xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นทรัล ชนแหลก!เปิดเกมกินรวบกำลังซื้อทุกตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * เซ็นทรัลประกาศแนวรบชนคู่แข่งชิงกำลังซื้อทุกตลาด ค้าปลีกระดับบนลงล่าง ไล่ถึงไลฟ์สไตล์มอลล์ * เซ็นทรัลเวิลด์ ชนพารากอน ชิงตลาดบน, เซ็นทรัล ผนึกโรบินสัน บี้เดอะมอลล์, ปั้นท้อปส์ ประกบโลตัส เอ็กซ์เพรส - เซเว่นอีเลฟเว่น แบ่งแชร์ชุมชน, * ล่าสุดเปิดเกมชิงตลาดไลฟ์สไตล์มอลล์ ดึงธุรกิจในเครือทั้งสเปเชียลตี้ สโตร์ ฟาสต์ฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ต และพันธมิตรทางธุรกิจผุดคอมมูนิตี้ มอลล์ ปะทะเจ้าของไอเดีย สยามฟิวเจอร์ * เผยแผนต่อไปเตรียมข้ามฟากเขย่าบัลลังก์เอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในปีหน้า

ย้อนกลับไป 60 ปีก่อน เมื่อครั้งห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นสาขาแรก นายห้างเตียง จิราธิวัฒน์ คงมีความตั้งใจเพียงการเปิดกิจการจำหน่ายหนังสือ และนิตยสาร เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนกลุ่มเล็ก ๆ ในย่านสุริวงศ์ และใกล้เคียง เป็นเพียงธุรกิจเล็ก ๆ ของหนุ่มชาวจีนที่อพยพหนีสงครามโลกเข้าสู่ผืนแผ่นดินไทยเท่านั้น

แต่ห้างเซ็นทรัลก็เริ่มเติบโตขึ้นเมื่อสัมฤทธิ์ "จิราธิวัฒน์"รุ่นที่ 2 เริ่มเข้ามามีบทบาท ขยับขยายกิจการโดยนำสินค้าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และสินค้านานาประเภท จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย กลายเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่กว้างขึ้น และกระจายสาขาออกไปในย่านการค้าทั่วกรุงเทพฯ ทั้งวังบูรพา ราชประสงค์ สีลม ชิดลม และลาดหญ้า และขยายต่อไปสู่การเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่รวมเอาร้านค้า ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้ามารวมกันที่เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ชื่อเซ็นทรัลจึงกลายเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของเมืองไทยนับตั้งแต่นั้นมา

จวบจนถึงจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 3 กอบชัย และ ทศ จิราธิวัฒน์ ได้ขับเคลื่อนให้กลุ่มเซ็นทรัลก้าวต่อมาในบทบาทขององค์กรที่ผูกติดอยู่กับสังคมเมืองหลวงอย่างแนบแน่น กลุ่มเซ็นทรัลในวันนี้ นอกเหนือจากจะผงาดเป็นผู้นำอยู่ในกลุ่มค้าปลีกระดับกลาง และบน ทั้งห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าแล้ว ผู้บริหารทั้งสองยังมีนโยบายที่จะขยายไปสู่การชิงกำลังซื้อของประชาชนในทุกตลาด ทั้งการเจาะลงไปถึงกลุ่มชุมชนที่วันนี้ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังอย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น ครองตลาดอยู่ รวมถึงแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ อย่างคอมมูนิตี้มอลล์ และเอนเทอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ก็เป็นตลาดที่กลุ่มเซ็นทรัลประกาศรุก

จากร้านค้าเล็ก ๆ ที่มีลูกค้ากลุ่มแคบ ๆ 60 ปีต่อมา เซ็นทรัลกำลังจะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถดึงกำลังซื้อจากทุกช่องทางที่มีอยู่ในตลาดของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เซ็นทรัล สู้ 10 ทิศ

การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีกของเมืองไทยมีรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายส่งผลให้ค้าปลีกที่เป็นห้างสรรพสินค้าหรือดีพาร์ตเมนต์สโตร์ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีมายาวนานต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบสนองกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

เครือเซ็นทรัลถือได้ว่าเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกมายาวนาน ทว่าที่ผ่านมาเซ็นทรัลมักเป็นฝ่ายตั้งรับจากการรุกไล่ของคู่แข่ง นับตั้งแต่มีธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์เกิดขึ้นโดยซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งในระยะแรกไม่มีใครรู้ว่าจะกระทบใครบ้าง ดังนั้นเซ็นทรัลจึงต้องป้องกันด้วยการทำธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์แข่งภายใต้ชื่อเซ็นทรัลมินิมาร์ท แต่ด้วยประสบการณ์และความชำนาญที่ใช้กับห้างใหญ่ไม่สามารถใช้ได้กับร้านสาขาเล็กส่งผลให้เซ็นทรัลมินิมาร์ทต้องปิดตัวลงไป

