xs
xsm
sm
md
lg

"พานา" สู้ฟัด LCDรอบใหม่ โซนี่ ซัมซุง หนาวววว อย่างแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - * สมรภูมิแอลซีดีทีวีร้อนฉ่า เมื่อยักษ์ใหญ่เกทับโยกฐานผลิตเข้าไทย * ลดต้นทุน ชิงความได้เปรียบ สู้สงครามราคา * พานาฯรายล่าสุด ผุดโรงงานปะทะโซนี่ ซัมซุง สะเทือนถึง ชาร์ป และแอลจี * ปลายปีส่อแวว แอลซีดี 32 นิ้วราคาร่วง หมื่นกว่าก็ซื้อได้

จากการให้สัมภาษณ์ของ ไดโซ อิโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพานาโซนิค ในประเทศไทย ที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์ประชาชาติเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นตัวสะท้อนได้อย่างดีว่าตลาดแอลซีดีทีวีได้ยืนอยู่บนสงครามราคาอย่างเต็มตัวเมื่อหลายค่ายต่างโยกฐานการผลิตแอลซีดีทีวีมาสู่ประเทศไทย เหตุผลสำคัญคือเพื่อใช้ราคาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ และเป็นการสร้างยอดขาย เพิ่มส่วนแบ่งในตลาด

โดยพานาโซนิค ประกาศโยกฐานการผลิตพลาสม่าทีวีซึ่งโฟกัสที่หน้าจอขนาด 40 นิ้วขึ้นไปจากสิงคโปร์มาสู่ไทย และเปลี่ยนโรงงานประกอบแอลซีดีขนาด 32 นิ้วในเมืองไทยซึ่งเริ่มเดินเครื่องจักรเมื่อปลายปีที่แล้วให้เป็นโรงงานผลิตแอลซีดีเต็มรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะรองรับตลาดในเมืองไทยแล้วยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆในอาเซียนรวมถึงมีแผนส่งไปจำหน่ายที่อินเดียด้วย

การย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยทำให้พานาโซนิคลดต้นทุนจากการเสียภาษีนำเข้า 20% กลายเป็น 0% นั่นหมายความว่าราคาแอลซีดีทีวีของพานาโซนิคที่เคยแพงกว่าคู่แข่งอย่างโซนี่ซึ่งมีฐานการผลิตในเมืองไทย 20% วันนี้พานาโซนิคสามารถสู้ราคาได้ ซึ่งผู้บริหารของพานาโซนิคย้ำว่าการสู้ราคาของพานาโซนิคนั้นหมายถึงการลดต้นทุนได้ด้วย มิใช่ลดราคาสู้โดยที่ต้นทุนยังสูงอยู่

ปัจจุบันราคาแอลซีดีทีวี 32 นิ้วอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาท ลดลงจากต้นปีซึ่งอยู่ที่ 3.9 หมื่นบาท แต่ถ้านับย้อนไปก่อนหน้านั้นจะมีราคาสูง 7-8 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าแพงกว่าพลาสม่าทีวี 2-3 เท่าตัวเมื่อเทียบราคากันต่อตารางนิ้ว โดยประมาณ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ในยุคแรกที่แอลซีดีทีวีสามารถฝ่าข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีได้ด้วยการทำหน้าจอขนาดใหญ่กว่า 40 นิ้ว ซึ่งมีราคาสูงถึง 2 แสนกว่าบาท ในขณะที่พลาสม่าทีวีมีราคาอยู่ที่แสนกว่าบาท แต่ปัจจุบันราคาแอลซีดีทีวีหล่นลงมาจนมีช่วงห่างจากพลาสม่าทีวีเพียง 2-3 หมื่นบาทเท่านั้น

