xs
xsm
sm
md
lg

วัดฝีมือ "กู๋ - เฮีย"บนเวทีบันเทิงไทย โชว์ผลงาน แกรมมี่ - อาร์เอส หลังปฏิวัติองค์กร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * จับความเคลื่อนไหวคู่แข่งตลอดกาลในวงการบันเทิงไทย "แกรมมี่ - อาร์เอส"

* ผ่านยกที่ 1 ครึ่งปีแรกภายใต้การจัดทัพธุรกิจใหม่ของทั้งสององค์กร หลังผ่านวิกฤตวงการเพลง

* "อากู๋" ยิ้มรื่น กอดธุรกิจเพลงฝ่าวิกฤติสำเร็จ มั่นใจ ยักษ์ใหญ่แกรมมี่ กำลังกลับมา

* "เฮียฮ้อ" เหงื่อหยด "เอนเตอร์เทนเมนต์ เน็ตเวิร์ค" ไม่เวิร์คดังใจ ส่งผลรายได้หด กำไรหาย


เผยผลงานครึ่งปี 2 ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่เมืองไทย หลังปฏิวัติองค์กร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งยืนยันทำธุรกิจค่ายเพลงต่อไป ปรับทัพสินค้าเจาะหาลูกค้าในยุคดิจิตอล กับ อาร์เอส เจ้าตลาดเพลงวัยรุ่นที่วันนี้หนีสู่ธุรกิจบันเทิงวงกว้าง จับคอนเทนต์บันเทิงทุกรูปแบบ ฝั่งหนึ่งธุรกิจติดปีกวิ่งฉิว แต่อีกฝั่งกลับล้มลุกคลุกคลาน

แกรมมี่ติดเครื่องสู่ยุครุ่งเรือง

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกอย่างสวยหรู เป็นไปดังที่ "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) เคยประกาศความมั่นใจไว้เมื่อครั้งมีโอกาสต้อนรับกองทัพสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี ในการแถลงข่าวทิศทางของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยืนยันนำธุรกิจเพลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล ไม่สนใจไปหาธุรกิจอื่น ๆ เหมือนดังเช่นค่ายเพลงคู่แข่ง

ครั้งนั้น อากู๋ ประกาศว่า ภาพของแกรมมี่ในยุครุ่งเรืองที่เคยเห็นกันครั้งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีก่อน กำลังจะกลับมาให้เห็นอีกครั้ง

แกรมมี่ เปิดตัวในปีนี้อย่างสดใส รายได้ในไตรมาสแรกมากกว่า 1,600 ล้านบาท อาจไม่ใช่ตัวเลขที่น่าแปลกใจอะไร แต่ส่วนของกำไร 41.3 ล้านบาทนั้น เป็นกำไรที่สูงเกือบ 100 เท่าตัว จากที่เคยทำได้เพียง 5 แสนบาทในปี 2549 สร้างความมั่นใจ

ขณะที่ผลงานในไตรมาสที่ 2 กองทัพบันเทิงจากฝั่งอโศก ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง รายได้ที่เกิดจากการปรับจูนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างลงตัว ขยับสูงขึ้นไปถึงหลัก 1,700 ล้านบาท ส่วนตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้นมากถึงกว่า 136 ล้านบาท สูงกว่ากำไรในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 ถึง 39% สอดคล้องกับแนวทางองค์กรยุคใหม่ที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด มากกว่าตัวเลขรายได้สูงเด่นแต่แฝงไปด้วยรายจ่ายมหาศาล จนอากู๋ถึงกับเอ่ยปากขอบคุณพระเจ้า ที่ได้กลับมาเห็นช่วงเวลาอันมั่งคั่งขององค์กรที่ตนเองสร้างมากับมือ ในเวลานี้

