xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวไทย ปี’50 ยังถูกกดดันจากปัจจัยลบ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจัยลบหลายประการ....ฉุดรั้งการขยายตัว
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แม้จะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 หลังจากผ่านเหตุการณ์ธรณีพิบัติมาเป็นเวลา 2 ปีเศษ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ได้มีปัจจัยลบหลายประการทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปัจจุบัน ปัจจัยลบดังกล่าว ยังคงดำรงอยู่และฉุดรั้งให้การท่องเที่ยวในปี 2550 ไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ควร ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
* การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
การปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 และยังเป็นการแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในมุมมองของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจชะลอหรือยกเลิกการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และเปลี่ยนการเดินทางไปเที่ยวยังประเทศอื่นที่มีค่าเงินอ่อนกว่าของไทย

* เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ
นอกเหนือจากการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ต้นปี 2547 และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงเมื่อใด โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทย เฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนั้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ธุรกิจสปา ธุรกิจโรงแรม ต่างต้องสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก และธุรกิจหลายอย่างต้องปิดกิจการไปแล้วนั้น ในส่วนของกรุงเทพมหานครและภาคอื่นๆของประเทศ ยังมีเรื่อง ความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเผาโรงเรียนและสถานที่ราชการในจังหวัดต่างๆ การชุมนุมการเมือง การลอบวางระเบิดในพื้นที่หลายจุดของกรุงเทพมหานคร เหล่านี้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มีความมั่นใจในการดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย เฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งมีความอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ขอยกเลิกการเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากภาคภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรป ที่มีความอ่อนไหวในเรื่องนี้น้อยกว่า

* ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
ปัญหาการชิงทรัพย์หรือการทำร้ายนักท่องเที่ยวเพื่อชิงทรัพย์สินและของมีค่า โดยนักท่องเที่ยว บางรายอาจถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ที่ยังคงมีอยู่เสมอ อย่างเช่น กรณีการสังหารนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่บริเวณหาดจอมเทียน เมืองพัทยา นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการหลอกลวงและเอาเปรียบนักท่องเที่ยว จากผู้ประกอบการธุรกิจบางรายที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ขายโปรแกรมท่องเที่ยวในราคาต่ำกว่าทุน แล้วบังคับให้ซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวอื่นในราคาแพงขึ้น ปัญหาการขายสินค้า ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในราคาสูงกว่าปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นอยู่เสมอ และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ บทลงโทษผู้กระทำความผิดยังอ่อนและไม่เด็ดขาด เหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อ ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยตลอดมา ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีทัศนคติเชิงลบต่อการท่องเที่ยวไทย จนลดและ/หรืองดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

* ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
จากการที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ไม่เฉพาะแต่ ฮ่องกงและสิงค์โปร์ ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งขันดั้งเดิมที่มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของตนอยู่เสมอ แล้วนั้น ปัจจุบัน ยังมีจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ที่ถือได้ว่าเป็นประเทศคู่แข่งรายใหม่ ซึ่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญและรุกตลาดการท่องเที่ยว โดยมีการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศ อย่างเต็มที่ และสามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้มากขึ้น ส่งผลให้ไทยมีคู่แข่งมากขึ้นที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวไป

แนวโน้ม ปี’50....เติบโตท่ามกลางปัจจัยลบ
แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยในปี 2550 คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยจะมีประมาณ 14.74 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 8.4 จากปีที่แล้ว และจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 5.47 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 12.78 อันเป็นการขยายตัวในอัตราที่ ชะลอลงทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.8 และร้อยละ 21.25 ตามลำดับ โดยตลาดนักท่องเที่ยวในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะยังคงเป็นตลาดหลัก ขณะที่ จีนและเกาหลีใต้ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มจะขยายตัว เพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ เพราะในปี 2550 ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ 80 พรรษา และการจัดงานในโอกาสครบ 120 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ประกอบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศ นอกจากนั้น การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียแห่งใหม่ และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้น เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวไทยสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่า จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายประการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตาม หากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทำให้นักท่องเที่ยวมีความเข้าใจและมั่นใจในการ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และหากปัจจัยลบต่างๆที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้คลี่คลายไปในทางที่ดี โอกาสที่จะเห็นการท่องเที่ยวไทยในปี 2550 สามารถขยายตัวได้ดังที่คาดไว้ และเป็น ภาคบริการที่เป็นบริบทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ยากลำบากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น