อีกกรณีคือสงครามค้าปลีกใจกลางเมืองที่เซ็นทรัลมีสาขาชิดลมเป็นตัวสร้างรายได้มายาวนาน ต้องเผชิญคู่แข่งจากค่ายเดอะมอลล์ที่ผุด ดิ เอ็มโพเรียม ซึ่งสามารถดึงดูดลูกค้าใจกลางเมืองตลอดจนชาวต่างชาติ จากนั้นเซ็นทรัลก็พยายามแสวงหาทำเลใจกลางเมืองเพื่อสร้างแม่เหล็กในการดึงดูดคนเข้าศูนย์การค้าเนื่องจากสาขาชิดลมมีพื้นที่เล็กเกินไป จนกระทั่งเซ็นทรัลได้พื้นที่ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จากนั้นมีการปรับโฉมพร้อมกับเปลี่ยนชื่อมาเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ก็เปิดหลัง สยามพารากอน ซึ่งอยู่ติดๆกัน แทนที่จะรุกไล่กลับกลายเป็นการเดินตามหลังคู่แข่งมาตลอด

ปัจจุบันเซ็นทรัลสามารถชิงพื้นที่สถานทูตอังกฤษเพื่อพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอื่นๆแต่ก็ยังมิได้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่อย่างน้อยเซ็นทรัลก็อุ่นใจได้ว่าทำเลทองย่านชิดลมไม่มีพื้นที่ให้คู่แข่งเข้ามาแบ่งเค้กก้อนโตได้

วันนี้เซ็นทรัลมีการปรับทิศทางในการสู้ศึกค้าปลีกอีกรอบด้วยการเป็นฝ่ายรุกไล่คู่แข่งโดยใช้คอนเซ็ปต์ใหม่ในการทำธุรกิจคือการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ และยังมีอีก 2 โมเดลใหม่ที่เซ็นทรัลยังไม่ยอมเปิดเผยจนกว่าจะถึง 3 เดือนข้างหน้า เรียกได้ว่าวันนี้เซ็นทรัลกำลังกินรวบตลาดและมีคู่แข่งรอบด้านตั้งแต่ค้าปลีกไฮเอนด์ใจกลางเมืองที่มีเซ็นทรัลเวิลด์ผนึกกับเซ็นทรัลชิดลมปะทะกับสยามพารากอนและดิ เอ็มโพเรียม ไล่ลงมาถึงดีพาร์ตเมนต์สต์ที่มีเซ็นทรัลและโรบินสันหนีบคู่แข่งอย่างเดอะมอลล์

และลงลึกถึงชุมชนด้วยคอมมูนิตี้มอลล์ที่สามารถแสวงหาพันธมิตรอื่นๆเพื่อสร้างแม่เหล็กในการดึงคนเข้ามาใช้บริการซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักเนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า สยามฟิวเจอร์มีความถนัดในการทำธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ผนวกกับการมีหุ้นส่วนอย่าง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งมีทั้งโรงภาพยตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง และเชนฟาสต์ฟู้ดอย่างแม็คโดนัลด์เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีสเปเชียลตี้สโตร์ในเครืออีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ท็อปส์ B2S โฮมเวิร์ค ออฟฟิศดีโป้ เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต ที่สามารถแทรกซึมไปได้ในทุกที่ทั้งที่เป็นศูนย์การค้าและสแตนอะโลน ส่งผลให้เซ็นทรัลสามารถขยายธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น

ผุดคอมมูนิตี้มอลล์
เจาะช่องว่าง ขยายธุรกิจ


"ทุกส่วนของตลาดมีช่องว่างเสมอ จากเดิมที่เรามีธุรกิจค้าปลีกไม่กี่รูปแบบวันนี้เรามีตั้งแต่ คอนวีเนียนสโตร์ ใหญ่ขึ้นมาก็เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ จากนั้นก็ขยับขึ้นมาเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือซูเปอร์เซ็นเตอร์ และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ วันนี้เรามีคอมมูนิตี้มอลล์ แต่อีก 3 เดือนข้างหน้า เราก็ยังจะมีรูปแบบธุรกิจค้าปลีกใหม่ๆเกิดขึ้นได้อีก" ลิขิต ฟ้าปโยชนม์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าว

Market Park Udomsuk เป็นคอมมูนิตี้มอลล์โครงการแรกของเซ็นทรัล ใช้งบกว่า 150 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4.5 ไร่ ถนนสุขุมวิท 103 หรือ อุดมสุข ในรูปแบบที่เป็น Lifestyle Community Mall เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะรอบนอกหรือตามหมู่บ้านจัดสรรที่ต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายสินค้า โดยไม่ต้องเผชิญการจราจรที่ติดขัดในช่วงเย็นหรือหลังเลิกงาน รวมถึงความไม่สะดวกในการหาที่จอดรถตามห้างใหญ่

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนทำงาน ครอบครัวใหม่ที่มีขนาดเล็ก-กลาง มีรายได้ปานกลาง-สูง ดังนั้นในหลายๆโครงการจะมองย่านที่มีบ้านจัดสรรจำนวนมากเช่นอุดมสุขมีโครงการใหญ่หลายโครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายสอดคล้องกับที่เซ็นทรัลวางไว้ เช่น ลดาวัลย์, ณุศาศิริ, พลัส ซิตี้ พาร์ค