และเมื่อดูผลการดำเนินงาน 6 เดือน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัทในเครือ สามารถทำรายได้มากกว่า 3,400 ล้านบาท และมีกำไรสูงถึง 178 ล้านบาท เติบโตกว่ากำไรของครึ่งปีแรกของปี 2549 ถึง 81% รายได้ทั้งหมดของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ประกอบมาจากธุรกิจเพลง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเพลง ทั้งการจำหน่ายสินค้าเพลง การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การจัดคอนเสิร์ต การบริหารศิลปินและธุรกิจดิจิตอล ที่สามารถทำรายได้สูงกว่าปีก่อนถึง 10% คอนเทนต์ของเพลงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการจำหน่ายสินค้า เพลง การจัดคอนเสิร์ต และดิจิตอลดาวน์โหลดดีขึ้นตามทั้งหมด

รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ ที่สูงกว่าครึ่งปีแรกของปีก่อน 26% เป็นอีกปัจจัยสำคัญ การปรับผังและรูปแบบรายการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มรายการประเภทวัยรุ่นอีกหลายรายการ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ด้านรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ สามารถสร้างรายได้สูงกว่าครึ่งปีแรกของปีก่อน ถึง 49% มีผลจากภาพยนตร์ที่ออกฉายจำนวน 2 เรื่อง คือ "365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" (Final Score) และ"แฝด" (Alone) ประสบความสำเร็จทางด้านการขายตั๋วค่อนข้างน่าพอใจ โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง "แฝด" ที่ได้รับการตอบรับจากต่างประเทศเป็นอย่างดี ทำให้สามารถขายให้กับสายหนังต่างประเทศได้

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ยอมรับว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของแกรมมี่ ลำพังธุรกิจเพลงที่ประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรงก็ทำเอาบริษัทแทบย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อมาพัวพันเข้ากับปัญหาทางการเมือง ก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นอีก แต่ด้วยแนวคิด Customer Centric ที่แบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มตามไลฟ์สไตล์ สร้างรูปแบบการตลาดเฉพาะตัวตั้งแต่เด็ก 9 ขวบ ไปจนถึงคนในรุ่น 40-60 ปี ทำให้คอนเทนต์ดนตรีของแกรมมี่ต้องเพิ่มรูปแบบการนำเสนอจากที่เคยอยู่ในตลับเทป แผ่นซีดี ดีวีดี ปรับเพิ่มช่องทางสู่ดิจิตอล คอนเทนต์ กระจายสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เอ็มพี 3

จากบริษัทที่เกือบจะพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยี วันนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับเดินคู่ไปกับเทคโนโลยีอย่างกลมกลืน สร้างความสำเร็จให้กับค่ายเพลงอันดับ 1 ของประเทศได้กลับมาอีกครั้ง

"ผมไม่รู้จะขอบคุณพระเจ้าอย่างไรดี ที่โลกนี้ได้พยายามดีไซน์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ โมบายโฟน, โมบายคอนเทนต์, มิวสิค อิน อินเทอร์เนต, แซทเทลไลท์ ล้วนแต่เป็นพาหนะที่นำพาสินค้าเราไปได้ทั่วโลก ต่อจากนี้เทคโนโลยีคงจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กฎหมายในด้านสื่อก็มีแนวโน้มเปิดกว้างอย่างอิสระ บรอดแบนด์ขยายตัวอย่างมากมาย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของโอกาสที่เราจะขยายธุรกิจในเชิงดิจิตอลออกไปได้อีกในอนาคต" ไพบูลย์กล่าว

หืดจับอาณาจักรอาร์เอส

อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิง ค่ายเพลงที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อดีตอาร์เอสโปรโมชั่น ซึ่งช่วงขวบปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ปรับชื่อองค์กรเหลือเพียง อาร์เอส พร้อมประกาศทิ้งภาพค่ายเพลงไว้เบื้องหลัง หันไปหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม Entertainment Network ผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์บันเทิงครบวงจร พ่วงด้วยคอนเทนต์กีฬา มุ่งหวังเป้าหมายรายได้ 3,500 ล้านบาท

