื่อหาคลื่นใหม่ได้แล้วเหล่าสปอนเซอร์ก็ยังคงยังคงสนับสนุนรายการอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกหนึ่งคลื่นที่กำลังเจรจาอยู่ก็คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบใดในแง่ของการสนับสนุนเช่นเดียวกัน"

ปัจจุบันผลการดำเนินงาน 9 เดือนพบว่า คลื่นแมกซ์ และ คลื่น106 ไลฟ์ พลัส มีรายได้ประมาณ 60% จากที่ตั้งเป้าไว้คลื่นละ 100 ล้านบาท ในขณะที่คูล 93.0 ฟาเรนไฮต์ มีรายได้กว่า 210 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ 250 ล้านบาท ส่วนเป้ารายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 450 ล้านบาท หรือเติบโต 20 %

คมสันกล่าวถึงแผนงานในการพัฒนารูปแบบรายการ ภายหลังจากที่ย้ายคลื่นใหม่ของคลื่นแมกซ์ คือการปรับโพสิชั่นของคลื่นแมกซ์ 94.5 ที่จะเปลี่ยนรูปแบบให้เป็น " วิชวล เรดิโอ " โดยผู้ฟังและ ดีเจ จะสามารถฟังเพลงพร้อมกับการแชต,ขอเพลง, ดูภาพสไลด์ของศิลปิน, เล่นเกมและ สามารถดาว์นโหลดคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งผู้ฟังที่ร่วมสนุกกับรูปแบบใหม่ของแมกซ์ 94.5 สามารถสะสมคะแนนที่ได้จากการเล่นเกมหรือดาวน์โหลดมาแลกของขวัญของรางวัลได้

ในขณะที่คลื่น 106 ไลฟ์ พลัส ที่แม้จะต้องหาคลื่นใหม่ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นก็จะไม่ทำการปรับเปลี่ยนใดใด เนื่องจากเพิ่งทำการเปลี่ยนโพสิชั่น จาก ลาเต้ เป็น ไลฟ์ พลัส ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยรูปแบบของไลฟ์ พลัส จะมุ่งนำเสนอข้อมูลที่มีสาระผ่านผู้มีความรู้ที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆอาทิ กีฬา, บันเทิง, สุขภาพ มาบอกเล่าให้ฟัง โดยรายการมุ่งหวังว่าเนื้อหาสาระทั้งหมดจะทำให้ผู้ฟังมีชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนอีกหนึ่งคลื่นที่ยังคงอยู่บนเลขหน้าปัดวิทยุเดิม คูล 93 ฟาเรนไฮต์ ที่คมสันยังคงยืนยันว่าเป็นคลื่นอันดับ 1 ในกลุ่มอีซี่ลิสซึ่นนิ่ง จะยังดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดเพลงในสไตล์อีซี่ลิสซึ่นนิ่ง ผสมผสานไปกับการจัดกิจกรรมที่แปลกใหม่ให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วม และมีการตั้ง คูล แอมบาสเดอร์ ที่จะนำผู้มีชื่อเสียง เช่น ไหม วิสา สารสาส มาร่วมให้ประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหวต่างๆของคลื่นให้ผู้ฟังได้รับทราบ

นอกจากนั้นแล้วในปีหน้าจะทำการตอกย้ำความเป็นผู้นำของกลุ่มอีซี่ลิซซึ่นนิ่ง ด้วยการเพิ่มกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR)มากขึ้น โดยจะเน้นหนักในเรื่องกระแสความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์์ของกลุ่มผู้ฟัง