เซ็นทรัลตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ได้ปีละ 3 สาขา โดยมีสเปเชียลตี้สโตร์อย่าง ท็อปส์ และ บีทูเอส เป็นตัวหลักที่จะตามไปด้วย และอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรอื่นๆไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอาหาร ธนาคาร ร้านยา ร้านซักแห้ง ร้านมือถือ ร้านแว่นตา ซาลอน ฯลฯ ในการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งในการทำคอมมูนิตี้มอลล์ของเซ็นทรัลนั้นมองรัศมี 3-5 กิโลเมตร ครอบคลุมครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 20,000 ครัวเรือน หรือมีจำนวนประชากรเกือบ 100,000 คน ในขณะที่ศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าต้องครอบคลุมประชากรกว่า 200,000-300,000 คน ดังนั้นในเรื่องประชากรจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาว่าจะพัฒนาเป็นห้างขนาดใหญ่หรือเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ

เหตุผลในการเข้าสู่ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์นอกจากเพื่อให้การขยายธุรกิจเป็นไปได้ง่ายแล้วยังเป็นการตอบสนองความสะดวกให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ดีแม้จะมีคอนวีเนียนสโตร์ที่อำนวยความสะดวกด้วยบริการใกล้บ้าน ซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในกลุ่มของผู้บริโภคที่เป็น Daily Shopper ก็มีความแตกต่างกันคือตลาดระดับกลางลงล่างจะใช้บริการในคอนวีเนียนสโตร์ ซึ่งโดยมากจะอยู่ตามป้ายรถเมล์ เป็นจุดต่อรถ หรือแวะซื้อก่อนกลับบ้าน ในขณะที่ตลาดระดับกลางขึ้นบนจะแวะซื้อในคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งลูกค้าอาจเดิน, ขี่จักรยานหรือขับรถในรถมาซื้อเนื่องจากมีความคล่องตัวในเรื่องที่จอดรถ หรืออาจจะแวะซื้อในระหว่างการวิ่งออกกำลังกาย

สำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่เหลืออีก 2 โมเดล เชื่อว่าจะมีรูปแบบ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์แบบเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์อยู่ด้วย เนื่องจากความบันเทิงถือเป็นอีก 1 ไลฟ์สไตล์ที่สำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ตลอดจนรูปแบบอื่นๆที่เกื้อหนุนต่อธุรกิจที่มีอยู่ เช่น สปอร์ตคอมเพล็กซ์ซึ่งมาเสริมกับซูเปอร์สปอร์ต ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในสมรภูมิคอมมูนิตี้มอลล์นั้นมิได้มีเพียงสยามฟิวเจอร์เท่านั้น เนื่องจาก Community Mall ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชน โครงการอสังหาจึงเป็นตลาดที่เหมาะสมในการสร้าง Community Mall ทำให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายต่างพัฒนา Community Mall ด้วยตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ เช่น แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ ใช้บริษัทในเครือคือ พรสันติ ในการทำ Community Mall หน้าโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆที่ได้ก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ ในขณะที่ เค.อี.แลนด์ ก็มีการสร้าง Community Mall ภายใต้คอนเซ็ปต์ แฟมิลี่ ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า เดอะ คริสตัล หน้าโครงการ คริสตัล พาร์ค

นอกจากนี้ยังมี โครงการ "เพียว เพลส" ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สัมมากรและระยองเพียวริฟายเออร์ ผู้ดำเนินธุรกิจปั๊มน้ำมันผุด Community Mall ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านสัมมากร รังสิต คลอง 2 บนพื้นที่ 6.73 ไร่ ใช้งบลงทุน 120 ล้านบาท โดยวางคอนเซ็ปต์ที่เน้น "ชีวิตพอเพียง ทันสมัย ใกล้บ้าน" และเป็นศูนย์การค้าประชาคมที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยมีจัสโก้ซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมด้วยร้านอาหาร ธนาคาร และบริการต่างๆ โดยมีปั๊มน้ำมันเพียวเป็นอีกแม่เหล็กหนึ่งในการดึงดูดลูกค้าในย่านดังกล่าว และยังดึงดูดผู้ใช้รถที่แวะเข้ามาเติมน้ำมันได้ใช้บริการในศูนย์ฯ

โดยคาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการวันละ 4,000-5,000 คน พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มเป็น 5 สาขาใน 5 ปีภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทมีแผนผุด Community Mall เพิ่มอีก 2 แห่งคือที่หมู่บ้านสัมมากร รามคำแหง และถนนราชพฤกษ์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปลายปีหน้า ส่วนชื่อโครงการอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นตลาดระดับบนจึงต้องมีรายละเอียดที่แตกต่างจากโครงการแรก

ในขณะที่โครงการของสยามฟิวเจอร์ที่มีเครือเมเจอร์ถือหุ้นอยู่ ก็สามารถใช้ทรัพยากรในเครือเพื่อดึงดูดผู้บริโภคโดยมีโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ รวมถึงเชนฟาสต์ฟู้ดอย่างแม็คโดนัลด์ เป็นแม่เหล็กสำคัญ ภายใต้คอนเซ็ปต์ โทเทิล ไลฟ์สไตล์ เอนเตอร์เทนเมนต์

สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ ถือเป็นผู้นำที่ทำให้ Community Mall เป็นที่รู้จักของตลาดเมืองไทย โดยนำแนวคิดดังกล่าวมาจากอเมริกา ส่วนในเอเชียมีญี่ปุ่นเป็นแบบฉบับในการตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภครุ่นใหม่ สำหรับสยามฟิวเจอร์มีรูปแบบการขยายตัว 2 รูปแบบคือ การเทกโอเวอร์หรือโครงการเล็กที่มีอยู่แล้วทำให้ไม่ต้องลงทุนมากนักแต่สามารถรับรู้รายได้ได้รวดเร็ว เช่น การเทคโอเวอร์ ปิยรมณ์ พาร์ค สุขุมวิท 101 ส่วนอีกแบบเป็นการลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด โดยโฟกัสชุมชนจากในเมืองแล้วค่อยขยายออกไปรอบนอกที่เริ่มมีการก่อตัวของชุมชนซึ่งเจาะเน้นตลาดระดับ B+ และ B-

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตลอดเส้นสุขุมวิทมีโครงการของสยามฟิวเจอร์หลายแห่งผุดขึ้นมา เช่น ปิยรมณ์ พาร์ค, เจ อเวนิว ทองหล่อ, มาร์เก็ตเพลส ทองหล่อ ส่วนชานเมืองก็มีหลายโครงการที่แทรกซึมเข้าสู่ชุมชนพร้อมกับธุรกิจต่างๆในเครือเมเจอร์ เช่น ที่ถนนเพชรเกษม แจ้งวัฒนะ โดยในปีนี้สยามฟิวเจอร์มีการใช้งบกว่า 2,000 ล้านบาทในการขยายสาขาใหม่ เช่น ดิ อะเวนิว รัชโยธิน ติดกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ ดิ อะเวนิว พัทยา

"ความสำเร็จประการสำคัญในการรุกตลาด Community Mallของสยามฟิวเจอร์คือการหาร้านค้าที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้ามาที่ศูนย์ฯ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต เมเจอร์โบวล์ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ โฮมเวิร์ค ร้านอาหารเกรย์ฮาวน์ ร้านบูทส์ ร้านกาแฟ 94 แต่เราก็เปิดโอกาสให้แบรนด์ใหม่ที่แข็งแกร่ง เพราะเราต้องการ Strong Connection Network" นพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ กล่าว

หากพิจารณาจากทำเลที่สยามฟิวเจอร์ไปจับจองไว้ก่อนหน้านี้ ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายที่ทับซ้อนกับเซ็นทรัล จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแม้เซ็นทรัลจะเป็นยักษ์ใหญ่ แต่สยามฟิวเจอร์ภายใต้การร่มเงาของเครือเมเจอร์ก็มิใช่ยักษ์เล็ก

สเปเชียลตี้สโตร์
ซอยเซกเมนต์ สกัดคู่แข่ง


สเปเชียลตี้สโตร์ต่างๆในเครือเซ็นทรัล อย่าง ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เพาเวอร์บาย บีทูเอส โฮมเวิร์ค ถือเป็น Category Killer ที่มีบทบาทสำคัญในการเจาะช่องว่างในตลาดเมืองไทย เนื่องจากทำเลที่มีศักยภาพหาได้น้อยลง การเกาะติดสาขาไปกับห้างจึงเป็นการจำกัดตัวเอง ดังนั้นร้านสเปเชียลตี้สโตร์ในเครือเซ็นทรัลจึงมีการผุดสาขานอกห้าง มีทั้งที่เกาะติดไปกับศูนย์การค้าอื่นและที่ทำเป็นสแตนอะโลน

ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ถือเป็น Category Killer ที่มีบทบาทมากที่สุดโดยเฉพาะหลังจากการรีแบรนดิ้งเมื่อปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ เซ็นทรัลฟู้ดส์ ฮอลล์, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ซูเปอร์ และ ท็อปส์ เดลี่ โดยรูปแบบตัวหลังเป็นที่จับตาเนื่องจากอยู่ในเซกเมนต์เดียวกับ โลตัส เอ็กซ์เพรส และเล็กพอที่จะเข้าถึงชุมชนแข่งขันกับคอนวีเนียนสโตร์ได้ โดยท็อปส์ เดลี่ ใช้งบลงทุนสาขาละ 3-7 ล้านบาท บนพื้นที่ 300 ตารางเมตร เจาะตลาดทั้งที่อยู่ในชุมชนและปั๊มน้ำมัน กลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดระดับกลาง เน้นความสะดวก ทำเลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อทีละน้อยชิ้น

