xs
xsm
sm
md
lg

สงคราม 3 ก๊ก การกลับมาของพญามังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * ญี่ปุ่น เกาหลี สะเทือนเมื่อ มังกรหลับ เริ่มตื่น
* ไฮเออร์ พลิกตำรางัดกลยุทธ์ Global Brand ชิงบัลลังก์ผู้นำใน 3 ปี
* ทุ่มงบ เทคฯโรงงานซันโยฯ อัดโฆษณาสร้างแบรนด์

การประกาศเทคโอเวอร์โรงงานผลิตของซันโย ยูนิเวอร์แซล อีเล็คทริค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตตู้เย็นที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีศักยภาพในการผลิตตู้เย็น 2,400,000 เครื่องต่อปี และเครื่องซักผ้า 200,000 เครื่องต่อปี เป็นเสมือนการลั่นกลองรบก่อนรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองไทยอย่างจริงจังของสินค้าจีนระดับโลกภายใต้แบรนด์ไฮเออร์ซึ่งทำตลาดในเมืองไทยมาก่อนหน้านี้ประมาณ 5 ปี โดยการร่วมทุนกับกลุ่มไดสตาร์ อิเลคทริก คอร์เปอเรชั่น ซึ่งมีสินค้าทั้งกลุ่มภาพและเสียง และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครั้วเรือน ล่าสุดไฮเออร์มีการทำโฆษณาทางทีวีซึ่งแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้สำหรับสินค้าจากจีนที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ถ้าไม่นับรวมจีนไต้หวันที่มีทั้งเอเซอร์ เบนคิว และต้าถุง

ที่ผ่านมาไฮเออร์ประสบความสำเร็จในการทำตลาดนอกประเทศจีนไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเมืองไทย แม้ว่าตลาดเมืองไทยจะมีฐานลูกค้าในระดับแมสจำนวนมากที่คำนึงถึงเรื่องราคาเป็นหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ทว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์ไม่ดีจากสินค้าจีนอื่นๆ ผนวกกับแบรนด์ดังทั้งจากค่ายญี่ปุ่นและเกาหลีต่างส่งไฟติ้งโมเดลราคาถูกออกมาตีกันสงครามราคาจากจีน ดังนั้นจึงส่งผลกระทบในการทำตลาดของไฮเออร์ในเมืองไทย ประกอบกับที่ผ่านมาไฮเออร์ก็มิได้ทำการตลาดอย่างจริงจังนอกเหนือไปจากการมีสินค้าราคาถูกกว่าคู่แข่ง ส่วนเรื่องการสร้างแบรนด์นั้นมีน้อยมาก

แต่ในปีนี้ไฮเออร์มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้แบรนด์ไฮเออร์ในประเทศไทยสอดคล้องกับแบรนด์ระดับโลก การทุ่มงบเกือบ 700 ล้านบาทเพื่อเทคโอเวอร์โรงงานซันโยถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้ผู้บริโภคไทยยอมรับแบรนด์จีนที่ใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น ปัจจุบันไฮเออร์มี 2 บริษัทในเมืองไทย คือ ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ทำหน้าที่ด้านการขาย และ ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ทำหน้าที่ในส่วนของโรงงานผลิตซึ่งก็คือบริษัทซันโยฯเดิม