ถือเป็นการตั้งเกมรุกอย่างทันควันของค่ายสกาย-ไฮ ที่แม้จะโดนฟ้าผ่าสองเด้ง แต่ก็ยังรักษาฟอร์มด้วยการเปิดเกมรุกเดินไปข้างหน้า ซึ่งหัวเรือใหญ่สกาย-ไฮ คมสัน เชษฐโชติศักดิ์ ตั้งความหวังว่า ภายหลังการปรับเปลี่ยนคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นในปีนี้เสร็จสิ้น แนวทางการดำเนินงานการตามกลยุทธ์แก้เกมที่วางไว้ จะส่งผลให้ผลการ ดำเนินงานในปีหน้า สามารถเติบโตต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นแมกซ์ 94.5 และ 106 ไลฟ์ พลัส จะสามารถก้าวขึ้นสู่คลื่นอันดับหนึ่งในกลุ่มของตน เช่นเดียว 93 คูล เอฟเอ็ม ที่เป็นผู้นำในกลุ่มอีซี่ลิซซึนนิ่งอยู่ในเวลานี้

คมสันต์ยังกล่าวถึงการแข่งขันของธุรกิจวิทยุในปัจจุบันว่า ค่อนข้างดุเดือด โดยเฉพาะแคมเปญทางการตลาดที่แต่ละคลื่นปล่อยออกมา อาทิ การแจกรถ แจกบ้าน ซึ่งสกาย-ไฮ ได้มีการวางแผนการตลาดด้วยการนำเอาคอนเทนต์ที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยคาดว่าในปีหน้าจะต้องใช้งบประมาณทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากมีค่าสัมปทานใหม่ที่เกิดขึ้น

"การแข่งขันของรายการวิทยุในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การเปิดเพลงเท่านั้น เพราะความสะดวกสบายของเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยเรื่องนี้มาก ทำให้การเปิดเพลงแต่ละคลื่นจะมีแพลทฟอร์มเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องนำมาแข่งกันกันนอกเหนือจากการเปิดเพลง คือ การนำเสนอไอเดียต่างๆของครีเอทีฟ แต่ละคลื่นจะมีแนวคิดที่แปลก
แหวกแนว และเป็นที่สนใจจากผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน "

5 ปีวิบากของเวอร์จิ้น
"เชษฐ์" ขอพา 3 คลื่นรอดให้ได้

หากจะมองหาเจ้าของคลื่นวิทยุที่ได้รับการยอมรับว่า "มือเติบ" ที่สุดในวงการ เป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่เวอร์จิ้น บีอีซี-เทโร เรดิโอ(ประเทศไทย) เจ้าตำรับแจกบ้าน แจกรถ แจกคอนโดฯ อันลือลั่นเมื่อหลายปีก่อน แต่วันนี้ เชษฐ์ มังคโลดม กรรมการผู้จัดการ ประกาศชัดว่าปีนี้ถึงคราวรายได้ถดถอย เป้าหมายรายได้ที่เคยตั้งไว้ 500 ล้านบาท จะพลาดต่ำกว่าเป้าไปประมาณ 6%

"ผมเชื่อว่าทุกคนตกหมด คนอื่นไม่ยอมรับกลัวภาพเสีย ปีนี้ทรุดทุกอุตสาหกรรม จะตกมากตกน้อยเท่านั้น นอกเหนือจากสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอีกเยอะ อาทิ กฏเกณฑ์ที่มากขึ้น เช่นเรื่องเหล้า เบียร์ ที่เคยมีเงินหมุนเวียนอยู่เยอะมาก ตัวเงินที่จะวิ่งเข้ามาหาสื่อถูกจำกัด วิทยุโดนหนักที่สุด เบียร์ เหล้าหายหมดเลย ขณะที่ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ยังพอมีเหล้าเบียร์โฆษณาอยู่

