ร.ฟ.ท.ร่วมกับ บวท.ลงนามข้อตกลงความร่วมมือโครงการบริหารเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรถไฟเส้นทางลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มความถี่ในการเดินรถและการขนส่งสินค้า โดยจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการทางด้านการเดินขบวนรถไฟและควบคุมการจราจรในระบบราง ตลอดจนการให้บริการติดต่อสื่อสารที่ใช้ในการเดินขบวนรถไฟ
นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการบริหารความจุรางรถไฟ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) โดยผู้ลงนามของแต่ละฝ่าย ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม นายบัญชา คงนคร รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายปรีติ เหตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้ เป็นความร่วมมือในการดำเนินการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความถี่ในการเดินรถ และการขนส่งสินค้า สำหรับนำมาใช้ในการบริหารจัดการทางด้านการเดินขบวนรถไฟและควบคุมการจราจรในระบบราง และการให้บริการติดต่อสื่อสารที่ใช้ในการเดินขบวนรถไฟ โดยครอบคลุมเส้นทางจากสถานีคลังสินค้า ICD ลาดกระบัง- ชุมทางศรีราชา-ท่าเรือแหลมฉบัง ให้มีความทันสมัยและสามารถใช้ประโยชน์จากรางรถไฟได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางนี้ นับว่า เป็นเส้นทางขนส่งทางรางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าจากภาคส่วนต่างๆ สู่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นหน้าด่านในการขนส่งสินค้าสู่ตลาดโลกในต่างประเทศ ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟ ควบคุมการเดินรถ และความปลอดภัยของการขนส่งทางรถไฟ รวมทั้งการบริหารจัดการขนส่งสินค้า และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐทางด้านการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ โดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่ศึกษา การจัดการในส่วนของการจัดตารางการเดินรถไฟ การพยากรณ์ให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในการขนส่งทางราง และใช้กระบวนการทางธุรกิจมาวิเคราะห์เนื้อหาแนวทางการบริหารจัดการระบบขนส่งและกระจายสินค้า (Logistics) ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคณะผู้ร่วมศึกษา ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งการจัดทำแผนการศึกษาจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2550
ผลจากความร่วมมือกันครั้งนี้ เพื่อบูรณาการข้อมูลระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขนส่งทางรางด้วยรถไฟขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งและกระจายสินค้าลอจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร และนำไปสู่การเป็น Multi-Modal Transportation Center เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศ และจะนำมาใช้เป็นต้นแบบงาน เพื่อให้บริการต่างๆ ของ ร.ฟ.ท.เช่น การขนส่งสินค้าทางรถไฟ การเดินรถและควบคุมจราจรทางรถไฟ ความปลอดภัยแก่ขบวนรถไฟ บริการข่าวสารแก่ผู้ใช้บริการรถไฟ การค้นหาตำแหน่งรถไฟ การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารสารสนเทศทางระบบรางระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และเป็นตัวอย่างของการบูรณาการทรัพยากรและการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญของหน่วยงานในสังกัด