ส่วนอีก 3 รูปแบบเป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับให้แตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตของดิสเคานต์สโตร์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากมีราคาถูกกว่า ดังนั้นจึงต้องสร้างจุดต่างเพื่อแข่งขันกับสงครามราคาโดย เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ เป็นรูปแบบที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง สนใจในเรื่องรสชาติและคุณภาพของอาหาร มี 2 สาขาคือที่เซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัลชิดลม ส่วน ท็อปส์ มาร์เก็ต เป็นรูปแบบที่มาแทนที่มาร์เก็ตเพลส จับตลาดระดับบนเช่นกัน โดยมีจุดขายในเรื่องของสินค้าที่หลากหลายทั้งในประเทศและนำเข้า สำหรับ ท็อปส์ ซูเปอร์ จะจับตลาดระดับกลางที่สนใจในเรื่องของความคุ้มค่าคุ้มราคา ซื้อหาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ท็อปส์ พยายามลดจุดด้อยในเรื่องของราคาด้วยการทำสินค้าที่เป็นเอ็กคลูซีพมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ หรือสินค้านำเข้าที่จำหน่ายเฉพาะในเครือเซ็นทรัล ทำให้ท็อปส์มีจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง แต่ทั้งนี้ท็อปส์ก็ยังมีการทำโปรโมชั่นต่างๆไม่ว่าจะเป็นการลดราคาสินค้า การซื้อ 1 แถม 1 สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าสินค้าของท็อปส์ แพงเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ยังมีการทำบัตรสปอร์ตรีวอร์ดการ์ดเพื่อศึกษาความต้องการของผู้บริโภคซึ่งได้มีการต่อยอดเป็นการทำการตลาดแบบ 1:1 คือสมาชิกจะได้รับโปรโมชั่นพิเศษตามพฤติกรรมการใช้จ่ายซึ่งแต่ละคนจะมีโปรโมชั่นไม่เหมือนกันเพราะมีพฤติกรรมการชอปปิ้งที่แตกต่างกัน

ท็อปส์ใช้งบกว่า 800 ล้านบาทในการขยายสาขาใหม่ปรับโฉมสาขาเก่าให้เป็นแบบใหม่ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะสามารถปรับโฉมได้ทั้งหมด ซึ่งภายหลังการปรับโฉมเสร็จสิ้นแล้วท็อปส์ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ 30,000 ล้านบาทในปี 2553 นอกจากนี้ยังมีการปรับลดสินค้ากว่า 400 รายการลง 5-10% เป็นการถาวร

"4 โมเดลธุรกิจนี้จะเป็นครอบครัวซูเปอร์มาร์เก็ต ครอบครัวร้านอาหาร ซึ่งเราแบ่งเซ็กเมนต์ตามความชอบของผู้บริโภค ใครต้องการบริโภคสินค้านำเข้าก็ไปที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ หรือ ท็อปส์ มาร์เก็ต ส่วนใครต้องการซื้อหาของกินของใช้ประจำวันก็ไปท็อปส์ ซูเปอร์ ส่วนใครที่ต้องการความสะดวก ซื้อสินค้าน้อยชิ้น หรือประเภทรีฟิลก็ไปที่ ท็อปส์ เดลี่ เราสร้างโซลูชั่นครบวงจรเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า เราสามารถวิเคราะห์ถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าคนอื่นเพราะเรามีการเก็บข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรสปอร์ตรีวอร์ดการ์ด" เอียน ไพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กล่าว

ในขณะที่สเปเชียลตี้สโตร์ตัวอื่นๆของเซ็นทรัลต่างมีการขยายสาขาของตัวเองออกไปอย่างมากมาย และหลายตัวถูกนำมาใช้เป็นแม่เหล็กเวลาที่มีสาขาใหม่ๆของเซ็นทรัลเกิดขึ้น รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์ที่กำลังพัฒนาอยู่

เซ็นทรัลเวิลด์ผนึกชิดลม
ยึดสมรภูมิค้าปลีกกลางกรุง


ธุรกิจค้าปลีกกลางกรุงเป็นอีกสมรภูมิรบสำคัญที่เซ็นทรัลขับเคี่ยวกับเดอะมอลล์กรุ๊ปมาตลอด นับตั้งแต่เซ็นทรัล ชิดลม มาถึง ดิ เอ็มโพเรียม จากนั้นก็มี สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงรายอื่นๆในย่ายสุขุมวิทที่มีการปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดฐานลูกค้าของตัวเองโดยพยายามเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มพร้อมกับสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

ทว่าจากการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ขาดปัจจัยหนุนส่งผลให้กำลังซื้อหดหาย ดังนั้นบรรดาชอปปิ้งสตรีตย่านสุขุมวิทจึงต้องปรับกลยุทธ์ ด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจค้าปลีกของตนเอง

เซ็นทรัลถือเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบมากที่สุดเนื่องจากมีกลุ่มธุรกิจที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อกัน เซ็นทรัลชิดลมซึ่งถือเป็นห้างที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาค้าปลีกยักษ์ใหญ่ย่านสุขุมวิทที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดทำให้มีเพียงตัวห้างสรรพสินค้า แต่ยังขาดศูนย์การค้าหรือพลาซ่าดังนั้นเซ็นทรัลจึงทุ่มสรรพกำลังเพื่อให้ได้พื้นที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เดิมมาปรับปรุงเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่และทันสมัยเพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคในส่วนที่เซ็นทรัลชิดลมไม่สามารถตอบสนองได้ ตลอดจนการรีโนเวตห้างสรรพสินค้าเซนเพื่อดึงดูดนักชอปจากต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น