เชษฐ์ กล่าวถึงเป้าหมายของเวอร์จิ้นฯ ว่า จะทำให้ 3 คลื่นที่มีอยู่อยู่รอดให้ได้ แต่คงไม่สามารถเติมคลื่นที่ 4 ได้ในเวลา เพราะคงยากที่จะประสบความสำเร็จแม้แค่ให้คุ้มทุน โดย 3 คลื่นในปัจจุบันที่ประกอบด้วย 95.5 เวอร์จิ้น ฮิตซ์ 103 เวอร์จิ้น ซอฟท์ และ 105.5 อีซี่ เอฟ.เอ็ม. สิ้นปีคงทำได้เสมอตัวจากปีก่อน อย่างไรก็ตามทุกคลื่นยังคงต้องเน้นจัดกิจกรรมต่อไป แต่จะต้องมองอย่างทะลุถึงกลุ่มเป้าหมาย จะทำแบบหว่านแหคงไม่ได้ ทุกวันนี้สื่อวิทยุต้องทำหน้าที่ตอบโจทย์ผู้ฟังในทุกด้าน หลายคลื่นเปิดเพลงตอบโจทย์คนฟังได้จริงหรือไม่ถึงได้ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อสร้างตัวสินค้าขึ้นมาเพื่อวิ่งเข้าหาคนกลุ่มใด ต้องรู้จักพฤติกรรมของคนกลุ่มนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ ต้องสามารถตอบโจทย์ได้ทุกจุด ตั้งแต่การสร้างตัวสินค้า หรือรายการ การวางรูปแบบรายการ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการตลาด งานขาย ต้องวิ่งเข้าสู่จุดเดียวกันทั้งหมด หากปล่อยให้วิ่งไปคนละทิศทางท่ามกลางการแข่งขันที่มีอยู่สูงเช่นนี้ คนฟังก็จะหันไปหาคลื่นอื่นที่ชัดเจนมากกว่า

เชษฐ์กล่าวว่า วันนี้เวอร์จิ้นฯ สามารถสร้างกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกรูปแบบ ไม่เพียงแต่การเปิดเพลง ขายสปอตวิทยุุเท่านั้น หากแต่เป็นบริการที่ครบวงจร หรือ One Stop Service อาทิ หากลูกค้าต้องการอีเวนต์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทีมอีเวนต์ของบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้ หากต้องการกิจกรรมขนาดเล็ก-ใหญ่ ก็สามารถคิดและดำเนินการให้ได้ รวมไปถึงความต้องการในสื่อใหม่ เช่นอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ของเวอร์จิ้นที่ได้รับรางวัลเว็บไซต์วิทยุยอดนิยมอันดับ 1 ก็มีบริการโฆษณบนเว็บ หรือจะสร้างลิงก์ไปหาเว็บไซต์ของลูกค้าก็สามารถดำเนินการให้ได้้

"ตัวเสริมที่เรามีให้กับลูกค้านอกเหนือจากสปอตวิทยุ เรามีกิจกรรมในพื้นที่ทั้งขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่ ต้องการจัดแรลลี่ หรือคอนเสิร์ตขนาดผู้ชม 4-5 พันคน เรามีทีมออกาไนซ์ดำเนินการให้ทั้งหมด หรือต้องการซื้อสื่อ เราทำให้เป็น One Stop Service และทำให้ได้ในราคาที่ถูกกว่าที่จะไปจ้างออกาไนเซอร์อื่นทำ"

แต่แม้จะมีบริการที่ครบวงจรและมีลูกค้ามาใช้บริการอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่เชษฐ์ก็เห็นว่าเป็นเพียงบริการที่เข้ามาสนับสนุนการขายสปอตเท่านั้น เพราะทุกกิจกรรมที่จัดต่างก็มีต้นทุนที่ต้องใช้ รายได้ส่วนที่เป็นกำไรไม่ได้มีมากพอที่จะเป็นรายได้หลักหล่อเลี้ยงบริษัทได้ คงมีเพียงรายได้จากการขายสปอตโฆษณาเท่านั้นที่จะพาให้เวอร์จิ้นผ่านปีต่อปีไปได้

รุมอัด อสมท เอาเปรียบ
ฉุดธุรกิจวิทยุไม่ให้เติบโต


เชษฐ์ ยอมรับว่า การทำธุรกิจวิทยุเป็นงานที่เหนื่อย และยากมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดคู่แข่งรายใหม่ในนาม อสมท เจ้าของสัมปทาน 6 คลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ ที่เรียกคืนสัญญาจากผู้เช่ากลับมาบริหารเอง ถูกมองจากผู้ประกอบการธุรกิจวิทยุว่า เอาเปรียบคู่แข่งในธุรกิจด้วยกัน