ทวีศักดิ์ เกรียงไกรเกียรติ กรรมการผู้จัดการ ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ระบุถึงความผิดพลาดที่ผ่านมาว่าเกิดจากการไม่มีโรงงานผลิตในเมืองไทยส่งผลให้มีไลน์สินค้าในการทำตลาดไม่ครบครัน ประกอบกับการขาดการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการทำการตลาดในเชิงรุก ในขณะที่สมรภูมิรบในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวทางสำคัญในการสร้างแบรนด์ไฮเออร์ให้ยิ่งใหญ่เหมือนในตลาดโลกคือการชูจุดขายในการเป็น Global Brand ที่มีสินค้าคุณภาพโดยมีตู้เย็นเป็นเรือธงสำคัญ พร้อมกันนี้ยังมีการเตรียมขยายไลน์การผลิตสินค้าให้ครอบคลุมเช่น ตู้แช่ไวน์ เครื่องปรับอากาศ แอลซีดีทีวี ตลอดจนการพัฒนาตู้เย็นไซด์บายไซด์ เพื่อส่งสินค้ามาเสิรมทัพในช่วงปลายปี โดยตลาดในเมืองไทยไฮเออร์วางกรอบการบริหารงานไว้ 3 แนวทางคือ คุณภาพ การขนส่ง และ การจัดการด้านต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้ยังมีการวางนโยบายด้านราคาให้เป็นราคาเดียวเพื่อสร้างมาตรฐานและภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ โดยไฮเออร์จะหันมาโฟกัสในเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งานของสินค้ามากกว่าจะเน้นเรื่องสงครามราคา

ในขณะที่ไฮเออร์ในตลาดโลกใช้กลยุทธ์รวม 3 เป็น 1 ซึ่งประกอบด้วย การผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายในประเทศ การผลิตในประเทศจีนเพื่อการส่งออก และการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไฮเออร์มีฐานการผลิตทั่วโลกใน 14 ประเทศ เช่นที่ อเมริกา อิตาลี ตะวันออกกลาง ฯลฯ โดยประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตล่าสุด

จาง รุ่ย หมิน ซีอีโอของไฮเออร์ กรุ๊ป ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างแบรนด์ไฮเออร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกด้วยการนำค้อนปอนด์มาทุบตู้เย็นที่ไม้ได้มาตรฐานเพื่อพัฒนาตู้เย็นขึ้นมาใหม่ให้ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ไฮเออร์ยังเลือกที่จะรุกตลาดอเมริกาและยุโรปก่อนเอเชีย โดยจาง รุ่ย หมิน ให้เหตุผลว่าหากสามารถทำตลาดที่ยากได้แล้วก็จะเป็นเรื่องง่ายในการรุกตลาดอื่นๆเพราะมาตรฐานสินค้าของไฮเออร์กลายเป็นมาตรฐานระดับโลกไปแล้ว ดังนั้นไฮเออร์จึงไม่กังวลกับการเข้ามาตลาดเมืองไทยทีหลังซึ่งมีทั้งค่ายญี่ปุ่นและเกาหลีจับตลาดมานานแล้วเพราะถือว่าได้ผ่านบทเรียนที่ยากมาแล้ว

ไฮเออร์เพียรพยายามที่จะทำตัวเองให้เป็น Global Brand เช่นการตั้งโรงงานที่อเมริกา เพื่อให้สินค้าไฮเออร์ได้ประทับตราว่าเป็นสินค้าที่ผลิตจากอเมริกา ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่งจนกระทั่งไฮเออร์ได้รับการยอมรับในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น อเมริกา และยุโรป ปัจจุบันไฮเออร์ถือเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอันดับที่ 4 ของโลกรองจาก เจนเนอรัล อิเล็คทริก (จีอี), เวิร์ลพูล และ อีเลคโทรลักซ์

โหว ซิน ไหล ผู้จัดการทั่วไปภาคพื้นเอเชีย ไฮเออร์ กรุ๊ป กล่าวถึงนโยบายในการผลักดันแบรนด์ให้มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยตั้งเป้าที่จะติด Top 3 ของโลกในปี 2553

สำหรับเมืองไทย ไฮเออร์เตรียมงบการตลาดในช่วงสุดท้ายของปีไว้ที่ 30 ล้านบาท จากที่ใช้ตลอดทั้งปี 50 ล้านบาทโดยจะเน้นไปที่ Below The Line หรือการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อเข้าถึงและให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสทดลองใช้สินค้าของไฮเออร์ให้มากที่สุด แต่ก็ยังไม่ทิ้ง Above The Line หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทมีการทำโฆษณาผ่านทางทีวีโดยจะมีต่อเนื่องถึง 3 เวอร์ชั่น และยังมีสื่อโฆษณาอื่นๆเช่น นิตยสาร ป้ายโฆษณา เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่ผู้บริโภค โดยบริษัทตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 6,000 ล้านบาท เป็นยอดส่งออก 80% จากการมีฐานการผลิตในเมืองไทย ส่วนยอดขายในประเทศกว่า 80% มาจากสินค้าในกลุ่มตู้เย็น ส่วนทีเหลือ 20% มาจากเครื่องซักผ้าและสินค้ากลุ่มอื่นๆ ในขณะปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 1,000 ล้านบาทเนื่องจากยังไม่ได้ทำธุรกิจในส่วนของโรงงานผลิต