พานาโซนิคในฐานะผู้นำตลาดพลาสม่าทีวีด้วยส่วนแบ่งการตลาด 30% ในปีที่ผ่านมา พยายามรักษาตลาดที่ตัวเองเป็นผู้นำด้วยการสร้างหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ 35% ในปีนี้ และ 40% ในปีหน้า โดยพลาสม่า 103 นิ้วความละเอียดระดับไฮเดฟฟินิชั่นราคา 3-4 ล้านบาท จะเป็นตัวสร้างชื่อให้กับพลาสม่าทีวี พร้อมกันนี้ยังโฟกัสพลาสม่าทีวีที่ขนาด 50 นิ้วขึ้นไปซึ่งมีราคา 9 หมื่นกว่าบาท แพงกว่าแอลซีดีทีวี 40 กว่านิ้วไม่กี่หมื่นบาท ทว่าด้วยขนาดหน้าจอที่ใหญ่มากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตแอลซีดีทีวีสูงขึ้น เส้นแบ่งของตลาดแอลซีดทีวีและพลาสม่าที่เคยอยู่ที่ 37 นิ้ว ก็ขยับขึ้นไปเป็น 50 นิ้ว โดยตลาดจอใหญ่เป็นของพลาสม่าทีวี ตลาดจอเล็กเป็นของแอลซีดีทีวี แต่แนวโน้มความนิยมในตลาดโลกคือแอลซีดีทีวีมากกว่าเนื่องจากมีจุดเด่นในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่น้อยกว่า มีความร้อนที่หน้าจอน้อยกว่า ถนอมสายตามากกว่า สู้แสงได้ดีกว่า แต่มีจุดด้อยในเรื่องของการรับสัญญาณภาพเคลื่อนไหวถ้าเร็วไปจะเกิดอาการเบลอ ซึ่งทั้งฟากผู้ผลิตแอลซีดีทีวีและพลาสม่าทีวีต่างก็พยายามลดจุดด้อยที่มีอยู่

แอลซีดีทีวียุคสงครามราคา

จีเอฟเค มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ได้ทำการสำรวจตลาดทีวีจอบางในเมืองไทยในปีที่ผ่านมาเทียบกับปี 2548 พบว่า ตลาดแอลซีดีทีวีมีการเติบโตเชิงปริมาณสูงถึง 991.2% จากปริมาณความต้องการ 4,434 เครื่องในปี 2548 เพิ่มเป็น 48,386 เครื่องในปี 2549 ขณะที่มูลค่าตลาดมีการเติบโต 816.2% จาก 366 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3,355 ล้านบาท ส่วนตลาดพลาสม่าทีวีมีการเติบโตเชิงปริมาณเพียง 117.4% จากความต้องการ 10,417 เครื่องเพิ่มเป็น 22,650 เครื่อง ขณะที่การเติบโตเชิงมูลค่ามีเพียง 23.6% หรือจากมูลค่าตลาดรวม 1,749 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,162 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมในตลาดแอลซีดีทีวีที่มีมากขึ้นในขณะที่ราคาลดลง สำหรับในปีนี้คาดว่าปริมาณความต้องการของแอลซีดีทีวีอาจจะสูงถึง 236,000 เครื่อง ส่วนพลาสม่าทีวีจะมีปริมาณความต้องการ 44,000 เครื่อง

ทิศทางที่เห็นได้ชัดเจนของพาแนลทีวีหรือทีวีจอบางที่มีทั้งพลาสม่าทีวี และแอลซีดีทีวี คือสงครามราคาของบรรดายักษ์ใหญ่ ผู้บริหารพานาโซนิคเชื่อว่าปลายปีนี้เราอาจได้เห็นแอลซีดีทีวี 32 นิ้วในราคาที่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ซึ่งปัจจุบันหากใครซื้อร้านค้าดีลเลอร์และมีความสนิทสนมกับเจ้าของร้านก็อาจมีการต่อรองราคาจนต่ำกว่า 2 หมื่นบาทได้ในบางร้าน หรือไม่ก็อาจได้ของแถมแทนการลดราคาซึ่งวันนี้ถือว่าราคาถูกกว่าปีที่ผ่านมาเป็นเท่าตัว และจะเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้ลูกค้าที่กำลังมองหาซีอาร์ทีทีวี 29 นิ้วหันไปมองแอลซีดีทีวี 32 นิ้วแทน

ก่อนหน้านี้พานาโซนิคเน้นแต่ตลาดพลาสม่าทีวี แต่ด้วยกระแสแอลซีดีในตลาดโลกส่งผลให้พานาโซนิคตัดสินใจรุกตลาดแอลซีดีทีวีอย่างจริงจังทำให้สามารถขยับส่วนแบ่งการตลาดจาก 6% เป็น 20% ในปีที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 25% ในปีนี้ โดยพานาโซนิคถือเป็นรายล่าสุดที่ผุดโรงงานแอลซีดีทีวีในเมืองไทย โดยก่อนหน้านี้มีหลายค่ายที่โยกฐานการผลิตแอลซีดีทีวีมาเมืองไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบในการทำราคาสู้คู่แข่งไม่ว่าจะเป็นโตชิบา โซนี่ ซัมซุง แอลจี และแบรนด์อื่นๆอีกมากมาย

โตชิบาถือเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆที่โยกฐานการผลิตแอลซีดีทีวีและพลาสม่าทีวีมาสู่ประเทศไทยเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว โดยเหตุผลที่ทำตลาดทีวีจอบางก็เพื่อเป็นการผลักดันแบรนด์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาโตชิบาเน้นตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งไม่ได้มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากนักทำให้ภาพลักษณ์โตชิบากลายเป็นแบรนด์เก่าแก่ นอกจากนี้ยังเป็นการหนีสงครามราคาซึ่งเกิดขึ้นและรุนแรงในสมรภูมิทีวีธรรมดา ทว่าวันนี้ในสมรภูมิแอลซีดีทีวีก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับสงครามราคา แต่โตชิบาก็มีความพร้อมในการสู้ราคาเพราะมีโรงงานผลิตในเมืองไทยทำให้ลดต้นทุนทั้งด้านภาษีและการขนส่ง โดยในปีแรกโตชิบาสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้ 7-8% และเพิ่มเป็น 10% ในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อการแข่งขันเริ่มรุนแรงประกอบกับการเข้ามาของแบรนด์ใหญ่อย่างโซนี่ที่ลอนช์แอลซีดีบราเวียในราคาถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้โตชิบาต้องขยายไลน์อัพไปสู่แอลซีดีทีวีที่มีความละเอียดระดับไฮเดฟฟินิชั่นซึ่งมีราคาสูงกว่าแอลซีดีปกติ 20% เพื่อรักษาสัดส่วนกำไรให้คงอยู่

โซนี่ดัมป์ราคาสู้

ในขณะที่โซนี่ซึ่งมีการขยายสายการผลิตแอลซีดีโปรเจกชั่นทีวีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็มีการทุ่มงบเพิ่มอีก 20 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเพื่อปรับโรงงานเก่าให้รองรับกับการผลิตแอลซีดีทีวีภายใต้ซับแบรนด์ บราเวีย ส่งผลให้โซนี่สามารถทำราคาได้ต่ำ สะเทือนไปถึงคู่แข่ง ทั้งนี้ 2 ปีที่แล้วโซนี่ได้ร่วมทุนกับซัมซุงในการทำโรงงานผลิตจอแอลซีดีเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ชื่อโรงงานว่า S-LCD ตั้งอยู่ที่ประเทศเกาหลี แต่ทั้งคู่จะใช้เทคโนโลยีในการประมวลผลสัญญาณภาพของตัวเอง ซัมซุงมี DNIe ส่วนโซนี่ใช้เวก้าเอ็นจิ้น ทำให้โซนี่สามารถกำหนกราคาแอลซีดีบราเวียได้ถูกลงโดยมีราคาแพงกว่าพลาสม่าทีวี 20% ซึ่งน้อยกว่าอดีตที่ราคาแอลซีดีจะแพงกว่าพลาสม่าทีวี 2-3 เท่าตัว และเมื่อเทียบกับแอลซีดีบางรุ่นของคู่แข่ง โซนี่จะมีราคาถูกกว่าโดย บราเวีย จะมีราคาตั้งแต่ 29,990-149,990 บาท ประกอบกับมีการทำโปรโมชั่นและให้ส่วนลดต่างๆมากมายในงานโซนี่เดย์และโซนี่แฟร์ ทำให้คู่แข่งดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างยากลำบาก

และเมื่อโซนี่ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยก็ยิ่งทำให้โซนี่ทำราคาสู้คู่แข่งได้ดียิ่งขึ้น โดยโซนี่ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างแบรนด์บราเวียให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเหมือนเช่น แบรนด์ ไตรนิตรอน และเวก้า ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ด้วยการทุ่มงบในการสร้างแบรนด์บราเวียกว่า 80 ล้านบาท เพื่อสร้างส่วนแบ่งในตลาดทีวีจอบาง จนในที่สุดโซนี่ก็สามารถล้มแชมป์อย่างชาร์ปขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดเบียดกับซัมซุง โดยมี แอลจี ไล่หลังมา ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากชาร์ประบุว่าซัมซุงเป็นผู้นำแอลซีดีทีวีด้วยส่วนแบ่ง 32% โซนี่และแอลจีมี 26% ขณะที่ชาร์ปอยู่อันดับที่ 4

นอกจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการผลักดันสินค้าไปสู่ผู้บริโภคแล้วโซนี่ยังวางคอนเซ็ปต์ HD World ในการทำการตลาดเพื่อกินรวบทุกตลาดด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีความละเอียดระดับไฮเดฟฟินิชั่นและเชื่อมต่อการใช้งานซึ่งกัน เช่น กล้องวิดีโอแฮนดีแคม กล้องไซเบอร์ชอต เครื่องเล่นเพลย์สเตชั่น 3 และเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ โดยมีแอลซีดีบราเวียเป็นตัวเชื่อมในการถ่ายทอดรายละเอียดของภาพ

ชาร์ปผุดโรงงาน ทวงบัลลังก์แชมป์

ด้านชาร์ปหลังจากเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งก็พยายามออกสินค้าใหม่แต่ก็ยังไม่สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนได้ จนในที่สุดตัดสินใจสร้างโรงงานประกอบแอลซีดีทีวีในเมืองไทยเพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้และถือเป็นโรงงานผลิตแอลซีดีแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันชาร์ปก็ยังสร้างโรงงานผลิตแอลซีดีแห่งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เกิดอีโคโนมีออฟสเกลในการผลิตจะได้มีต้นทุนที่ต่ำลงเมื่อส่งไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ดีเนื่องจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ชาร์ปที่มีน้อยกว่าโซนี่ทำให้ชาร์ปต้องทำงานหนักในการสร้างแบรนด์ โดยชาร์ปมีการรวมบริษัทที่เป็นหุ้นส่วนคนไทยเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำการตลาดภายใต้ชื่อบริษัทชาร์ปไทย

ชาร์ป ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างส่วนแบ่งในตลาดแอลซีดีทีวีได้ 20% ในปีนี้ หลังจากที่เคยเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งการตลาด 24% เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชาร์ปตั้งเป้าที่จะทวงบัลลังก์แอลซีดีทีวีจากโซนี่โดย 80% ของงบการตลาดทั้งหมดทุ่มให้กับแอลซีดีภายใต้ซับแบรนด์อะควอส ก่อนหน้านี้ชาร์ปเคยประสบความสำเร็จในการพัฒนาแอลซีดีทีวี 65 นิ้ว ราคา 700,000 บาท และแอลซีดีรุ่นบางสุดในโลก 8 เซนติเมตร ล่าสุดกำลังมีการพัฒนาแอลซีดีขนาด 108 นิ้วเพื่อเจาะตลาดองค์กรซึ่งคาดว่าจะวางตลาดได้ในปีหน้า พร้อมกันนี้ยังมีการขยายไลน์อัปสินค้าให้ครอบคลุมตลาดด้วยการทำแอลซีดีทีวีหลายขนาดตั้งแต่ 65 นิ้วไปถึง 15 นิ้ว และยังมีการสร้างเซกเมนต์ใหม่ด้วยแอลซีดีทีวี 19 นิ้วไวด์สกรีน ซึ่งยังไม่มีคู่แข่งเนื่องจากต้นทุนการทำไวด์สกรีนสูง การจะนำมาใช้กับแอลซีดีจอเล็กอาจจะไม่คุ้ม ดังนั้นหลายๆแบรนด์จึงทำไวด์สกรีนเฉพาะแอลซีดีที่มีหน้าจอที่ใหญ่กว่า 20 นิ้วขึ้นไป

ในส่วนของแอลจีซึ่งมีความร่วมมือกับค่ายฟิลิปส์ในการผลิตพาแนลแอลซีดีทีวีแบบเดียวกับที่โซนี่ร่วมมือกับซัมซุง ทำให้มีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งในระดับหนึ่ง และเมื่อปีที่แล้วได้มีการสร้างโรงงานผลิตแอลซีดีทีวีในเมืองไทย รับกระแสฟุตบอลโลกซึ่งผลักดันให้ตลาดทีวีมีการเติบโตมากขึ้น โดยแอลจีตั้งเป้าว่าการขยายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยจะทำให้บริษัทสามารถกดราคาลงได้อีก 5-10% พร้อมกับเพิ่มงบการตลาดจาก 650 ล้านบาทเป็น 800 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาเพื่อรุกตลาดในกลุ่มเอวี ด้านซัมซุงซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่จากเกาหลีก็มีการสร้างโรงงานผลิตแอลซีดีทีวีหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการผลิตพลาสม่าทีวีในเมืองไทย พร้อมกับใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการส่งออก โดยซัมซุงมีการชูเรื่องของดีไซน์สินค้าในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