เชษฐ์เล่าว่า เมื่อปี 2005 ขณะที่เวอร์จิ้นมีคลื่นวิทยุอยู่ในมือถึง 5 คลื่น 1 ในนั้นคือคลื่นเพลงลูกทุ่งที่เขาเล็งเห็นว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล แต่เมื่อ อสมท นำคลื่นเอฟเอ็ม 95 มาตั้งเป็นคลื่นลูกทุ่ง การดำเนินธุรกิจที่ปราศจากต้นทุนค่าเช่าสถานี ทำให้สามารถกำหนดราคาค่าสปอตวิทยุถูกกว่าผู้ประกอบการรายอื่น เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สุดท้ายสัปทานคลื่นลูกทุ่งของเวอร์จิ้นก็ต้องคืนเจ้าของสัมปทานกลับไป เพราะไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้

"ลูกทุ่งของเราทำให้ตายก็อยู่ไม่ได้ เพราะ อสมท มีคลื่น 95 บีบเพดานราคาอยู่ เขาไม่ยอมปรับราคาให้อยู่บนพื้นฐานการทำธุรกิจ เขาขายราคาถูก ทำไปทำมาผมต้องยอมลดราคาสปอตให้เทียบเท่ากัน เพราะเขาไม่ยอมขยับขึ้นมา ทั้งที่สามารถทำได้ เพราะเรตติ้งดีมาก พื้นฐานคลื่นวิทยุของ อสมท ไม่มีค่าใช้จ่าย เหมือนกับเรากำลังแข่งอยู่กับรัฐ แม้จะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน ผมจึงถือว่านี่ไม่ใช่การแข่งขัน เพราะหาความเท่าเทียมกันไม่ได้ เรามีทีมงาน มีหลักการ และวิธีการที่จะทำให้รายการวิทยุมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมาเจอกับสภาพเช่นนี้ก็ไปไม่ไหว"

เชษฐ์กล่าวว่า หาก อสมท เลิกทำรายการในแบบที่เป็นอยู่นี้ ทุกบริษัทที่ทำธุรกิจวิทยุจะสบาย แต่คงตั้งความหวังเช่นนั้นไม่ได้ คงต้องมุ่งหวังให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงวิทยุและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช.ที่จะตั้งขึ้นเพื่อมาดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์ในอนาคต เข้ามาดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้มีเจ้าของสถานีลงมาทำธุรกิจเองเช่นนี้ เพียงแต่ตนไม่แน่ใจว่า กสช. จะเกิดขึ้นได้เมื่อไร เพราะมีการพูดกันมากว่า 6 ปีแล้วยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ได้เลย

ด้านคมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ กล่าวเห็นพ้องกันว่า จุดด้อยของผู้ผลิตรายการวิทยุในปัจจุบัน คือการเกิดของผู้้ประกอบการสถานีวิทยุที่มีคลื่นเป็นของตนเองอย่าง อสมท จะมีการดำเนินงานที่ได้เปรียบผู้ประกอบการอย่างสกาย-ไฮ, เอไทม์ มีเดีย หรือ เวอร์จิ้นฯ โดยเฉพาะในแง่ของค่าสัมปทาน ค่าโฆษณาต่าง ๆ รวมไปถึงการมีเครือข่ายทั่วประเทศ ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งของ อสมท. ซึ่งคงผู้ผลิตรายการวิทยุรายใดจะสู้ได้ โดยปัจจุบันเมื่อวัดจากเรตติ้งของกลุ่มผู้ฟัง จะพบว่า อันดับ 1 คือลูกทุ่งเอฟเอ็ม 95 ที่มีผู้ฟังสูงสุด ตามมาด้วย ซี้ด 97.5 ที่มีกลุ่มผู้ฟังอยู่ทั่วประเทศ และ คูล 93.0 ฟาเรนไฮต์ ที่สามารถรับฟังได้ในเขตกรุงเทพฯ และรอบนอกเท่านั้น

