“กรมศุลกากร” ตัดสินใจทำลายรถหรู เฟอร์รารี่ รุ่น 456GT โดยใช้รถตีนตะขาบทำลายรถทั้งคัน “อธิบดี” ระบุ เพื่อตัดตอนขบวนการแก๊งฟอกรถ ที่ใช้วิธีลักลอบนำเข้าและถอดอุปกรณ์สำคัญออก ก่อนให้ถูกจับเพื่อนำมาประมูลในภายหลัง ยืนยันทุกอย่างที่ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของอธิบดีที่สามารถทำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 ก.ย.) กรมศุลกากรได้ดำเนินการทำลายรถยนต์เฟอร์รารี่ รุ่น 456 GT สีเทา โดยใช้รถตีนตะขาบทำลายรถทั้งคัน ซึ่งรถคันดังกล่าวได้จับกุมโดยตำรวจปราบปรามยาเสพติดที่ตรวจยึดได้ที่อู่เบนซ์ แอล.เค.จังหวัดสมุทรปราการ และไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของ ยึดมาตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2550 จึงได้นำส่งกรมศุลกากร ในคดีเป็นรถยนต์ลักลอบหนีภาษี
นายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้พิจารณาเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 27 พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ.2469 รถยนต์ของกลางจึงตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาได้ตรวจพบว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์สำคัญหลายอย่าง เช่น สมองกลเครื่องยนต์ สมองกลเอบีเอส ท่อไอเสีย สายไฟฟ้า ปั๊มเอบีเอส จึงเชื่อมั่นว่า เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลแก๊งฟอกรถยนต์ ดังนั้น คณะกรรมการจำหน่ายของกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อตัดช่องทางแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องในการนำรถยนต์เข้ามา โดยวิธีถอดแยกชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ออกก่อน ทำให้รถยนต์มีมูลค่าต่ำ และนำไปให้จับกุม หากนำมาขายทอดตลาด ผู้ประมูลทั่วไปจะไม่สามารถขับรถยนต์ได้ ยกเว้นกลุ่มตนเอง และเมื่อประมูลออกไป จะได้แบบรับรองการนำเข้า 32 ซึ่งสามารถไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ หลังจากนั้น จึงนำอุปกรณ์ที่ถอดออกไปใส่เข้าที่เดิม ซึ่งจะสร้างกำไรให้กลุ่มดังกล่าวมหาศาล คณะกรรมการจำหน่ายของกลาง จึงได้มีมติทำลายของกลาง จนใช้การไม่ได้ และขายเป็นเศษเหล็ก เพื่อตัดขบวนการเหล่านี้ตามนโยบายกระทรวงการคลัง
นายชวลิต กล่าวว่า กรณีมีข่าวผู้ใหญ่มาร้องขอไม่ให้ทำลายรถยนต์คันดังกล่าว ไม่ทราบเรื่อง แต่วานนี้ (25 ก.ย.) เจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติ ซึ่งได้หารือกับ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง.และเห็นตรงกันว่า จะต้องทำลายรถยนต์คันนี้ก่อน ตามเจตนารมณ์เดิม ส่วนรถยนต์คันอื่นจะมีการทำลายหรือไม่ จะพิจารณาต่อไป แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการในรถยนต์หรู คือ จะต้องถอดแชสซีส์ทิ้ง และจะนำตัวถังไปใช้สำหรับการศึกษาหรือดำเนินการอย่างอื่น จะหารือกันอีกครั้ง โดยอำนาจในการจำหน่ายหรือดำเนินการกับรถของกลางเป็นไปตามอำนาจอธิบดีกรมศุลกากร ตามมาตรา 15 (1) ที่กำหนดไว้ว่า อธิบดีสามารถจำหน่ายรถยนต์ของกลางในรูปแบบใดๆ ก็ได้ และขอยืนยันว่า การดำเนินการครั้งนี้ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา การประมูลรถยนต์หรูจะมีมูลค่า 7-10 ล้านบาท แต่เมื่อไปขายทำกำไรในตลาดจะได้มูลค่าสูงนับเท่าตัว เช่น รถยนต์เฟอร์รารี่มีราคา 35-40 ล้านบาทต่อคัน
นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้ประมูลรถยนต์ของกลาง 106 คัน วันนี้ (26 ก.ย.) ซึ่ง นายสังกรณ์ พึ่งประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร คาดว่าจะได้เงินจากการประมูลไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และรถยนต์ที่นำมาประมูลได้ตรวจสอบแล้ว ระบบแชสซีส์ไม่มีการถูกตัดต่อเพื่อนำไปเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มของแก๊งฟอกรถ