เจวีซี เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ประกาศโยกฐานการประกอบแอลซีดีทีวีมาสู่ประเทศไทยในช่วงปลายปี 2549 โดยมีการใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาทเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีต้นทุนที่ต่ำซึ่งคาดว่าจะสามารถลดต้นทุนได้ 30% ทำให้บริษัทสามารถดำเนินกลยุทธ์ด้านราคาสู้กับคู่แข่งได้ และจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 6% เป็น 10% ในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อื่นๆอีกหลายแบรนด์ที่มีการผลิตแอลซีดีทีวีในเมืองไทย เช่น ต้าถุง

อย่างไรก็ดีนอกจากการเกทับเข้ามาตั้งฐานการผลิตแอลซีดีทีวีในเมืองไทยเพื่อเหตุผลในการทำราคาสู้กับคู่แข่งแล้วยังเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับกระบวนการลอจิสติกส์ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาร์ปต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดไปเพราะนอกจากจะมีราคาแพงแล้วยังไม่มีสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้การที่มีโรงงานผลิตในเมืองไทยจะทำให้บริษัทสามารถออกแบบพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคไทยมากกว่าการนำเข้า

ก่อนหน้านี้บรรดายักษ์ใหญ่ต่างทุ่มทุนมาผลิตจอภาพที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อเลี่ยงสงครามราคาจากบรรดาสินค้าจีนและโลคัลแบรนด์ที่ทำราคาต่ำจนรายใหญ่สู้ราคาไม่ได้ จึงโฟกัสสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น วันนี้แอลซีดีทีวีที่เคยเป็นนิชมาร์เก็ตกำลังขยายฐานไปสู่ตลาดแมสมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและมีผู้เล่นมากขึ้น สินค้าที่เคยมีมาร์จิ้นสูงต้องเฉือนเนื้อลดมาร์จิ้นเพื่อสร้างยอดขาย การนำเข้าทำให้เสียเปรียบ ประกอบกับประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ทำให้หลายค่ายตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อลดต้นทุน สร้างความได้เปรียบในการทำราคา

ทั้งนี้เคยมีคำกล่าวว่าตลาดเมืองไทยเป็นประเทศที่ทำการตลาดยากที่สุด ถ้าใครผ่านได้ก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในตลาดอื่นๆที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน หลายๆค่ายจึงปักหลักที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดแห่งนี้ให้ได้เพราะตลาดเมืองไทยนำหน้าประเทศอื่น บทเรียนทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดนี้สามารถนำไปประยุกต์แก้ไขกับตลาดอื่นๆในภูมิภาคนี้ได้

การเกิดขึ้นของบรรดาโรงงานแอลซีดีในเมืองไทยเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านราคา แน่นอนว่ายอมกระทบตลาดจอภาพอื่นๆด้วย โดยเฉพาะสลิมฟิตที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่ตลาดมีช่องว่างระหว่างราคาแอลซีดีทีวีและซีอาร์ที แต่เมื่อราคาแอลซีดีลงมามากย่อมทำให้สลิมฟิตหาทางรอดด้วยการขยับราคาลงไปซึ่งก็จะไปกระทบกับซีอาร์ทีทีวีอีกต่อหนึ่ง เป็นการยากที่จะตอบว่าราคาจะลงไปถึงเท่าไรเพราะถ้าปริมาณความต้องการในตลาดมีมากนั่นหมายการมีอีโคโนมีออฟสเกลที่มากพอให้ผู้ผลิตลดราคาลงมาได้อีก

ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ตลาดแอลซีดีทีวีมีการเติบโตมากขึ้นจนกระทั่งไปแทนที่ซีอาร์ทีก็คือนโยบายภาครัฐในการกำหนดระบบส่งสัญญาณออกอากาศทีวีของประเทศ เพราะถ้าประเทศไทยมีการใช้ระบบดิจิตอลในการออกอากาศรายการทีวี เครื่องรับจะต้องรองรับกับสัญญาณดังกล่าวด้วยซึ่งหมายถึงการรองรับสัญญาณในระดับไฮเดฟฟินิชั่นหรือสัญญาณความละเอียดสูงที่ให้ภาพและสียงคมชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งแอลซีดีทีวีมีความพร้อมอยู่แล้ว โดยฟังก์ชั่นการใช้งาน ดีไซน์ และราคายังเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดลูกค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น