แม้จะเป็นรองเพียงรัศมีการส่งสัญญาณในระดับประเทศ แต่เมื่อถามความเป็นไปได้ในการขยายกลุ่มผู้ฟังให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คมสันต์ให้ความเห็นว่า การขยายฐานให้กว้างขึ้นยังคงไม่เหมาะในเวลานี้ เพราะค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณอยู่ในอัตราที่สูง และยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่ถือว่าต้นทุนสูงมาก ดังนั้นแผนงานในขณะนี้ของสกาย-ไฮฯ คือการพยายามทำทั้ง 3 คลื่นที่มีอยู่ให้ดีที่สุดเท่านั้น

อสมท ชี้ตลาดหดเพราะขาดไอเดีย
เดินหน้ายึด 53 สถานีภูธร สร้างแบรนด์รอ กสช.


เมื่อต้องกลายเป็นจำเลยของธุรกิจวิทยุ เขมทัตต์ พลเดช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ผู้ผลักดันให้ธุรกิจวิทยุของ อสมท เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ความสำเร็จของวิทยุในเครือ อสมท ทั้งคลื่นลูกทุ่งมหานคร 95.0 และ Seed 97.5 มาจากโมเดลการทำธุรกิจที่ อสมท ใช้ 3 ปัจจัยหลักในการแข่งขัน คือ กลยุทธทางการตลาด ผนวกแนวคิดครีเอทีฟ ซึ่งหมายถึงการสร้างคอนเทนต์ที่ดี และรองรับด้วยการพิจารณาด้านการเงิน ดังนั้นทั้ง 6 คลื่นของ อสมท จึงถูกตั้งเป็น Businees Unit 6 คลื่น 6 BU ที่ต้องดำเนินธุรกิจเหมือนเป็นบริษัท ๆ หนึ่ง ดังนั้นจึงมีการกำหนดต้นทุนของแต่ละคลื่นโดยตั้งฟิกซ์คอสจากค่าเช่าสถานีที่เคยได้เดือนละราว 2 ล้านบาท เป็นต้นทุนเริ่มต้นของแต่ละคลื่น ความสำเร็จของผู้บริหารคลื่นจะต้องทำรายได้ในแต่ละเดือนมากกว่า 2 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลที่อสมท จะตั้งราคาสปอตต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นได้

"ผมยืนยันว่าสปอตวิทยุของ อสมท ไม่ได้ต่ำกว่าคนอื่น แต่อาจเป็นเพราะการที่ อสมท มีนโยบายขายสปอตเป็นเบาท์ใหญ่ เมื่อคำนวณเป็นราคาต่อสปอตอาจดูถูกกว่า สถานีข่าว 100.5 ก็ไม่ได้ถูกกว่าคลื่นข่าว 101 ของคลิคเรดิโอ คลื่น Met 107 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลาง ราคาอยู่ในระดับ 2,000-3,000 บาทใกล้เคียงกับคลื่นของเวอร์จิ้น คลื่นลูกทุ่งมหานคร 95 ก็เช่นกัน Seed FM ช่วงตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม สปอตละ 3 พันกว่าบาท แต่เมื่อยิงสัญญาณเน็ตเวิร์คทั่วประเทศราคาสปอตจะปรับขึ้นเป็น 7,000 บาททันที เราคงไม่ใช่คนที่กดให้มูลค่าตลาดวิทยุลดลงแน่ เพราะหากคิดราคาสปอตไม่สมเหตสมผล ฝ่ายตรวจสอบก็คงต้องถาม เพราะเราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ"

เขมทัตต์กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้ธุรกิจวิทยุไม่มีการเติบโต ประการสำคัญเป็นเพราะเจ้าของสัมปทานไม่ได้ทำหน้าที่บริหารสถานีเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการร่วมกลุ่มที่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจได้ ปัจจุบันมีเพียง อสมท เท่านั้นที่บริหารสถานีเอง ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ และอีกหลายหน่วยงานปล่อยคลื่นให้รายย่อยเช่า ทำตลาดไปคนละทิศทาง สถานีวิทยุที่มีอยู่มากมายทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข็มแข็งได้ ต่างจากสถานีโทรทัศน์ที่มีเพียง 5-6 สถานี นอกจากนั้นอีกปัญหาสำคัญคือ ผู้ผลิตรายการวิทยุในวันนี้ไม่มีพัฒนาการใด ๆ มานำเสนอ