"เฮียฮ้อ" สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) เคยกล่าวว่า การเป็นผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์บันเทิง ถือเป็นรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่จะให้ผลตอบแทนในรูปแบบกำไรได้ดีกว่าการทำธุรกิจค่ายเพลงเหมือนก่อน ไม่ต้องใช้บุคลากรมากมาย ไม่ต้องมีโรงงาน ไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบ หรือมีสินค้าคงคลังไว้ให้เป็นภาระ แต่ดูเหมือนอาร์เอสจะปฏิวัติองค์กรได้ไม่ถูกเวลานัก

ผลการดำเนินงานของอาร์เอส ในรอบครึ่งปีแรกกลับไม่สวยหรูดังที่เฮียฮ้อ ตั้งความหวังไว้ รายได้ในไตรมาสแรกของปี ทำได้เพียง 580 ล้านบาท ลดต่ำกว่าปี 2549 ถึง 20 ล้านบาท แต่ตัวเลขกำไรก็สามารถสะท้อนทิศทางที่ถูกต้องของการทำธุรกิจได้ดี เมื่อรายได้ที่น้อยกว่านี้ กลับทำกำไรได้สูงกว่า ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อาร์เอส ที่ยังมีธุรกิจเพลงเป็นแกนหลัก มีกำไรเพียง 7.8 ล้านบาท มาถึงปีนี้รายได้ที่น้อยกว่า กลับสามารถทำกำไรได้มากถึงเกือบ 9 ล้านบาท

เมื่อก้าวถึงไตรมาสที่ 2 แม้อาร์เอสจะสร้างรายได้จะเพิ่มสูงขึ้นถึงหลัก 620 ล้านบาท แต่เมื่อดูถึงตัวเลขกำไร กลับพบสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง รายได้ที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสแรก แต่กำไรลดต่ำลงเหลือเพียง 4.2 ล้านบาท และที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการเปรียบเทียบกำไรกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไตรมาส 2 ของปี 2549 มีกำไรมากถึง 35 ล้านบาท เท่ากับอาร์เอสบนเส้นทางใหม่ ทำกำไรหล่นหายไปจากเส้นทางเดิม ถึง 31 ล้านบาท

รายได้ครึ่งทางของปี1,201 ล้านบาท จึงถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของทัพบันเทิงจากลาดพร้าว ในการก้าวสู่เป้าหมาย 3,500 ล้านบาทที่วางไว้ และเมื่อมองถึงเงินกำไรที่จะกลับมาสร้างการเติบโตให้กับองค์กร เพียง 13 ล้านบาท ยิ่งน่าสงสัยว่า ทิศทางที่เฮียฮ้อ พาอาร์เอส ก้าวมานี้ ถูกต้องแล้วหรือ

อาร์เอสแจงเหตุผลความถดถอยด้านรายได้ว่า ประเด็นหลักมาจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจสื่อที่สูงถึง 121 ล้านบาท หลงเหลือกลับมาเพียง 172 ล้านบาท หายไป 61% เนื่องจากการลดเวลาการออกอากาศในสื่อโทรทัศน์ ด้านสื่อวิทยุที่มีการลดจำนวนคลื่นลงก็ทำให้รายได้ลดลงถึง 24.5% ขณะที่รายได้จากธุรกิจเพลงที่เคยหล่อเลี้ยงองค์กรมาตลอด 25 ปี ก็หนีไม่พ้นสภาพตกต่ำในวันนี้ รายได้ 130 ล้านบาท ดิ่งลง 24.5% คิดเป็นเงิน 51 ล้านบาท มากกว่ากำไรที่ทำได้ถึงเกือบ 5 เท่า เหตุผลมาจากความตั้งใจที่จะควบคุมปริมาณสินค้าที่วางขายให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน โดยมีการลดจำนวนอัลบั้มลง

อาร์เอสก็ยังมีธุรกิจที่พอมองเห็นอนาคตได้ ในส่วนของธุรกิจภาพยนตร์ที่ผลงานถูกใจตลาดหลายเรื่องวางออกฉาย สร้างรายได้ถึง 140.45 ล้านบาท เติบโตขึ้น 36.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแผนการผลิตภาพยนตร์ของอาร์เอสจะเน้นการหาพันธมิตร เจ้าของสินค้าต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนการสร้าง เป็นการลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเมื่อภาพยนตร์ออกฉาย เพราะงบประมาณที่พันธมิตรให้การสนับสนุนจะคุ้มทุนในการสร้าง กำไรจึงเริ่มตั้งแต่ตั๋วเข้าชมใบแรกที่ขายได้

