xs
xsm
sm
md
lg

ต้องประจานบิลบอร์ดผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคบ.เร่งจัดสัมมนาเกี่ยวกับการจัดทำป้ายโฆษณา ให้ถูกต้องตามกฏหมายที่บัญญัติไว้ ระดมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมรับรู้กฏหมาย ยกกรณี ป้ายเบียร์สิงห์ เตรียมเชือดไก่ให้ลิงดู เหตุเข้าข่ายจงใจละเมิดกฏหมาย มุ่งกลุ่มที่ชอบฝ่าฝืนและทำผิดซ้ำซาก ยึดมาตรการขั้นเด็ดขาดส่งฟ้องศาล พร้อมกรอกประวัติลงทะเบียนแฟ้มประวัติคดี

คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการการประชุมสัมมนา เรื่อง ข้อกฏหมายที่ควรรู้ในการจัดทำป้ายโฆษณา ว่า ทาง สคบ. มิได้ต้องการเข้ามากำกับดูแลอย่างเข้มงวด แต่ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจป้ายโฆษณาทุกฝ่ายรับทราบถึงข้อกกหมายที่ควรทราบต่อการทำธุรกิจป้ายโฆษณา เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามที่ถูกต้อง มีการใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม รับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งต้องการให้ป้ายโฆษณาเหล่านี้ไม่ทำลายทัศนียภาพ

นางรัศมี วิศวเวทย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กล่าวถึงข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจป้ายโฆษณา ว่า สคบ.เข้ามาควบคุมกำกับดูแลป้ายโฆษณา โดยมีมาตรการที่ทาง สคบ. สามารถนำมาใช้บังคับได้ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ในมาตรา 22 ว่าด้วยเรื่องของข้อความบนป้ายโฆษณาที่อาจก่อผลเสียต่อสังคมและส่วนรวม และกฏกระทรวงฉบับที่ 5, 6 และ7 รวมทั้งกฏกระทรวงว่าด้วยการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน ในโรงภาพยนตร์และทางป้ายโฆษณา พ.ศ. 2547 ด้วย

“ที่ผ่านมา ป้ายโฆษณาที่เข้าข่ายมีความผิดตามกฏกติกาที่วางไว้ มีมาก ซึ่ง สคบ.ได้เข้าไปดำเนินการจัดการอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการขึ้นป้ายโฆษณา แล้วเข้าข่ายมีความผิดมากที่สุด ทั้งในด้านภาพ ถ้อยคำ และการที่ไม่ลงรายละเอียดให้ครบตามที่กฏหมายกำหนด เช่น เบียร์สิงห์ ซึ่งทางสคบ. ได้ดำเนินการไป แต่ทางเบียร์สิงห์ ขอสู้คดี และไม่ยอมเอาป้ายลง ทั้งที่ตามกฏหมายแล้วต้องเอาลง ดังนั้นทางเบียร์สิงห์ถือว่าทำผิดกฏหมาย ก็ต้องมีการปรับเป็นรายวันกันต่อไป ในวันนี้ คดีดังกล่าวยังคงมีการพิจารณากันอยู่”

ทางสคบ.เคยพบกรณีที่ต้องการใช้ สคบ. และสื่อ ให้กลายมาเป็นเครื่องในการทำการตลาดมาแล้ว โดยสินค้าดังกล่าวเป็นถุงยางอนามัยยี่ห้อหนึ่ง ที่ใช้วัยรุ่น อายุประมาณ 13-15 ปี มาขึ้นป้ายโฆษณา ซึ่งในตอนแรก เจ้าของสินค้าบอกว่า ไม่ทราบถึงข้อกฏหมาย และขอสู้ความ แต่เนื่องจากเป็นความผิดจริง ก็ได้เสียค่าปรับกันไป และในภายหลังได้มาสารภาพว่า จริงๆแล้วทราบว่า สิ่งที่ทำมีความผิด แต่เขาตั้งใจทำผิด เพราะต้องการให้ สคบ. และสื่อ นำไปเผยแพร่ หรือเรียกได้ว่าเป็นการทำตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ได้ผลกับสินค้า เพราะทำให้เป็นที่รู้จัก

นางรัศมี กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าว แม้สคบ.จะใช้บทลงโทษตาม มาตรา 48 ได้เพียงจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่หากพบว่า มีการทำผิดซ้ำซากบ่อยขึ้น ทางสคบ.สามารถนำเรื่องฟ้องศาลให้มีการลงอาญา และให้มีกรอกประวัติลงทะเบียนแฟ้มประวัติคดีต่อไป

นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ผู้ที่ทำผิดลักษณะดังกล่าว นอกจากจะเอาผิดทางกฏหมายแล้ว ทางสมาคมฯมองว่า น่าจะมีการประจานความผิดนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป  
กำลังโหลดความคิดเห็น