"แต่ละคนไม่มีพัฒนาการอะไรใหม่ ๆ เลย คุณทำกิจกรรมหุ้ม มีแต่ทริปเมืองนอกอย่างเดียว ครีเอทิวิตี้ของโปรแกรมทางวิทยุไม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่กับที่มา 3-4 ปีแล้ว นอกจากนั้น แต่ละค่ายไม่มีการบริหารต้นทุนทางการเงินอย่างจริงจัง เม็ดเงินธุรกิจวิทยุมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับสื่อทีวี และยังเล็กกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ แต่แต่ละรายทำกิจกรรมแต่ละครั้งใช้งบประมาณเป็นล้านบาท กำไรไม่มี เมื่อบริหารรายได้คำนวณเป็นเม็ดเงินต่อนาทีจึงเหลือน้อยมาก ขณะที่ Seed FM หากจะทำกิจกรรมต้นทุนสูง จะตั้งราคาสปอตให้แพงขึ้น ซึ่งก็สามารถขายได้ เพราะลูกค้ามั่นใจว่าสามารถดึงเรตติ้งได้ เราเน้นอีเวนต์ที่สามารถเจาะผู้ฟังที่เป็นฐานของลูกค้ามากกว่าไปเจาะกลุ่มเซเล็บที่ไม่ได้สร้างอะไร ไม่มีประโยชน์"

สำหรับแผนการต่อไปของวิทยุ อสมท เขมทัตต์กล่าวว่า หลังจากปัจจุบันต้องเข้ามาดูและงานด้านการตลาดให้กับโมเดิร์นไนน์ ในปีหน้าจะกลับไปดูแลสื่อวิทยุ อสมท อีกครั้ง จะเริ่มพัฒนาระบบเน็ตเวิร์คโดยปลายปีนี้จะนำคลื่นวิทยุของ อสมท ทั้ง 53 สถานีกลับมาบริหารเองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการรีแบรนด์ ซึ่งแนวทางการทำตลาดจะสร้างสถานีที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแบ่งเป็นคัสเตอร์ เปลี่ยนจากการแข่งขันกันเองมาเป็นการช่วยสนับสนุนกัน นำรายได้จากสถานีในจังหวัดใหญ่ มาช่วยทำให้สถานีในจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กันอยู่ได้

แม้จะดูเหมือนเป็นการพัฒนาธุรกิจวิทยุของ อสมท ในสเต็ปต่อมา หลังจากสร้างคลื่นเอฟ.เอ็ม. 6 สถานีในกรุงเทพฯ ให้แข็งแกร่งได้แล้ว จึงเดินหน้าพัฒนาคลื่นในต่างจังหวัดเป็นลำดับต่อไป แต่จริงแล้วเขมทัตต์ กล่าวว่า นี่คือก้าวเดินในการรองรับการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงฯ และคณะกรรม กสช.ที่คาดว่าจะมีบทบาทเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุทั้งหมดในปีหน้า ถึงเวลานั้น คลื่นทั้ง 59 สถานีของ อสมท จะเป็นคลื่นที่มีแบรนด์ มีคอนเซปต์ และชัดเจนทุกด้าน เพียงพอที่ กสช.จะยอมรับให้ อสมท ดำเนินงานในคลื่นเหล่านี้ต่อไป

"เมื่อ กสช.เข้ามาผมเชื่อว่าจะเกิดการยกเครื่องสถานีวิทยุทั้งหน้าปัด คลื่นส่วนใหญ่ที่ไม่มีแนวทางชัดเจน เอาแต่เปิดเพลงคงต้องปรับตัว ซึ่งวันนี้เห็นมีแต่กรีนเวฟ เพียงคลื่นเดียวที่มีความชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คลื่นอื่น ๆยังไม่มี ดังนั้น อสมท จึงต้องเร่งรีแบรนด์คลื่นวิทยุที่มีอยู่ทั้งหมด ให้มีรูปแบบรายการที่มีแนวทางชัดเจน"

