ผู้อำนวยการ สบน.มั่นใจไทยเจรจาเรื่องเงินกู้โครงการรถไฟฟ้ากับเจบิกได้ข้อยุติภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยตั้งเป้ากู้เงินประมาณ 300,000 ล้านเยน พร้อมเสนอข้อต่อรองขอสงวนสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องเลือกผู้รับเหมา หรือซื้อวัสดุและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น แต่หากการเจรจาล้มเหลวก็พร้อมจัดหาเงินลงทุนในประเทศแทน ส่วนการออกพันธบัตรของ ร.ฟ.ท.เพื่อใช้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ มั่นใจจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวแสดงความมั่นใจว่า การเจรจากรอบการกู้เงินเพื่อลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า ระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) จะได้ข้อยุติภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยล่าสุด ผู้แทนของญี่ปุ่นมีกำหนดการจะเจรจากับผู้แทนรัฐบาลไทย ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ซึ่งกระทรวงการคลัง มีความพร้อมทั้งในกรณีที่การเจรจากู้เงินลงทุนประสบผลสำเร็จ และหากล้มเหลว ไทยก็พร้อมจัดหาเงินลงทุนในประเทศแทน
“สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการเข้ามาตรวจสอบ และเจรจากับไทย คือ ต้องการทราบความพร้อม โครงการรถไฟฟ้า 3 เส้นทางแรก ที่ไทยจะดำเนินการ ส่วนไทยก็ต้องการเจรจาให้ญี่ปุ่นให้เงินกู้แก่ไทย โดยใช้ระยะเวลาพิจารณาแบบเร่งด่วน (Fast Track) เพื่อให้ทราบผลการให้กู้ยืมโดยเร็ว” นายพงษ์ภาณุ กล่าว
สำหรับรายละเอียดในการกู้ยืมนั้น ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ไทยต้องการเงินกู้เพื่อการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าประมาณ 300,000 ล้านเยน หรือประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท โดยเจบิกจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับดอกเบื้ยที่เคยให้กู้ยืมร้อยละ 0.75 และมีระยะเวลาในการผ่อนชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้น 30-40 ปี รวมทั้งฝ่ายไทย มีข้อต่อรองสำคัญ คือ สงวนสิทธิ์ไม่อยู่ภายใต้ข้อผูกพัน ว่า การกู้ยืมของไทยต้องเลือกบริษัทรับเหมา หรือซื้อวัสดุและเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงการคลัง และรัฐบาลไทย
ส่วนการออกพันธบัตรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะประกวดราคาในเส้นทางแรก คือ ตลิ่งชัน-บางซื่อ ระยะทาง 15 กิโลเมตร วงเงิน 13,133 ล้านบาท นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตร ซึ่งโดยภาพรวมจะมีการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินลงทุนประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบประมาณที่ ร.ฟ.ท.เคยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ประมาณ 2,000 ล้านบาทไปแล้ว โดยกระทรวงการคลัง มั่นใจว่า การออกพันธบัตรของ ร.ฟ.ท.จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงที่ดอกเบี้ยผลตอบแทน ทั้งจากเงินฝากและเงินลงทุนในทางเลือกอื่นมีผลตอบแทนต่ำ