xs
xsm
sm
md
lg

สทท.ขอสิทธิ์กู้ดบ.ต่ำ ยื่นนายกฯกู้ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทท.เตรียมร่อนหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอรัฐบาลพิจารณาให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชี้รัฐให้มองท่องเที่ยวเป็น 2 มิติ ทั้งการกระตุ้นนักท่องเที่ยว และ การลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ระบุควรใช้วิกฤติเป็นโอกาสยึดช่วงโลว์ซีซั่นให้ผู้ประกอบการปรับปรุงกิจการ เตรีมพร้อมรับมือต่อในช่วงไฮซีซั่น ด้านความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.การท่องเที่ยว มติเอกฉันท์ไม่มีรัฐมนตรีนั่งประธานบอร์ด

นายกงกฤช หิรัญกิจ  ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมร่างหนังสือ เพื่อยื่นเสนอต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนนี้  โดยเนื้อหาหลัก คือ ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเรื่องของการพิจารณาให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน  อาทิ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ  และ การลดหย่อนภาษี

ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา การมองดูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทุกคนจะมุ่งถึงการอุตสาหกรรมที่หารายได้เข้าประเทศ โดยมองกันที่จำนวนเม็ดเงิน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่ลืมมองเรื่องของการสนับสนุนการลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ ได้มีการพัฒนาสินค้า โดยเฉพาะเรื่องของโรงแรมที่พัก และบริการให้ได้มาตรฐาน ซึ่งหากรัฐบาลต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพ ตลาดไฮเอนด์ ที่มีการจับจ่ายสูง ดังนั้นก็ต้องตระหนักถึงมาตรฐานตัวสินค้าที่จะมารองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วย

นายกงกฤช กล่าวต่อว่า ต้องการให้รัฐบาลมองการท่องเที่ยวเป็น 2 มิติ  คือ 1. การหารายได้เข้าประเทศจากการส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหน้าที่หลักของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ2. เป็นมิติที่รัฐบาลต้องดูด้วยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ด้วย   เพราะการก่อสร้าง หรือรีโนเวตโรงแรม ล้วนก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งสิ้น

ใช้วิกฤติเป็นโอกาส เร่งพัฒนาเพื่ออนาคต
ดังนั้น เมื่อถึงช่วงโลว์ซีซั่น ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนน้อย ผู้ประกอบการควรใช้เวลานี้เพื่อปรับปรุงโรงแรมที่พัก หรือเพิ่มการลงทุนก่อสร้างอะไรใหม่ๆเข้ามา  สำหรับเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่นในสิ้นปี และในปีนี้สถานการณ์ทางการเมืองได้กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว  แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ทุกอย่างก็จะจบลงด้วยนี้ การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะดำเนินต่อไป รัฐจึงน่าจะใช้โอกาสนี้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของเงินลงทุน

“ท่องเที่ยวของประเทศไทยยังมีอนาคตที่สดใส ผมเชื่อว่าทั้งผู้ประกอบการคนไทย และ ต่างชาติ  ยังต้องการเข้ามาลงทุนเพิ่ม รัฐบาลก็ควรให้การสนับสนุน เพราะภาคท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน การก่อสร้างโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ล้วนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึงรากหญ้าเช่นกัน อย่างการส่งเสริมการลงทุนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นรัฐก็ควรช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งประเทศด้วย”

นอกจากนั้น รัฐบาลควรเร่งลงทุนเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคตามแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ต้องการโปรโมต เพื่อเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวเช่นที่ผ่านมา รัฐบาลลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เกาะช้าง ปัจจุบันเกาะช้างก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลควรมองหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆแล้วเข้าไปพัฒนา เพราปัจจุบันต้องยอมรับว่าที่ภูเก็ตและ เกาะสมุย  มีจำนวนนักท่องเที่ยวหนาแน่นมากโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นในปลายปี  จึงควรเพิ่มทางเลือกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว และยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายเรื่องแหล่งท่องเที่ยวด้วย

“ที่ผ่านมาเรามองภาคท่องเที่ยวเพียงแค่กลยุทธ์การตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศให้ได้มากที่สุด แต่เราลืมมองว่าการท่องเที่ยวก็ต้องลงทุน ซึ่งรัฐบาลเคยสอบถามเรามาว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ดังนั้นเรื่องการลงทุนจึงมีความสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เม็ดเงินที่จะหมุนเวียนในประเทศ แต่ยังมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะโรงแรมระดับเชนต่างๆ  เพราะระดับของโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร หรือ สินค้าบริการต่างๆ จะสะท้อนได้ดีว่า เราจะได้นักท่องเที่ยวในระดับคุณภาพใด และเขาจะมีการจับจ่ายมากเท่าใดเมื่อเข้ามาพักที่ประเทศไทย”

รมว.ไม่ได้นั่งประธานบอร์ด
นายกงกฤช ยังกล่าวในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.การท่องเที่ยว พ.ศ.... ว่า ล่าสุด ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งของภาครัฐบาล และ ของ สนช. เห็นตรงกันแล้วว่า ตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(บอร์ด) จะเป็นบุคคลที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ซึ่งถือเป็นหลักปฎิบัติของทุกกระทรวงอยู่แล้วว่ารัฐมนตรีว่าการไม่จำเป็นต้องนั่งเป็นประธานในบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ  เพราะถือเป็นหน่วยงานด้านการปฏิบัติการ โดยรัฐมนตรีควรจะดูแลเรื่องการออกนโยบายหรือการมอบหมายนโยบาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลกับ สนช. ยังเห็นไม่ตรงกันคือเรื่องของ คณะกรรมการในบอร์ดททท. ซึ่ง สนช.เห็นว่า ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯและ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นกรรมการในบอร์ดด้วย เพราะเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของสถานที่แหล่งท่องเที่ยว ส่วนรัฐบาลมองว่า ควรมีปลัดกระทรวงการคลัง, ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ตัวแทนจากกฤษฎีกา ตรงนี้ สนช.และรัฐบาลคงต้องมาคุยในรายละเอียด เพราะ ขณะนี้ ททท. ขึ้นกับกระทรวงการท่องเที่ยว ฯ และ มีหน้าที่ส่งเสริมการตลาดให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ความจำเป็นในเรื่องของตัวแทนที่จะกำกับดูแลนโยบายจึงไม่น่าจำเป็น คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะสรุปสมบูรณ์ได้เร็วๆนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น