เอไทม์ ชู 4 คลื่นแข็งปั๋ง
มั่นใจความแข็งแกร่ง รักษาคลื่นอยู่รอด


เบอร์ 1 ของวงการวิทยุ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย หรือเอไทม์ มีเดีย ที่ยืนหยัดอยู่ในวงการวิทยุมายาวนานถึง 16 ปี มีคลื่นหลักอยู่บนหน้าปัดวิทยุ 4 คลื่น ประกอบด้วย 89 บานานาเอฟเอ็ม 91.5 ฮอตเวฟ 94 อีเอฟเอ็ม และ 106.5 กรีนเวฟ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ผู้บริหารเอไทม์ฯ กล่าวว่า คลื่นวิทยุแต่ละคลื่นจะอยู่รอดได้หรือไม่ อยู่ที่ความแข็งแกร่งของคลื่น หากสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับคลื่นก็ไม่มีสิ่งที่ใดให้กลัว แม้กระทั่งคู่แข่ง เม็ดเงินในตลาดแม้จะลดลงแต่คงไม่มีทางที่จะเหลือศูนย์บาท อย่างไรคลื่นวิทยุของเอไทม์ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้ฟัง เม็ดเงินของสื่อวิทยุก็ยังคงต้องไหลมาหา สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างตนเองให้มีความแข็งแรง ซึ่งเอไทม์โชคดีที่คลื่นทุกคลื่นแข็งแกร่ง และมีโพซิชั่นนิ่งที่ดี

สายทิพย์ยอมรับว่ารายได้ของเอไทม์ มีเดีย ลดลงบ้างในปีนี้ แต่ก็เป็นการลดลงตามสภาพตลาดโดยรวมมีรายได้้ใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ไม่มีการเติบโต แต่หากไม่ไปเทียบกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็ถือว่าผลงานในปีนี้ยังใช้ได้ ไม่มีคลื่นไหนขาดทุน ไม่มีคลื่นไหนเลิกทำ ก็น่าจะดีแล้วในสภาพปัจจุบัน ส่วนการมองหาคลื่นใหม่ ๆ คงยังไม่คิด ขอบริหาร 4 คลื่นที่มีอยู่โดยทำงานให้หนักขึ้น และดูแลลูกค้าอย่างเข้มข้นตลอดเวลา

คลิค เรดิโอ เซ็งนายหน้าเหลือบเกาะธุรกิจวิทยุ

ยักษ์สุดท้ายบนหน้าปัดวิทยุ คลิค-วีอาร์วัน เรดิโอ ที่ถือคลื่นวิทยุอยู่ในมือ 4 คลื่นหลัก คือ คลื่นข่าว 101 INN News Channel, Get 102.5, FM One 103.5 และ 104.5 Fat Radio วาสนพงศ์ วิชัยยะ กรรมการผู้จัดการ มองปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการวิทยุปัจจุบันว่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา โดยให้เหตุผลว่า วันนี้ธุรกิจวิทยุแม้จะมีการแข่งขันกันดุเดือด แต่ความมั่นคงของสถานีที่แต่ละค่ายได้รับสัมปทานไปยังมีอยู่สูง แม้จะมีบางรายทำไม่ไหวต้องปล่อยคลื่นคืนบ้าง ก็มีรายใหม่เข้ามา ดังนั้นการที่คลื่นของสกาย-ไฮฯ ต้องหลุดไปถึง 2 คลื่นนั้น จึงถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดา แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือไม่น่าเชื่อว่าการติดต่อย้ายคลื่นเข้าสู่ 94.5 ของคลื่น MAX นั้น จะมีการติดต่อผ่านคนกลางที่ทำหน้าที่ประสานงาน กินค่าหัวคิวฟรี ที่น่าจะหมดไปจากวงการแล้ว

