xs
xsm
sm
md
lg

ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลปี'50 เร่งปรับตัว-ผลิตภัณฑ์ขยายตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเลนับเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาท โดยนับเป็นการซ้ำเติมทำให้บรรดาผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหารายได้จากการส่งออกในรูปของเงินบาทลดลง หลังจากในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเลต้องเผชิญกับปัญหานานัปการที่ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเน้นการปรับลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและการขยายตลาดด้วย นอกจากนี้ยังหันมาเจาะขยายตลาดในประเทศ โดยเน้นการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับในปีนี้ผลกระทบของค่าเงินบาทต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทะเลยังไม่ชัดเจน เนื่องจากยังโชคดีที่ในปีนี้ยังมีปัจจัยจากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เอื้อให้การส่งออกยังคงขยายตัวโดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง ในขณะที่ความต้องการอาหารทะเลแปรรูปในตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญลดลงทำให้อาหารทะเลแปรรูปการส่งออกลดลงอย่างชัดเจน

การผลิตขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน
ปัจจุบันโรงงานผลิตอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์มีอยู่ประมาณ 2,100 โรงงาน แยกเป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลประเภทเค็มและตากแห้ง 1,275 โรงงาน ประเภทหมักดอง(เช่น น้ำปลา น้ำบูดู) 204 โรงงาน ห้องเย็น 182 แห่ง ข้าวเกรียบกุ้งและปลา 174 โรงงาน โรงงานปลาป่น 95 โรงงาน โรงงานลูกชิ้น-ทอดมัน 69 โรงงาน โรงงานนึ่ง-อบและย่างรมควัน 54 โรงงาน และโรงงานอาหารทะเลกระป๋อง 49 โรงงาน ผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมดมีประมาณ 3.2-4.0 ล้านตันต่อปี แต่มีปัญหาโรงงานผลิตอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์มีวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการส่งออก ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า

โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2550 มูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็งแปรรูป และกึ่งสำเร็จรูปเพื่อป้อนโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีมูลค่ารวม 681.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 1.2 ทั้งนี้เนื่องจากในปีนี้ไทยลดการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งลง เนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศมีเพียงพอสำหรับการผลิตกุ้งกระป๋อง รวมทั้งมีการชะลอการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากการชะลอตัวของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง โดยหันไปนำเข้าปลาแมคเคอเรลมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนปลาซาร์ดีนในประเทศ

สาเหตุของปริมาณวัตถุดิบอาหารทะเลไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งวัตถุดิบได้ในประเทศ โดยเฉพาะปลาทูน่า เนื่องจากไทยไม่มีกองเรือเพื่อจับสัตว์น้ำในทะเลลึก สาเหตุอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากความเสื่อมโทรมของแหล่งประมงไทย ปัญหาในเรื่องคุณภาพของผลผลิต โดยเฉพาะปลาหมึก เนื่องจากปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยม นอกจากนี้ยังเผชิญปัญหาเรื่องอัตราค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในภาวะที่จำนวนแรงงานที่มีฝีมือค่อนข้างมีจำนวนจำกัด ตลอดจนต้นทุนการผลิตอื่นๆที่สูงขึ้นมาก เช่น ค่าขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ราคาบรรจุภัณฑ์ต่างๆที่ปรับตัวสูงขึ้น

จากปัญหาหลากหลายประการทำให้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลหลายรายมีนโยบายปรับลดต้นทุนการดำเนินการ โดยการปรับปัจจัยหลักในการดำเนินการทางการตลาด ดังนี้
- วัตถุดิบ ปรับระบบโลจิสติกส์ โดยมีการเจรจากับซับพลายเออร์ในเรื่องการจัดส่งสินค้าในปริมาณที่เหมาะสมและทันเวลาในการผลิต ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- บรรจุภัณฑ์ ปรับขนาดให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

- ผลิตภัณฑ์ เพิ่มการกระจายสินค้าในช่องทางใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งหรืออาหารพร้อมรับประทานตอบสนองทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ซึ่งนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และการสร้างความหลากหลายเพื่อการเจาะขยายตลาดใหม่ๆอีกด้วย

นอกจากนี้บริษัทรายใหญ่ยังมีการปรับแผนการลงทุน โดยการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยประเทศที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย ปัจจุบันอินโดนีเซียกำหนดให้การทำประมงในน่านน้ำอินโดนีเซียต้องเป็นการร่วมทุนกับชาวอินโดนีเซียเท่านั้น โดยนักลงทุนต่างประเทศสามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 80 รวมทั้งกำหนดให้ร้อยละ 70 ของสัตว์น้ำที่จับได้ต้องส่งขึ้นที่ท่าเรือของอินโดนีเซียเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปในประเทศ

เจาะตลาดในประเทศแทนตลาดส่งออก
บรรดาผู้ประกอบการส่งออกอาหารทะเล เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดโลก ต่างเริ่มหันมารุกขยายตลาดในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลก็เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศ รวมทั้งเล็งเห็นช่องว่างทางการตลาดและกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทะเลในประเทศที่น่าสนใจ แยกออกได้เป็นดังนี้

-อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง สัดส่วนการซื้ออาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กอปรกับบรรดาผู้ประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเริ่มหันมาเจาะขยายตลาดในประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ทั้งนี้เน้นการแบ่งบรรจุหลากหลายขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันของผู้บริโภค

-ปลากระป๋อง ตลาดรวมปลากระป๋องในประเทศในปี 2550 มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นปลาซาร์ดีนร้อยละ 67.0 ของตลาดปลากระป๋องทั้งหมด ปลาแมคเคอเรลมีสัดส่วนร้อยละ 18.0 ปลาทูน่าร้อยละ 12.0 และปลาอื่นๆร้อยละ 3.0 อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดปลาซาร์ดีนกระป๋องจะรุนแรงน้อยกว่าตลาดปลาทูน่ากระป๋อง กล่าวคือ ปัจจุบันตลาดปลาซาร์ดีนกระป๋องไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวทางการตลาดมากนัก เนื่องจากผ่านยุคสงครามราคามาแล้ว แต่กำลังเผชิญปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตปลาซาร์ดีนกระป๋องหันไปผลิตปลาแมคเคอเรลและปลาทูน่ากระป๋อง ส่วนตลาดปลาทูน่ากระป๋องนั้นมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง

-อาหารทะเลสำเร็จรูปแช่แข็ง ผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งหันมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยหันมาผลิตอาหารทะเลสำเร็จรูปแช่แข็ง เช่น ติ่มซำทะเลแช่แข็ง ปอเปี๊ยกุ้ง ข้าวปั้นหน้าทะเล ลูกชิ้นกุ้ง ลูกชิ้นปลาหมึก ไส้กรอกปลา เป็นต้น ซึ่งจะสามารถขยายตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อัตราการขยายตัวของอาหารทะเลสำเร็จรูปแช่แข็งในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 30.0 เนื่องจากผู้ส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่หันมาพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายด้วย

-อาหารทะเลอื่นๆ แยกออกเป็นหลากหลายประเภท ได้แก่ หมักดอง เช่น น้ำปลา น้ำบูดู เป็นต้น ประเภทนึ่ง อบ ย่าง รมควัน ตากแห้ง ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ลูกชิ้น ทอดมัน ข้าวเกรียบ เป็นต้น และปลาป่น อาหารทะเลเหล่านี้ตลาดส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศ โดยอัตราการขยายตัวของตลาดนั้นอิงกับอัตราการขยายตัวของประชากรอ่านต่อฉบับหน้า

ที่มา ศูนย์วิจัย ธนาคารกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น