xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.หวั่นค่าบาทแข็งฉุดจีดีพีโตเพียงร้อยละ 3.09

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุถ้าหากค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีกร้อยละ 10 จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 3.09 แต่ถ้าหากเพิ่มผลิตภาพทั้งทุนและแรงงานจะช่วยลดผลกระทบลงได้

“โครงการศูนย์วิเคราะห์รายงานสภาวะและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 3” สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาเรื่อง ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อกำไรของอุตสาหรรมและเศรษฐกิจโดยรวมผ่านแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค โดยมีข้อสมมติฐานว่า เงินบาทแข็งค่าในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าไม่เปลี่ยนแปลง และปัจจัยอื่นๆ คงที่ ผลจากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าต่ำและสัดส่วนการส่งออกสูงจะได้รับผลกระทบต่อกำไรมากที่สุด และยังพบว่า ถ้าหากค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีกร้อยละ 10 จากปัจจุบันที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบทำให้อัตราการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 3.09 และ สศอ.ยังพบว่า การผันผวนของค่าเงินบาททุกร้อยละ 1 จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประมาณร้อยละ 0.1 และกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม (จีดีพีอุตสาหกรรม) ร้อยละ 0.09

นอกจากนี้ ยังทำให้อัตราการขยายตัวของตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจต่างลดลง เช่น การบริโภคภาคเอกชน จากร้อยละ 2.36 เป็นร้อยละ 1.87 การลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากร้อยละ 0.59 เป็นร้อยละ 0.13 และการส่งออกลดลงจากร้อยละ 13.23 เป็นร้อยละ 8.49 ในขณะที่การขยายตัวของการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 7.28 เป็นร้อยละ 9.34

อย่างไรก็ตาม หากมีการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (labor productivity) ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม และเพิ่มผลิตภาพจากการลงทุน (capital productivity) ให้มากขึ้น ผ่านการนำเข้าเครื่องจักรที่ทันสมัย และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการทำวิจัยและพัฒนา จะทำให้ผลกระทบที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง เช่น ถ้าหากเพิ่ม ศักยภาพการผลิตของแรงงาน ร้อยละ 10 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงไปน้อยกว่า โดยจะอยู่ในระดับ 3.26 ไม่ใช่ 3.09

สศอ.ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทและดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 15 จาก 41.04 มาเป็น 34.75 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 15.5 ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกของไทยที่พึ่งการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทจะแตกต่างกันตามอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการนำเข้าต่ำ และสัดส่วนการส่งออกสูง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า หลังจากไทยเผชิญภาวะอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมากว่า 1 ปี ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนหลักในเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม แต่ยังต่ำกว่าเกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์ ขณะที่ผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมพบว่า ไทยยังสูงกว่าประเทศจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่มีศักยภาพต่ำกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับการเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน 17 ประเทศ รวมประเทศไทย ในระยะยาวพบว่า ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งยังสูงกว่าตุรกี จีน เวียดนาม และศรีลังกา ในด้านมูลค่าเพิ่มสินค้าและมูลค่าผลิต
กำลังโหลดความคิดเห็น