ล่าสุด เซ็นทรัล รีเทล ได้ร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนาผุดรายการทีวีร่วมกับเจเอสแอลภายใต้ชื่อรายการว่า เกมนี้เพื่อเธอ ภายใต้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท โดยรูปแบบรายการจะเป็นการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักสินค้าในเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อกระตุ้นยอดขายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถกระตุ้นยอดได้ 15-20% นอกจากนี้ยังเตรียมแคมเปญใหม่ๆที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคมาเดินในเซ็นทรัลเวิลด์มากขึ้น พร้อมกับตั้งเป้ายอดคนเดินในศูนย์ฯจาก 1.2 แสนคนต่อวันเป็น 1.5 แสนคนต่อวัน รวมถึงการโฟกัสตลาดต่างชาติมากขึ้น โดยเซ็นทรัลเวิลด์มีการปรับสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเพิ่มเป็น 50% เท่ากับลูกค้าชาวไทย

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทย ส่งผลให้มีการจับจ่ายที่น้อยลง ขณะที่ชาวต่างชาติเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งนอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวแล้วยังมีชาวต่างชาติที่มาทำธุรกิจในเมืองไทย ดังนั้นจึงมีการผุดโรงแรมและศูนย์ประชุมบนโครงการเซ็นทรัลเวิลด์เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจมีการชอปปิ้งในเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัลชิดลมซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเป็นการผนึกกำลังของกลุ่มเซ็นทรัลด้วยกันเอง ในขณะที่คู่แข่งซึ่งมีเครือข่ายน้อยจำเป็นต้องหันไปจับมือกับพันธมิตรอื่นๆมากขึ้น

ในขณะที่ค่ายเดอะมอลล์ซึ่งมี ดิ เอ็มโพเรียม เป็นหัวรบหลักบนถนนสุขุมวิท แม้จะมีการทำโปรโมชั่นใหญ่ร่วมกับธุรกิจในเครืออย่างสยามพารากอนเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การชอปปิ้งของผู้บริโภคซึ่งมีบางกลุ่มที่ไม่ชอบการชอปปิ้งเพียงแห่งเดียว แต่จะมีการเดินชอปปิ้งในหลายๆห้าง ดังนั้นเดอะมอลล์กรุ๊ปจึงพยายามทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในเครือด้วยการทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้คนผ่านจากดิ เอ็มโพเรียม ข้ามบีทีเอสไปสู่สยามพารากอน ผ่านคู่แข่งโดยไม่ต้องแวะกลางทาง

ลำพังการมีธุรกิจอยู่ในมือที่น้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มเซ็นทรัลที่มีความครบเครื่องกว่า ทำให้ ดิ เอ็มโพเรียม ต้องมองหาพันธมิตรนอกธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงกันเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น กลยุทธ์ Alliance จึงถูกนำมาใช้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความถี่ในการมาใช้บริการ โดยในปีนี้จะมีการใช้กลยุทธ์ Alliance Niche Marketing เป็นกลยุทธ์หลัก

"การตลาดยุคใหม่ เน็ตเวิร์คถือเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงใช้ความเข้มแข็งของเครือข่ายพันธมิตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ส่วนพันธมิตรควรเป็นใครก็อยู่ที่ว่าลูกค้าเราเป็นใคร เดอะมอลล์มีฐานลูกค้าเป็นแมสเราก็ใช้ Alliance ในวงกว้าง ส่วน ดิ เอ็มโพเรียมเป็น Ultimate Shopping Complex มีโพสิชันนิ่งจับตลาดที่มีไลฟ์สไตล์ ทันสมัย สนใจแฟชั่นใหม่ๆ เราก็ต้องจับมือกับพันธมิตรที่สอดคล้อง อย่างเดอะมอลล์เราอาจร่วมกับค่ายรถญี่ปุ่น แต่พอเป็น เอ็มโพเรียมคงไม่ได้เพราะลูกค้าคนละกลุ่มกัน มาทำการตลาดร่วมกันก็คงไม่เกิดผลเท่าไรนัก ความสำเร็จของการทำ Alliance อยู่ที่การจับคู่ให้ไปด้วยกันได้อย่าง win win" ณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่สายการตลาด ดิ เอ็มโพเรียม ดีพาร์ตเมนต์ สโตร์ กล่าว

Alliance Niche Marketing เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ดังนั้นโปรโมชั่นที่ทำจากนี้ไปจะเน้นในเรื่องของการให้รางวัลที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น แพกเกจห้องพัก แพกเกจทัวร์ ชมการแข่งขันเทนนิส สมาชิกสนามกอล์ฟ รถจักรยานยนต์บีเอ็มดับเบิ้ลยู ตลอดจนชุดอุปกรณ์ขี่ม้า หรือโทรศัพท์มือถือแอลจีรุ่นพราด้าซึ่งไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย

นอกจากนี้ ดิ เอ็มโพเรียม ยังมีการทำ International Marketing เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวต่างชาติทั้งที่มาท่องเที่ยวและอาศัยในเมืองไทย โดยมีการเพิ่มบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าเช่นการบริการรถรับส่งจากคอนโดฯมาสู่ห้างฯ รวมถึงการทำการตลาดเชิงลึกเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า

