xs
xsm
sm
md
lg

“อุดม ตันติประสงค์ชัย” กับสไตล์บู๊ บุ๋น รวดเร็ว ฉับไว กล้าชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องยอมรับว่าทุกธุรกิจย่อมหนีไม่พ้นภาวะการแข่งขัน แต่ความเข้มข้นของการแข่งขันนั้นจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสไตล์ของผู้บริหาร หรือสถานการณ์ในขณะนั้น

สไตล์การบริหารของ"อุดม ตันติประสงค์ชัย " ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันทูโก จำกัด เจ้าของธุรกิจสายการบิน "วัน-ทู-โก " บัทเจ็ทแอร์ไลน์รายแรกของไทย นั้นแตกต่างจากสายการบินอื่น โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์) อย่างสิ้นเชิง ด้วยเพราะบุคลิกเฉพาะตัวที่โดดเด่น ทั้งบู๊ บุ๋น กล้าชน กล้าตัดสินใจ อีกทั้งยังคร่ำหวอดในวงการธุรกิจการบินมาถึง 15 ปี จึงทำให้ทุกวันนี้ "วัน-ทู-โก " ยืนหยัดบนแถวหน้าของธุรกิจการบินได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

แนวคิดการทำงานของอุดมใช้หลักง่ายๆ กระชับ ฉับไว และไม่ซับซ้อน มองในมุมที่เป็นผู้บริโภค ไม่มองในมุมผู้ประกอบการ เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรแบบไหน

นั่นคือที่มาของแนวคิดการให้บริการแบบบัทเจ็ทแอร์ไลน์ ที่มีจุดเด่นคือ ขายตั๋วราคาเดียวทุกที่นั่ง บริการอาหารว่างและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน ซึ่งต่างจากโลว์คอสต์ทั่วๆไป ที่ใช้วิธีคิดค่าตั๋วโดยสารแบบใครจองก่อนได้ราคาถูก แต่หากจองช้าราคาจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากนั้นลูกค้ายังต้องจ่ายเงินเพิ่มในส่วนของภาษีVAT และค่าธรรมเนียมน้ำมัน อีกทั้งบางสายการบินยังต้องวิ่งแย่งที่นั่งเหมือนขึ้นรถขนส่งสาธารณะ เพราะไม่มีบริการบุ๊คที่นั่งให้ ซึ่งดูแล้วยุ่งยาก

และด้วยความเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว ไม่ต้องรอประชุมผู้ถือหุ้น จึงสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเท่าทันตามกระแสตลาด ทั้งเรื่องเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มเที่ยวบิน และหยุดบิน หากเส้นทางนั้นไม่สามารถทำกำไร และไม่เป็นภาระในการดำเนินงาน

อุดมเล่าว่า เริ่มเข้าสู่ธุรกิจสายการบินมาเมื่อ 15 ปี ก่อน เป็นการลงทุนในกัมพูชา ด้วยการเปิดสายการบินกัมพูชาอินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ หรือ CIA บินเส้นทาง กรุงเทพ-พนมเปญ และในปี 2538 จึงถือกำเนิดสายการบิน โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส โดยบินในเส้นทางเชียงใหม่-อุดรธานี จากนั้นก็ได้ใช้แบรนด์โอเรียนท์ไทย เพื่อเปิดเส้นทางบินอีกหลายเส้นทาง อาทิ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง และ กรุงเทพฯ-เกาหลี ตลอดจนเปิดให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

เมื่อไทยเปิดน่านฟ้าเสรี อุดมจึงโดดเข้ามาลงหลักปักฐานกับธุรกิจสายการบินภายในประเทศอย่างจริงจังภายใต้แบรนด์ "วัน-ทู-โก บายโอเรียนท์ไทย" ใช้คำนิยามว่าเป็นสายการบินแบบประหยัด แต่ไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์) เพราะยังเน้นการบริการที่ดี ให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุด เพราะธุรกิจสายการบินจะเติบโตไปไม่ได้หากมีบริการที่ไม่ดีไม่ประทับใจผู้โดยสาร

วันนี้อุดมมั่นใจว่า "วัน-ทู-โก"สามารถเดินได้ด้วยขาของตัวเอง จึงสลัดคำว่า"บายโอเรียนท์ไทย"ออก เพื่อจัดวางโพซิชันนิงของ"วัน-ทู-โก"ให้ชัดเจน ทั้งแผนธุรกิจ และการตลาด เพื่อที่จะรุกไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และฝ่าฟันมรสุมลูกใหญ่ไปได้ เพราะมีคู่แข่งขันทั้งสายการบินในประเทศ และจากต่างประเทศ อย่างการบินไทยนกแอร์และแอร์เอเชีย

ปีนี้เป็นครั้งแรกของ "วัน-ทู-โก" ที่จะเปิดเส้นทางบินต่างประเทศบินกรุงเทพฯ-พนมเปญ และเป็นปีแรกอีกเช่นกันที่"วัน-ทู-โก"ทุ่งงบกว่า 10 ล้านบาท เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ และสปอร์ตโฆษณาทางวิทยุ พร้อมสื่อโฆษณาในรูปแบบอื่นๆ สร้างการรับรู้สู่กลุ่มผู้บริโภค

และเขาประกาศอย่างชัดเจนว่าจะสร้างแบรนด์"วัน-ทู-โก" ให้อยู่ในใจของผู้บริโภคทั้งคนไทยและต่างชาติ ภายใน 2 ปี นับจากนี้ก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อธุรกิจเข้าที่เข้าทางอุดมจะละมือจากการบริหารส่งไม้ต่อให้ลูกๆ ดำเนินกิจการต่อไป ไฮไลท์แนวคิดของอุดมอยู่ที่กล้าประกาศชนกับสายการบินข้ามชาติที่มีอดีตบิ๊กรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นแบล็คอัพอย่าง ไทยแอร์เอเชียโดยตรง ด้วยเหตุผลว่า "ไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามากอบโกยเงินออกไปนอกประเทศ และทำธุรกิจแบบเอารัดเอาเปรียบคนไทย" !!
กำลังโหลดความคิดเห็น