ส่วนในปีหน้า ไฮเออร์จะมีการเพิ่มงบการตลาดอีก 2-3 เท่าตัวเป็น 150 ล้านบาท โดยจะมีการใช้สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งร่วมด้วยเนื่องจากไฮเออร์เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิค 2008 ที่ปักกิ่ง

ความพยายามในการสร้างการยอมรับแบรนด์จีนในตลาดเมืองไทยมิได้มีเพียงไฮเออร์เท่านั้น ก่อนหน้านี้ ประมาณ 3 ปี ทีซีแอล คอร์เปอเรชั่น ได้ร่วมทุนกับ ทอมป์สัน ฝรั่งเศส โดยใช้ชื่อ ทีซีแอล-ทอมป์สัน อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขยายตลาดโทรทัศน์สีทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิตของทอมป์สันที่ จ.ปทุมธานี โดยในช่วงแรกจะเน้นตลาดโทรทัศน์สี และต่อด้วยโทรศัพท์มือถือ ภายใต้แบรนด์ "ทีซีแอล" ในการทำตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในยุโรปจะใช้แบรนด์ "ทอมป์สัน" ส่วนตลาดอเมริกาใช้แบรนด์ "อาร์ซีแอล" ทว่าทีซีแอลก็ยังไม่สามารถผงาดขึ้นมาติดอันดับในตลาดเมืองไทยได้ แม้จะมีการยกระดับภาพลักษณ์ด้วยการทำตลาดแอลซีดีทีวี เนื่องจากมีการสื่อสารกับผู้บริโภคน้อยเกินไป

ในขณะที่บรรดาแบรนด์จีนไต้หวันต่างชูจุดขายในการเป็นผู้ชำนาญด้านการผลิตโดยได้รับความไว้วางใจจากเครื่องไฟฟ้าแบรนด์เนมว่าจ้างให้ผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาด แม้จะมีการสื่อสารกับผู้บริโภคที่ไม่มากพอ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับมากกว่าสินค้าที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่

ซัมซุงชูดีไซน์ สร้างจุดต่าง
งัดโปรโมชั่นเพิ่มยอดขาย

รูปแบบการเดินเกมการตลาดของไฮเออร์ คล้ายๆกับการรุกตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าแดนโสมทั้งซัมซุงและแอลจีที่ล้วนแต่รุกตลาดด้วยสงครามราคาก่อนพัฒนาสินค้าไปสู่ตลาดไฮเอนด์ ซึ่งในอดีตภาพลักษณ์สินค้าเกาหลีไม่แตกต่างจากสินค้าจีนในปัจจุบัน แต่ซัมซุงก็สามารถสร้างความสำเร็จในตลาดเมืองไทยได้หลังจากพัฒนาเทคโนโลยีจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยมีจุดเริ่มจากการพัฒนาดีไซน์โทรศัพท์มือถือแบบฝาพับจนได้รับรางวัลจากการจัดงานที่ยุโรป จากนั้นแบรนด์ซัมซุงจึงเริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในเมืองไทย

ซัมซุงมีการปรับเกมเพื่อรุกตลาดพรีเมียมมากขึ้นโดยอาศัยความครบเครื่องของไลน์อัพสินค้าที่มีทั้งเอวีและเอชเอ มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมากมายไม่ว่าจะเป็นแอลซีดีทีวี ตู้เย็นไซด์บายไซด์ เครื่องซักผ้าระบบซิลเวอร์นาโน ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าตั้งแต่ระดับแมสไปถึงพรีเมียม มีการแบ่งเซกเมนต์ตลาดตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยโฟกัสไปที่ 3 กลุ่มหลักคือ High-Life Seeker เป็นผู้ที่ไวต่อเทคโนโลยี แม้จะมีรายได้ระดับกลางแต่ก็ยอมจ่ายเพื่อได้เทคโนโลยีใหม่ๆ Sensory เป็นกลุ่มที่ไวต่อเทคโนโลยีน้อยกว่าและใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อนานกว่ากลุ่มแรก Rational เป็นกลุ่มที่ซื้อเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการใช้งานเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มรวมกันแล้วมีมากถึง 60% ของตลาดทั้งหมด ในขณะที่อีก 40% ที่เหลือจะพิจารณาจากราคาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ ทว่าซัมซุงก็ยังคงสินค้าราคาถูกไว้เพื่อตีกันคู่แข่งที่เล่นสงครามราคา

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแคมเปญการตลาดใหม่ๆเพื่อดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าในเครือซัมซุงเช่นแคมเปญ 11 Days Special ซึ่งเป็นการ Mix & Match โดยนำสินค้าทั้ง 4 กลุ่มไม่ว่าจะเป็นหมวดภาพและเสียง (เอวี) เครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน (เอชเอ) โทรศัพท์มือถือ และไอที มาทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ความหลากหลายของสินค้าซัมซุง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างตลาดให้กับสินค้าแต่ละกลุ่มที่มีการทำโปรโมชั่นร่วมกันโดยเน้นสินค้าพรีเมียมซึ่งลูกค้าที่ซื้อสินค้าหลากหลายหมวดก็จะได้รับส่วนลดมากขึ้น

11 Days Special สะท้อนความเป็น Total Solution Provider ที่มีสินค้าเทคโนโลยีครบทุกหมวด โดยมีแพกเกจโปรโมชั่นที่หลากหลายเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกให้เหมาะกับตัวเองและเป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้สินค้าซัมซุงให้กับผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการเพิ่ม Household Share นอกจากนี้ยังเป็นการปูทางไปสู่ความเป็นไอคอนแบรนด์ของโลกแห่งดิจิตอลคอนเวอร์เจนซ์

ซัมซุงยังคงเน้นความเป็น Total Solution Provider ด้วยการทำแคมเปญ Mix & Match นอกจากนี้ยังมีการดำเนินกลยุทธ์ใหม่ๆโดยใช้งบการตลาด 1,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ 40% งบกิจกรรมการตลาด 60%

การทำ มิกแอนด์แมตช์ คือการแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ การขยายฐานลูกค้าไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆซึ่งจะทำให้ซัมซุงสามารถสร้างยอดขายในปริมาณที่มากขึ้น อย่างเช่นการร่วมกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขายสินค้าซัมซุงผ่านโครงการ การร่วมมือกับธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในการทำ Total Solution Provider แบบครบวงจรโดยมีการออกแบบห้องต่างๆพร้อมทั้งเครื่องไฟฟ้าซัมซุงและเฟอร์นิเจอร์ในห้อง เช่น Bed Room Solution, Kitchen Solution, Living Room Solution ซึ่งแต่ละห้องจะมีการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของซัมซุงโดยมีทั้งหมวดดภาพและเสียงและเครื่องไฟฟ้าในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีตลาดสถาบันการเงินโดยซัมซุงจะมีการทำไฟแนนเชียลแพกเกจให้กับลูกค้าของธนาคาร หรือการทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกับร้านเวดดิ้ง ตลอดจนการให้ส่วนลดพิเศษแก่ข้าราชการทหาร

