xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้า ชี้ สหรัฐฯมั่วนิ่ม PWL ตัดจีเอสพีสินค้าไทย-พาณิชย์กร้าว! แยงกี้ห้ามชี้นิ้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ สหรัฐฯไม่ควรนำเรื่องสิทธิบัตรยา ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าของไทย เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ระบุ การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของไทย ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ ด้านพาณิชย์ ยืนกราน ไม่เดินตามก้นสหรัฐฯชี้นิ้วทำแอกชันแพลนปราบละเมิดแลกปลด PWL “พวงรัตน์” ระบุ หากทำแล้วแก้การละเมิดไม่ได้ ไทยจะเสียหาย ด้านทูตสหรัฐฯ บี้ “เกริกไกร” อีกรอบ “อภิรดี” ย้ำห้ามอ้างมาตรา 301 ตัดจีเอสพี ลั่นฟ้อง WTO แน่ ขณะที่ “การุณ” บอกสหรัฐฯจะพอใจหรือไม่ ตอบแทนไม่ได้

วันนี้ (23 พ.ค.) นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯไม่เห็นด้วยกรณีที่ไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (PWL) และเห็นว่าประเทศไทยควรยกเลิกการใช้สิทธิดังกล่าวไปก่อน ว่า เท่าที่ภาคเอกชนได้ติดตามเรื่องสิทธิบัตรยา และการที่สหรัฐฯเลื่อนอันดับประเทศไทยจากจับตามอง เป็นระดับจับตามองพิเศษ เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นคนละเรื่องกัน เพราะการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของไทย ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ ส่วนช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ที่สินค้าของไทยหลายรายการอยู่ระหว่างการพิจารณาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เชื่อว่า สหรัฐฯจะไม่นำเรื่องของสิทธิบัตรยามาตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าของไทย

แต่หากสินค้าของไทยบางรายการอาจจะถูกตัดสิทธิจีเอสพี จะเกี่ยวกับมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยที่เข้าไปยังสหรัฐฯเกินกว่าเกณฑ์ที่สหรัฐฯกำหนดเป็นสำคัญ แต่ก็เชื่อว่า ไทยจะมีการเจรจาต่อรองโดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และยังเห็นว่า กระทรวงพาณิชย์ของไทยควรต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการ แม้สหรัฐฯกำหนดว่าไม่ต้องทำแผนปฏิบัติการก็ได้ แต่การที่ไทยทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้รู้กรอบการทำงาน การแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าไทยจริงจังต่อการปราบปรามปัญหาดังกล่าว

นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ไทยยังไม่กำหนดที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (แอกชันแพลน) ร่วมกับสหรัฐฯ เพราะต้องหารือผู้บริหารระดับสูงก่อน โดยส่วนตัวมองว่า การทำแอกชันแพลนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่หากจัดทำแล้ว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามแผน จะส่งผลเสีย หรือหากไม่จัดทำ ก็จะไม่สร้างความกดดันให้ไทย แต่อาจทำให้การแก้ไขปัญหาร่วมกับสหรัฐฯยากขึ้น และทำให้ยังอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองพิเศษ (PWL) ต่อไป

สำหรับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น กรมจะเน้นแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เสร็จก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา และคงบังคับใช้ได้ทันรัฐบาลชุดนี้ ส่วนกฎหมายสิทธิบัตร คาดว่า จะไม่เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีเนื้อหาต้องการแก้ไขอีกมาก และเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภายวันนี้ นายราล์ฟ แอล.บอยซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย จะเข้าพบ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ คาดว่า จะหารือกรณีที่ไทยถูกขึ้นบัญชี PWL ซึ่งไทยจะไม่เสนอตัวทำแอกชันแพลนเสนอให้สหรัฐฯก่อน เหมือนกรณีของฟิลิปปินส์ เพราะไทยไม่เห็นด้วยที่จะต้องตามเกมของสหรัฐฯ แต่หากสหรัฐฯเสนอการแก้ไขปัญหาการละเมิดดังกล่าว ก็จะนำมาพิจารณา และอาจทำในรูปแบบความร่วมมือด้านอื่นๆ ทดแทน

ส่วนกรณีที่ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุขของไทย แถลงตอบโต้สหรัฐฯ กรณีที่ต้องการให้ยกเลิกการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ไม่มีผลทำให้สหรัฐฯมาใช้เป็นข้ออ้างทำลายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน หรือตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยได้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียว แต่ตามหลักการ ผู้ให้จะต้องไม่เลือกปฏิบัติกับประเทศใดประเทศหนึ่ง หากสหรัฐฯอ้างมาตรา 301 พิเศษตัดจีเอสพีสินค้าไทย จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นมาตรการฝ่ายเดียวถือว่าขัดหลักการองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งไทยสามารถฟ้องร้องต่อ WTO ได้

ขณะที่ นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การหารือกับทูตสหรัฐฯ วันนี้ ไทยยืนยันจะไม่จัดทำแอกชันแพลน เพื่อปราบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในไทย แต่จะทำในสิ่งที่ไทยเห็นสมควร เช่น ปราบปรามการละเมิด ซึ่งจะต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นให้มากขึ้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง ส่วนจะทำให้สหรัฐฯพอใจจนปลดไทยออกจาก PWL หรือไม่ ไม่ทราบ อยู่ที่การประเมินผลของสหรัฐฯ

ด้าน นายโรลันด์ ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชีย กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) กล่าวว่า จากผลสำรวจการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดยไอดีซี บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาตลาด ผลสรุปในปี 2549 ประเทศไทยยังคงมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ 80% และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

โดยที่ผ่านมา มีการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ 80 ครั้ง มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 421 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีข้างหน้าธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลกจะใช้จ่ายเงิน 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯไปกับซอฟต์แวร์บนเครื่อง PC หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่า ซอฟต์แวร์สำหรับเครื่อง PC มูลค่ากว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะถูกละเมิดลิขสิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น