xs
xsm
sm
md
lg

อีโคคาร์..อีกหนึ่งความหวังของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยยุคน้ำมันแพง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความจำเป็นที่ทำให้มีการฟื้นโครงการรถยนต์อีโคคาร์
แนวคิดเกี่ยวกับโครงการรถยนต์อีโคคาร์ ซึ่งย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2546 นั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาและผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กภายใต้ยี่ห้อของตนเอง ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติและสเปกของรถยนต์ตามที่ทางการกำหนดเป็นแนวทางไว้ จึงจะสามารถเข้าโครงการรถอีโคคาร์ โดยจะให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเป็นพิเศษจากภาครัฐ
ทั้งนี้หลักการและเหตุผลที่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโครงการรถยนต์อีโคคาร์ตั้งแต่แรกนั้น พอสรุปได้ดังนี้
1. เพื่อสร้าง Product Champion ตัวใหม่เพิ่มเติมจากรถยนต์บรรทุกปิกอัพ
จากการที่ภาครัฐได้มีการกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยในช่วงอดีตหลายปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ได้ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นดาวเด่นซึ่งได้ครองตลาดรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศรวมทั้งมีบทบาทสำคัญที่สุดในการส่งออกรถยนต์ของไทย นั่นก็คือ รถยนต์บรรทุกปิกอัพขนาด 1 ตัน โดยในช่วงปี 2548-49 ที่ผ่านมา รถยนต์ปิกอัพมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 64 ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดทุกประเภท ทั้งนี้เหตุผลต่างๆ ที่ได้ทำให้รถปิกอัพเป็นรถยอดนิยมของตลาดเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ได้แก่ ความเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ การประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งในอดีตมีราคาขายปลีกต่ำกว่าน้ำมันเบนซินค่อนข้างมาก รวมทั้งภาษีสรรพสามิตรถยนต์ปิกอัพที่มีอัตราต่ำเพียงร้อยละ 3 เทียบกับร้อยละ 30-50 ในกรณีของรถยนต์นั่ง (ดูในตารางโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์) นอกจากนั้นปริมาณส่งออกรถปิกอัพยังมีกว่า 3-4 แสนคันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 65-70 ของยอดส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทยในช่วงปี 2548-49 ทั้งนี้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆของโลกได้ย้ายฐานการผลิตรถยนต์ปิกอัพมายังประเทศไทย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ารถยนต์ปิกอัพก็คือ Product Champion ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยและเป็นผลิตภัณฑ์ตัวหลักที่จะนำพาให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้ตระหนักถึงข้อจำกัดหรือความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผลิตภัณฑ์รถยนต์หลักดังกล่าวเพียงรายการเดียว ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์รายการใหม่ขึ้นมาเคียงคู่กับรถยนต์ปิกอัพจึงได้นำไปสู่ข้อเสนอโครงการพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ ทั้งนี้คาดหวังกันไว้ว่ารถยนต์อีโคคาร์จะมาเป็นโปรดักซ์ แชมเปียนตัวใหม่มาเสริม หรือแม้กระทั่งอาจมาแทนรถยนต์ปิกอัพในอนาคต ยามที่ตลาดรถยนต์ปิกอัพอาจจะเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ทั้งนี้ผู้สนับสนุนโครงการอีโคคาร์เห็นว่าการส่งเสริมจากภาครัฐด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รถยนต์อีโคคาร์ประสบความสำเร็จ ดังเช่นที่รถปิกอัพได้สำเร็จมาแล้ว

2. เพื่อสนับสนุนนโยบายประหยัดการใช้พลังงาน
ภาวะวิกฤตของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของภาครัฐในการการดำเนินนโยบายอนุรักษ์พลังงานของประเทศ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของการพัฒนายานยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดเชื้อเพลิง ดังนั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการผลักดันโครงการพัฒนารถยนต์นั่งอีโคคาร์ ซึ่งกำหนดว่าจะต้องมีคุณสมบัติโดดเด่นในการประหยัดเชื้อเพลิง พร้อมกับได้เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการต่างๆ เช่น ด้านภาษี เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์นั่งอีโคคาร์ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนและราคาจำหน่ายรถยนต์อีโคคาร์อยู่ในระดับต่ำ อันจะเอื้ออำนวยและจูงใจให้มีการผลิตจากผู้ประกอบการ รวมทั้งการใช้จากผู้บริโภคในวงกว้าง ทั้งนี้ การส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์จะเป็นการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่สอดคล้องกับนโยบายอนุรักษ์พลังงานของรัฐต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปี 2547 ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ลดอัตราภาษีรถยนต์ที่สามารถใช้พลังงานทดแทน อย่างเอทานอล และก๊าซเอ็นจีวี (ดูในตารางโครงสร้างภาษี)