แอลจีโคแบรนด์
ยกระดับภาพลักษณ์


ในขณะที่แอลจีซึ่งไล่ตามหลังซัมซุงไม่ห่างด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่กับดีไซน์โดยเครื่องปรับอากาศรุ่นอาร์ทคูลถือเป็นดาบแรกในการรุกตลาดพรีเมียมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยแอลจีมีการใช้ดีไซน์กับสินค้าหลายๆกลุ่มโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือรุ่นชอกโกแลต ที่เป็นที่กล่าวขานถึงความสำเร็จทั้งที่แอลจีเข้าสู่ตลาดดังกล่าวได้ไม่นานนัก ล่าสุดมีการพัฒนาดีไซน์สำหรับเทคโนโลยีไฮเอนด์ภายใต้ชื่อ โมเดิร์น ฟลาวเวอร์ ซีรี่ส์ ที่เน้นโทนแดง มีลายดอกไม้ประดับเสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน

แอลจีไม่ได้หยุดอยู่แค่การพัฒนาสินค้า ทว่ายังมีการสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องโดยให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมการตลาดผ่านช่องทางจำหน่ายซึ่งถือเป็นปราการสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภครู้จัก ยอมรับ และซื้อสินค้า ตลอดจนเปลี่ยนใจผู้บริโภคที่คิดจะซื้อแบรนด์อื่นให้หันมาซื้อแบรนด์ของตนเอง In Store Promotion จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้ทดลองสัมผัสสินค้าไฮเอนด์ของแอลจี ซึ่งเป็นอีกก้าวในการล้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่เคยเน้นแต่สงครามราคามาสู่การเป็นแบรนด์คุณภาพที่มีราคาสูงขึ้นแต่ผู้บริโภคยอมรับได้เนื่องจากมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ตลอดจนการพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้มีศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ มีมาร์จิ้นสูง และไม่ต้องตัดราคาชิงลูกค้า

แอลจีมิได้พัฒนาแบรนด์โดยลำพัง หากยังมีการดึงแบรนด์อื่นๆมาร่วมด้วยเพื่อสร้างการยอมรับและยกระดับแบรนด์ให้สูงขึ้นเช่นการนำคริสตัลของชวารอฟสกี้มาประดับไว้ที่ตู้เย็น พร้อมกับการโคแบรนด์ ตลอดจนการเกาะติดไปกับพันธมิตรที่มีกลุ่มลูกค้าตรงกัน เช่น การร่วมกับโครงการคอนโด เลอ ราฟิเน่ ราคายูนิตละ 40 ล้านบาท ด้วยการนำระบบปรับอากาศเข้าไปติดตั้ง ซึ่งสะท้อนความเป็นผู้นำเทคโนโลยีและจะเป็นตัวดึงให้ลูกค้าที่มาอาศัยในคอนโดฯดังกล่าวเปิดใจยอมรับแบรนด์แอลจีมากขึ้น

ญี่ปุ่นรุกสงครามโซลูชั่น
สร้างลอยัลตี้ กินรวบตลาด


ฟากแดนอาทิตย์อุทัยที่อยู่ตลาดเมืองไทยมานานแม้จะมีลูกค้าที่มีความภักดีต่อแบรนด์ค่อนข้างสูงแต่ส่วนใหญ่ก็เริ่มมีอายุ ทำให้ต้องมีการขยายฐานไปสู่ตลาดคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆเน้นการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ตลอดจนการพัฒนาสินค้าที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานและดีไซน์สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น

ในขณะที่การสร้างประสบการณ์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสและทดลองใช้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อโดยมองข้ามเรื่องราคา ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นหลายแบรนด์จึงมีการพัฒนาอิมเมจชอป เช่น โซนี่ สไตล์, โตชิบา อินเทลลิเจนซ์, พานาโซนิคไลฟ์สแควร์ หรือแม้แต่ซัมซุงเองก็ยังมีซัมซุง เอ็กซ์เพียแรนซ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคเนื่องจากช่องทางจำหน่ายทั่วไปมักจะเน้นการสร้างยอดขายมากกว่าการทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักสินค้านั้นก่อนตัดสินใจซื้อ แต่การที่ผู้บริโภคได้รับข้อมูลไม่เพียงพอจะส่งผลให้เกิดคำนึงถึงเรื่องราคาก่อนการตัดสินใจซื้อ