"ครึ่งปีหลังเราคาดหวังว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งทุกคนก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เราเจียมตัวว่า ต้องมุ่งมั่นให้มากกว่าเดิม สถานการณ์วันนี้เข้มข้นขึ้น แต่แกรมมี่โชคดีที่สามารถผ่านการพิสูจน์ตัวเลขของครึ่งปีแรกในปีนี้ ทำได้เกือบเท่ากับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรายังมีอีกครึ่งปีที่เราจะสร้างธุรกิจต่อไปเพื่อตอบคำถามว่า แกรมมี่กลับมาหรือยัง" อากู๋ ประกาศความท้าทาย

ไพบูลย์กล่าวว่า กลยุทธใหม่ ๆ ที่แกรมมี่จะนำมาใช้มากขึ้น คือการเลิกทำธุรกิจในลักษณะเหวี่ยงแหหวังตลาดวงกว้าง หากแต่เวลานี้ตลาดส่วนใหญ่เริ่มมีกลุ่มเฉพาะเจาะจง ดังนั้นจึงจะเลือกใช้แนวทางเจาะกลุ่มเฉพาะในการโปรโมทผลงานแต่ละอัลบั้ม แต่ตั้งใจที่จะขายให้กับคนทั่วโลกด้วยสื่อแนวใหม่อย่างอินเทอร์เนตที่มีศักยภาพในการเข้าถึง แต่ใช้งบประมาณน้อยมาก

"เวลานี้เราคิดว่ายากที่จะมีคนตามทันเรา เรามีทั้งประสบการณ์ มีตำนานในคลังเพลงของเราที่จะหยิบขึ้นมารำลึกได้ มีเพลงเป็นหมื่นเพลง คอนเสิร์ต มิวสิควิดีโอ ละคร รายการโทรทัศน์ที่สามารถเก็บกลับมาใช้ได้ มีอยู่ในห้องสมุดเป็นแสน ๆ คอนเทนต์ ที่มีเสน่ห์ในการนำออกมาใช้ได้เสมอ"

ไพบูลย์ตั้งเป้าหมายว่า ก้าวเดินต่อไปของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะไปสู่การบริหาร Talent Management ที่ตนพยายามเรียนรู้จากค่ายเพลงในเกาหลี หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบในงานด้านนี้ สร้างศิลปินออกเปิดตลาดได้ทั่วโลก หากแกรมมี่เดินตามแนวทางนี้ได้ คงต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้างงานคุณภาพระดับสากลให้ได้

สุดท้าย "อากู๋" ยืนยันว่า วันนี้แกรมมี่จะไม่สร้างองค์กรสะเปะสะปะ แต่จะสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจที่สามารถสร้างความต่อเนื่องให้กับจิ๊กซอว์องค์กรแกรมมี่ที่ถึงปีที่ 25 แล้วก็ยังต่อไม่เสร็จเสียที

มือใหม่ อาร์เอส พิสูจน์ฝีมือครึ่งปีหลัง

โอกาสที่อาร์เอสจะเปิดตัวแนวคิดใหม่ในการบริหารธุรกิจ Entertainment Network ในปีแรกด้วยบิลลิ่งสิ้นปี 3,500 ล้านบาท พร้อมตัวเลขกำไรงาม ๆ ก็คงจะทำได้ไม่ง่ายนัก เมื่อธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดธุรกิจใหม่อย่าง โชว์บิซ ดูจะไม่สวยหรูเหมือนการแสดงบนเวทีนัก อาร์เอส ไอดรีม ที่ได้มือดีในวงการโชว์ บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ มานำทัพ เฮียฮ้อ หวังสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรอาร์เอส ด้วยการรับบทบาทโปรโมเตอร์จัดการแสดงระดับโลกในทุกรูปแบบ ตั้งแต่คอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลก ทั้งแจ๊สเฟสติวัล กลางสนามหน้าโรงเรียนวชิราวุธ ศิลปินชั้นนำ คริสติน่า อากีเลร่า หรือซีลีน ดิออน การแสดงชุดตระการตา พลุชิงแชมป์โลก หรือมวยปล้ำชิงแชมป์โลก อีเวนต์ยิ่งใหญ่ All Star Hero ทุกรายการต่างประสบปัญหาที่ไม่สามารถสร้างรายได้คืนมาแตกต่างกัน ตั้งแต่ล้มเลิกการจัดแสดง ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเท่าที่ควร จนถึงใช้การลงทุนสูงลิ่วมองหากำไรคืนมาไม่ได้