ทั้งนี้กลุ่มเดอะมอลล์และเซ็นทรัลยังมีการใช้บัตรสมาชิกของตัวเองในการดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้จ่ายในศูนย์การค้าในเครือ ตลอดจนใช้ฐานข้อมูลจากบัตรฯดังกล่าวในการทำการตลาดแบบ One to One Marketing เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าแบบเฉพาะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความภักดีต่อแบรนด์และทำให้ผู้บริโภคมาใช้บริการในห้างของตัวเองมากกว่าจะไปห้างของคู่แข่ง

"ยอดของเราเพิ่มขึ้น 5-8% ในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าเราไม่ไปที่อื่น เพราะเรามีการทำลอยัลตี้โปรแกรม การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างความพึงพอใจถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาฐานลูกค้าเหล่านั้นไว้" ณัฐศมน วงศ์กิตติพัฒน์ กล่าว

สงครามกลางกรุงระหว่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์มิได้จบเพียงเท่านี้ เพราะนอกจากจะมีการช่วงชิงลูกค้าที่มีอยู่แล้วยังมีความพยายามในการสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วยการผุดโรงแรมและศูนย์ประชุมซึ่งมีทั้งที่เซ็นทรัลเวิลด์และสยามพารากอน ใครชิงลูกค้าเข้าโรงแรมได้มากก็ย่อมมีโอกาสได้นักชอปในศูนย์การค้ามากกว่า แต่ด้วยประสบการณ์ที่เซ็นทรัลมีธุรกิจโรงแรมอยู่ในมือจึงมีความได้เปรียบมากกว่า

"เอนเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์"
ตลาดป้ายต่อไปของเซ็นทรัล


แนวทางการดำเนินธุรกิจของค่ายโรงหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่วิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร พลิกให้ธุรกิจโรงหนังที่เคยต้องพึ่งพาแรงดึงดูดกำลังซื้อของศูนย์การค้า สามารถแยกตัวออกมาตั้งโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลน ที่ดึงเอาร้านค้า ร้านอาหาร และกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ อาทิ คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง มาอยู่รวมกันเป็นเอนเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ สร้างเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์อีกรูปแบบที่เป็นที่รวมกำลังซื้อของกลุ่มคนเมืองที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงกลุ่มครอบครัวที่ใช้โรงภาพยนตร์เป็นสถานที่ผักผ่อนสุดสัปดาห์ วันนี้กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มหันมาให้ความสนใจในธุรกิจนี้เข้าให้แล้ว

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตถึง 30% จากมูลค่าตลาด 3,400 ล้านบาทเมื่อปีก่อน ความน่าสนใจของภาพยนตร์ที่เข้าฉายทั้งผลงานระดับโลกจากฮอลลีวู้ด และภาพยนตร์ไทยที่สร้างขึ้นตามความต้องการของผู้ชม ดึงดูดให้ผู้คนใช้เวลากับโรงภาพยนตร์มากขึ้น ซึ่งแน่นอนยิ่งเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เติบโตมากขึ้นเท่าไร เซ็นทรัลก็จะถูกดึงกำลังซื้อออกไปมากขึ้น

แนวทางการขยายสาขาของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ประกอบด้วยโมเดล 4 รูปแบบ สแตนด์อะโลนที่เป็นจุดเด่น การขยายไปพร้อมกับคอมมูนิตี้มอลล์ ของสยามฟิวเจอร์ ที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ถือหุ้นอยู่ 21.7% การขยายสาขาในศูนย์การค้าหรือชอปปิ้งเซนเตอร์ และการขยายสาขาในดิสเคาท์สโตร์ โดย 2 รูปแบบแรกเป็นแนวทางเมเจอร์ฯ ใช้ขยายสาขา เนื่องจากการปัจจุบันขยายสาขาของศูนย์การค้า ชอปปิ้งเซนเตอร์ หรือดิสเคาท์สโตร์ แทบจะไม่เกิดขึ้น

จุดเด่นของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สแตนด์อะโลน คือการเป็นเอนเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ที่มีบริการค่อนข้างครบถ้วน ทั้งโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่ง เมเจอร์โบว์ฮิต บลูโอคาราโอเกะ ซับซีโร ไอซ์สเก็ต และฟิตเนสเซ็นเตอร์ คาลิฟอร์เนีย ว๊าว นอกจากนี้วิชัย พูลวรลักษณ์ ยังมีฟาสต์ฟู้ดระดับโลกอย่าง แมคโดนัลด์ เป็นแม่เหล็กสำคัญ รวมไปถึงร้านอาหารแบรนด์รอง อาทิ เชสเตอร์กริลล์ รวมไปถึงแบรนด์ดังจากเซ็นทรัล เรสเตอรองส์ อย่าง เคเอฟซี หรือพิซซ่าฮัทที่ก็ตามเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ไปเกือบทุกสาขา ร้านหนังสือซีเอ็ด กิฟท์ช้อป ร้านทำผม ร้านเกมส์ ล้วนมีอยู่ในทุกสาขาของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์

เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของคอมมูนิตี้มอลล์ ในชื่อสยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ศูนย์การค้าย่อส่วนที่มีจุดเด่นอยู่ที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบภายในแต่ละแห่งให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนในทำเลที่ตั้งนั้น เป็นแนวคิดที่วิชา พูลวรลักษณ์ ให้ความสนใจเข้าซื้อหุ้นร่วมลงทุนในสยามฟิวเจอร์ ทำให้การขยายสาขาของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์นอกเหนือจากสแตนด์อะโลนแล้ว การเปิดสาขาพร้อมกับการเปิดคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ของสยามฟิวเจอร์ก็เป็นอีกแนวทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อกลุ่มเซ็นทรัลเริ่มหันหน้าสู่การเปิดคอมมูนิตี้มอลล์ ชนกับสยามฟิวเจอร์ ก็เท่ากับเป็นการยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อดูถึงการแผนการเปิดสาขาใหม่ ๆ ของเซ็นทรัล อย่างเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช และศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ จะพบว่าพาร์ทเนอร์ในการส่วนของโรงภาพยนตร์ภายในศูนย์เป็นชื่อของ เอสเอฟซีเนม่า ซิตี้ ค่ายโรงภาพยนตร์อันดับ 2 ในธุรกิจ ที่มีแนวทางการขยายสาขาผูกติดไปกับศูนย์การค้าแทบทุกแห่ง ทั้งเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และมาบุญครอง

ความสนิทแนบแน่นของกลุ่มเซ็นทรัล กับค่ายเอสเอฟซีเนม่า ซิตี้ ดูได้จากการฝังตัวของสาขาส่วนใหญ่อยู่ในเซ็นทรัล ทั้งเซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล รามอินทรา เซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ เซ็นทรัล พัทยา ไปจนถึงเซ็นทรัล ภูเก็ต และที่น่าสนใจที่สุด คือการเปิดสาขาของเอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า 15 โรง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในปีนี้ ทั้งที่ภายในศูนย์การค้าแห่งนี้ มีโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ตั้งอยู่ 6 โรงมาตั้งแต่กลุ่มเซ็นทรัลยังไม่ได้เข้ามาบริหารศูนย์การค้าแห่งนี้

ดังนั้น หากมองต่อไปถึงการสร้างรูปแบบใหม่ของไลฟ์สไตล์มอลล์ อย่างเอนเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ก็คงไม่ใช่เรื่องลำบากนักสำหรับกลุ่มเซ็นทรัลที่จะบริหาร พันธมิตรแข็งแกร่งอย่าง เอสเอฟซีเนม่า ซิตี้ ที่มีทั้งโรงภาพยนตร์มาตรฐาน เอสเอฟ มิวสิคซิตี้ โมเดิร์นคาราโอเกะที่มีสาขาต้นแบบอยู่ในศูนย์การค้ามาบุญครอง รวมถึงเอสเอฟ สไตรก์ โบว์ เลนโบว์ลิ่งไฮเทค ที่มีทางเอสเอฟซีเนม่ากำลังมองหาทำเลตั้งสาขาเพิ่มจากที่มีอยู่บนมาบุญครอง ก็น่าจะเป็นคู่บัดดี้ในการลุยตลาดใหม่ ๆ ของเซ็นทรัลได้เป็นอย่างดี

กลุ่มเซ็นทรัลยังมีสินค้าแบรนด์แม่เหล็กที่สามารถนำมาประกอบกันเป็นเอนเทอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ที่มีแรงดึงดูดไม่แพ้สแตนด์อะโลนของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ อย่าง ไก่ทอดเคเอฟซี พิซซ่าฮัท มิสเตอร์โดนัท ไอศกรีมบาสกิน ร้อบบิ้นส์ และอานตี้แอนส์ จากค่ายเซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป รวมไปถึงร้านอาหารพันธมิตรเก่าแก่ของเซ็นทรัล เอ็มเคสุกี้ ก็เรียกความน่าสนใจได้ไม่ยาก ไม่นับรวมไปถึงร้านค้าสินค้า หรือบริการที่เจาะไปในไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่เซ็นทรัลคงสามารถชักชวนร้านค้าที่มีกิจการอยู่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลมาร่วมลงทุนได้ไม่ยาก

การเติบโตกลุ่มเซ็นทรัลในช่วง 60 ปี ผ่านมือคนในตระกูลจิราธิวัฒน์มาถึง 3 รุ่น จากกลุ่มลูกค้าหลักสิบ หลักร้อยคนบนถนนสุริวงศ์ สี่พระยา ที่เดินเข้ามาหาหนังสือดี ๆ ในร้านเซ็นทรัล วันนี้ กอบชัย และทศ จิราธิวัฒน์ กำลังจะพลิกรูปแบบพฤติกรรมการจับจ่ายของคนกรุงขึ้นใหม่ว่าทุกความต้องการในไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกคน สามารถหาได้จากกลุ่มเซ็นทรัล
กำลังโหลดความคิดเห็น