ยานยนต์ของไทยในอนาคต…มาตรฐานที่ควรจะเป็น
กล่าวได้ว่าแนวคิดโครงการรถอีโคคาร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานรถยนต์ของไทย หากประเทศไทยมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งอันที่จริงแล้ว คุณสมบัติหลักๆ ของรถยนต์อีโคคาร์ที่กำหนดโดยภาครัฐ น่าจะเป็นแนวโน้มของรูปแบบมาตรฐานสำหรับรถยนต์โดยทั่วไปในอนาคต ที่จะผลิตโดยอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น
1. คุณสมบัติในการประหยัดเชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กม. (20 กม./ลิตร)
2. การปล่อยมลพิษไอเสียไม่เกินมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่ระดับยูโร 4 (ได้แก่ การจำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ให้เกิน 1.0 กรัม/กม. และไฮโดรคาร์บอนไม่ให้เกิน 0.10 กรัม/กม. สำหรับรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน เป็นต้น)
3. การได้มาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ของของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งองค์การสหประชาชาติสำหรับภาคพื้นยุโรป (United Nations Economic Commission for Europe : UNECE) ซึ่งนอกจากจะมีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานสำหรับชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตหรือประกอบขึ้นเป็นรถยนต์อย่างเข้มงวดแล้ว ยังได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการถูกชนในลักษณะต่างๆ เช่น การชนด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ตลอดจนการพลิกคว่ำของตัวรถ (Impact and Rollover Protection)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยประสงค์จะเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและการส่งออกสู่ตลาดโลกในอนาคตอย่างแท้จริงแล้ว ประเด็นเรื่องคุณภาพมาตรฐานถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะมีโครงการรถยนต์อีโคคาร์เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยจัดว่าได้มาตรฐานด้านต่างๆ อยู่ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้รถยนต์นั่งที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซี.ซี. มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7-8 ลิตรต่อ 100 กม. (12-15 กม./ลิตร) และต้องได้มาตรฐานการจำกัดมลพิษไอเสียตามที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันไว้ว่าขณะนี้ให้ใช้ที่ระดับยูโร 3 (จำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ให้เกิน 2.3 กรัม/กม. และไฮโดรคาร์บอนไม่ให้เกิน 0.20 กรัม/กม. สำหรับรถยนต์นั่งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน) และใช้ชิ้นส่วน/ส่วนประกอบหลักๆ ของรถยนต์ที่ได้มาตรฐานคุณภาพของกระทรวงอุตสาหกรรม (อาทิ กระจกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ระบบการควบคุมพวงมาลัย ระบบเบรก ระบบไฟส่องสว่าง ฯลฯ) ซึ่งนับว่ายังห่างจากมาตรฐานระดับสูงที่กำหนดเป็นมาตรฐานของรถยนต์อีโคคาร์

โปรดักซ์ แชมเปียนใหม่….ความหวังแห่งอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าโครงการรถยนต์อีโคคาร์ เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อประเทศไทย แม้ว่าในระยะสั้นจะยังไม่สามารถกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศที่กำลังซบเซาในขณะนี้ได้มากนัก เพราะกว่าที่รถยนต์อีโคคาร์จะถูกผลิตออกสู่ตลาดคงต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าโครงการอีโคคาร์ซึ่งค้างคามาหลายปีตั้งแต่ยุครัฐบาลที่แล้วสามารถเดินหน้าดำเนินการได้ ก็จะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศโดยรวม อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ใหม่ๆ หรือโปรดักซ์ แชมเปียน ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า ในทศวรรษปัจจุบันรถยนต์บรรทุกปิกอัพคือดาวรุ่งที่จะนำพาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยสู่การเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคนี้ แต่การมีวิสัยทัศน์ที่มองข้ามไปยังทศวรรษข้างหน้าก็มีความสำคัญยิ่ง หากเป้าหมายระยะยาวของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยคือการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้อย่างแท้จริง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มของตลาดรถยนต์ของโลกในอนาคต จะมุ่งเน้นที่คุณภาพและคุณสมบัติหลักของยานยนต์ดังกล่าวทั้ง 3 ประการมากขึ้น คือคุณสมบัติในการประหยัดเชื้อเพลิง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันของโลกนับวันจะขยับสูงขึ้น รวมทั้งกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความตื่นตัวในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดรูปแบบและสมรรถนะของยานยนต์ที่ตลาดจะต้องการในอนาคต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่จะเข้าโครงการอีโคคาร์หรือรถยนต์อื่นๆก็ตาม หากมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้ง 3 ประการแล้ว ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคตลอดจนประชาชนโดยรวม ซึ่งสมควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น