และที่สุรชัยทำใจรับการขาดทุนเรียบร้อยแล้ว คือการเข้าไปร่วมโครงการสร้างภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ชุด โปรเจ็กอุลตร้าแมน กับกลุ่มซึบูราญ่า ไชโย ของสมโภชน์ แสงเดือนฉาย ที่ถูกฟ้องร้องการละเมิดสิทธิ์การผลิตผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของซึบูราญ่า ประเทศญี่ปุ่น ผลการตัดสินคดีออกว่า ซึบูราญ่า ไชโย มีความผิดในข้อหาละเมิดสิทธิ์จริง โครงการโปรเจ็กอุลตร้าแมนที่มีการลงทุนไปถึง 10.5 ล้านบาท เดินทางไปถ่ายทำถึงประเทศจีน ขายสิทธิ์การฉายให้กับช่อง 7 สีเรียบร้อย แต่ก็ไม่สามารถนำออกอากาศได้

ส่วนลิขสิทธิ์กีฬาที่บริษัทในเครืออาร์เอสบีเอส คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลระดับโลกหลายรายการมาไว้ในมือ คงมีเพียงรายการฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโรเท่านั้น ที่สามารถสร้างมูลค่าการตลาดเป็นรายได้กลับคืนมาได้ และสุรชัยเองก็ตั้งเป้าที่จะบูมทัวนาเมนต์กีฬารายการใหญ่ ๆ เหล่านี้ตั้งแต่ปีแรกที่ได้ลิขสิทธิ์ แต่ผ่านไปครึ่งปีก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ของการแข่งขันฟุตบอล 2 รายการใหญ่นี้

เหลือเพียงธุรกิจภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวที่ เฮียฮ้อ ตั้งความหวังว่าจะเป็นตัวเชิดหน้าชูตาให้กับองค์กร ภาพยนตร์ 3 เรื่อง ที่มีทั้งแนวระทึกขวัญที่ถูกใจตลาด "บ้านผีสิง" หนังจากกลุ่มดนตรีโปงลางสะออน ในชื่อ "โปงลางสะดิ้ง" และงานมาสเตอร์พีชค้างปี ที่นำแสดงโดยศรราม เทพพิทักษ์ "แรกบิน" จะเป็นตัวสร้างกำไรให้กับอาร์เอสได้ในปีนี้ได้

ซึ่งก็คงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนักของการปฏิวัติองค์กรของอาร์เอส จากธุรกิจเสียงเพลงที่ตนเองมีความคุ้นเคย มาสู่ธุรกิจบันเทิงที่เน้นไปที่การแสดง ชนโครมเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา สภาพการเมืองที่สับสน และสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวาย

วัดฝีมือยกแรก "เฮียฮ้อ" เดินอ่อนแรงกลับเข้ามุม ซึ่งคงต้องกลับมาปรับแผนเพื่อรอยกต่อไป ขืนลุยต่อไปในสภาพเช่นนี้มีคงไม่ใช่สิงห์อโศกที่ไปไกลเกินจะกลับมาขย้ำ หากแต่สภาพตลาด สภาพการเมือง สภาพเศรษฐกิจที่อยู่รอบข้างต่างหากที่จะปัจจัยน็อคเสือลาดพร้าว อาร์เอส ให้อยู่ในสภาวะยากลำบากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น