นอกจากนี้บรรดาค่ายญี่ปุ่นยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการเชื่อมต่อกัน เพื่อดึงให้ผู้บริโภคใช้สินค้าแบรนด์นั้นๆแบบยกชุด เช่น โซนี่มีการชูนโยบาย HD World ในการสร้างยอดขายแบบโซลูชั่นด้วยการชูอรรถรสในการับความบันเทิงเต็มรูปแบบทั้งภาพและเสียงที่ใช้งานเชื่อมต่อกันได้ด้วยความละเอียดในระดับ Full HD เช่น กล้องถ่ายภาพนิ่ง กล้องดิจิตอล ที่ต่อเชื่อมกับแอลซีดีบราเวียที่ให้ความละเอียดระดับ Full HD ตลอดจนการพัฒนาเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ดิสก์และเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 3 ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดต่อเมื่อใช้เครื่องรับทีวีที่รองรับ Full HD เท่านั้น เช่น แอลซีดีทีวีบราเวียของโซนี่

HD World ถือเป็นความพยายามที่จะสร้างการใช้งานสินค้าของโซนี่ให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าต้องซื้อสินค้าของโซนี่เพื่อให้ได้สัญญาณภาพระดับ Full HD โดยโซนี่พยายามลอนช์สินค้าที่เป็น Full HD ออกมามากขึ้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้กันมายึดมาตรฐานในการรับชมภาพที่เป็น Full HD ทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าไฮเดฟฟินิชั่นของโซนี่มาเชื่อมต่อกัน

ขณะที่พานาโซนิคก็มีการทำระบบรีโมตคอนโทรลที่สามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเอวีร่วมกันได้ด้วยรีโมตเพียงตัวเดียว พร้อมกันมีการเปิดตัวสินค้าระบบรักษาความปลอดภัยซึ่งจะใช้เป็นเรือธงในการทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงประโยชน์ของ Ubiquitous โดยเทรนด์ในการเชื่อมต่อหรือควบรวมเทคโนโลยีถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทมากขึ้นในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้พานาโซนิคยังวางคอนเซ็ปต์ SD Solution ในการเชื่อมต่อสินค้าของพานาโซนิคด้วย SD การ์ด เช่น กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ ที่บันทึกลง SD การ์ด จะสามารถนำมาดูผ่านพลาสม่าทีวีของพานาโซนิครุ่นที่มีช่องต่อ SD การ์ด

ทันทีที่ประเทศไทยมีระบบ 3G และมีการใช้บรอดแบนด์กันอย่างแพร่หลาย สงครามโซลูชั่นจะไม่ได้มีเพียงค่ายญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำได้ เพราะที่เกาหลีก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อเช่นกัน และเมื่อวันนั้นมาถึงสินค้าจากจีนจะสามารถยืนหยัดได้หรือไม่ก็ต้องอยู่ที่ว่าจีนจะพัฒนาเทคโนโลยีได้เพียงใด และค่ายญี่ปุ่นกับเกาหลีจะสามารถสร้างพฤติกรรมให้ตลาดเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อกันได้ไวเพียงใด เพราะถ้าชิงตลาดดังกล่าวได้เร็วก็จะกินรวบตลาดได้เร็ว บ้านหนึ่งหลังจะใช้สินค้าหลักเพียงแบรนด์เดียวเพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อ และนั่นจะเป็นกำแพงในการบล็อกสินค้าจีนที่เข้ามาทีหลัง แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรวันนั้นจะมาถึง

แต่การกลับมารุกตลาดอีกครั้งเพื่อทวงความยิ่งใหญ่ของไฮเออร์ในครั้งนี้ถือเป็นเสมือนการลั่นกลองรบในรอบแรกเท่านั้น สงครามเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 ค่าย จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่น ทว่าสงครามราคาจะยังคงดำเนินต่อไปโดยแบรนด์มาใหม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ราคาเพื่อเจาะตลาด ขณะที่แบรนด์เนมก็ต้องงัดไฟติ้งโมเดลมาปะทะเพื่อสกัดมิให้สินค้าราคาถูกสามารถสร้างฐานลูกค้าขึ้นมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น