"วันนี้คลื่นวิทยุไม่ได้แน่นเหมือนก่อน ไม่มีคนต้องตกคลื่น เพราะคลื่น 94.5 กำลังจะเปลี่ยนมือ แต่แทนที่จะเปลี่ยนแบบธรรมชาติ คนใหม่เดินเข้าไป คนเก่าเดินออกมา กลายเป็นมีคนเข้ามาแทรก เกิดธุรกิจตัวกลางกินเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งเป็นระบบโบราณที่ควรจะหมดไปได้แล้ว แทนที่เวลานี้น่าจะเป็นเรื่องของคนที่ทำธุรกิจวิทยุอย่างแท้จริง กลับมาคนบางคนมาหากินค่าหัวคิวสัมปทาน เหมือนกับคนที่มาเช่าพื้นที่บนมาบุญครอง ดันราคาให้สูงแล้วซอยแบ่งขายให้คนที่ต้องการค้าขายจริง ๆ เช่าต่อ วิทยุเป็นธุรกิจของคนที่ต้องมีจริยธรรม จรรยาบรรณของคนทำสื่อ ยิ่งในเวลานี้บ้านเมืองเราต้องการสิ่งเหล่านี้ แต่คนทำสื่อบางคนกลับมาหากินกับการเป็นคนกลางอย่างน่าเกลียด ทำให้เป็นห่วงสกาย-ไฮฯ ที่ไม่น่าพลาดไปกับกรณีนี้ สัมปทานวันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่กลับไปวิ่งผ่านคนกลางไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในยุคสมัยนี้ ดูไม่คมเหมือนที่เคยเป็น สกาย-ไฮฯ เดินทางที่ไม่ถูก "

วาสนพงศ์กล่าวว่า ผลกระทบจากกรณีของสกาย-ไฮฯ แม้ส่งผลมาคลิคฯบ้างในเรื่องความเชื่อมั่น แต่วันนี้ลูกค้าและเอเยนซี่ก็มั่นใจว่าคลื่นทั้งหมดของบริษัทฯ ยังมั่นคงอยู่ แต่สุดท้ายแล้วกรณีน่าจะส่งผลดีกับบริษัทที่เป็นคู่แข่งทั้ง คลิคฯ เอไทม์ เวอร์จิ้น และ อสมท เพราะวันนี้ยอมรับว่าเรตติ้งของแต่ละค่ายใครเป็นอันดับ 1 คงพูดไม่ได้เต็มปาก สูสีกันมาก เมื่อคู่แข่งมีปัญหา เอเยนซี่ก็คงเทงบประมาณส่วนหนึ่งมาหาคลื่นอื่น

สำหรับตลาดวิทยุในปีนี้ วาสนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มของบริษัทเริ่มดีขึ้น หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาไม่น่าพอใจนัก เมื่อมีการปรับโครงสร้างภายในเพื่อรับกับการแข่งขัน ก็เริ่มเดินหน้าได้ บริษัทสามารถประหยัดต้นทุน ประกอบกับยอดโฆษณาเติบโตขึ้น ในขณะที่คลื่นอื่นอาจต้องเหนื่อยกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่คลิคฯ ถือว่าน่าพอใจ แต่คาดว่าในปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า การเลือกตั้งจะทำให้ตลาดสดใสขึ้น

"ปีหน้าคลิคฯ คงมีโปรโมชั่นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทริปท่องเที่ยวก็ยังคงอยู่ แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของกิจกรรมเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น คลิคฯ ในฐานะที่เคยสร้างเทรนต่าง ๆ มามากมายทั้งเทรนเด็กแนว เทรนฟังเพลงสากล รวมถึงเทรนทางการตลาดใหม่ ๆ สื่อใหม่ ๆ ปีหน้าเราจะสร้างเทรนรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนและสามารถหาสปอนเซอร์ได้ เพราะหากเศรษฐกิจดี สังคมดี ก็เชื่อว่าจะส่งผลมาถึงคลิคฯ ให้เติบโตขึ้น หากบ้านเมืองย่ำแย่ สังคมตกต่ำ เราคงเหนื่อยหนักแน่นอน"
กำลังโหลดความคิดเห็น