ไทยเบฟฯ อัดฉีด 540 ล้านบาท ตอกย้ำบัลลังก์ผู้นำตลาด รุกปั้นช้างไลท์-ดราฟท์ ปิดจุดอ่อนทะลวงผับ บาร์ ขยายฐานคนรุ่นใหม่ ปลุกตลาดเบียร์สดเต็มรูปแบบ ควักกลยุทธ์มิวสิคมาร์เก็ตติง สร้างโพซิชันนิงช้างดราฟท์ เล็งคลอดเบียร์ใหม่เสริมแนวรบครบพอร์ตโฟลิโอ ส่วนอาชาฉวยโอกาสรับการันตีเบียร์เหรียญทอง เร่งขยายดิสทริบิวเตอร์
นายสรกฤต ลัทธิธรรม ผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์เบียร์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ช้าง เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัฯทุ่มงบการตลาด 540 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเบียร์ช้าง 3 ตัว ได้แก่ เบียร์ช้างคลาสสิก ใช้งบ 450 ล้านบาท ช้างไลท์ 60 ล้านบาท และช้างดราฟท์ 30 ล้านบาท โดยบริษัทฯจะดำเนินการตลาดช้างไลท์และช้างดราฟท์ในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากขึ้น แตกต่างจากเบียร์ช้างคลาสสิคที่เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับซีอายุระหว่าง 25-45 ปีขึ้นไป
พร้อมกันนี้บริษัทฯยังวางแผนเปิดเบียร์ใหม่ลงสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับในปีนี้วางแผนเปิดตัวเบียร์ใหม่อีก 1 ตัว เพื่อให้สอดรับนโยบายของบริษัทฯที่วางไว้ว่าเป็น “Premiumization” หรือการผลิตเหล้า-เบียร์ให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ จากปัจจุบันเบียร์ของบริษัทฯ ประกอบด้วยเซกเมนต์อีโคโนมี ได้แก่ เบียร์ช้าง อาชา เซกเมนต์ไลท์เบียร์ คือ ช้างไลท์ ส่วนในตลาดสแตนดาร์ดและพรีเมียมบริษัทฯยังไม่มีในพอร์ตโฟลิโอ
สำหรับแผนการตลาดช้างไลท์และช้างดราฟท์ บริษัทฯจะเน้นขยายช่องทางออนพรีมิสหรือสถานบันเทิงผับ บาร์มากขึ้น เพื่อให้เข้าไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาเบียร์ช้าง คลาสสิก ไม่ได้ทำตลาดผ่านช่องทางออนพรีมิสมากนัก แต่จะจำหน่ายผ่านเทรดิชันนัลเทรดเป็นหลัก หลังจากนั้นบริษัทฯจะทยอยสร้างช้างไลท์และช้างดราฟท์ในตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมการดื่มไลท์เบียร์และเบียร์สดยังมีน้อย เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของกลุ่มคนเมือง โดยขณะนี้การกระจายสินค้าช้างไลท์และช้างดราฟท์ สัดส่วนกรุงเทพฯ ถึง 70% และต่างจังหวัด 30%
ล่าสุดบริษัทสร้างโพซิชันนิงช้างดราฟท์ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ได้วางสินค้ามากกว่า 1 ปี โดยไม่มีการทำตลาดแต่อย่างใด สำหรับช้างดราฟท์เจาะกลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง 20-35 ปี แตกต่างจากช้างไลท์ เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับเอถึงบี สำหรับช้างดราฟท์ดำเนินกลยุทธ์มิวสิคมาร์เก็ตติง ในรูปแบบดนตรีสดเป็นหลัก นำร่องด้วยการเปิดตัวแคมเปญ Chang Draught Journey to Glastonbury Festival ภายใต้คอนเซปต์ ช้างดราฟท์ ประสบการณ์สดใหม่ ไม่ออกไปหา ไม่มีทางเจอ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านศิลปิน วง ทีโบน รวมถึงการจัดกิจกรรมตามสถานบันเทิง
“การดำเนินกลยุทธ์มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง บริษัทฯไม่ได้คาดหวังด้านยอดขาย จะต้องการผลักดันให้ช้างดราฟท์มีโพซิชันนิงที่ชัดเจน รวมทั้งต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเบียร์สดจากในรูปแบบเหยือกมาสู่การดื่มในรูปแบบกระป๋องหรือขวด”
สำหรับแนวโน้มตลาดเบียร์มูลค่า 82,000 ล้านบาท ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เบียร์เซกเมนต์อีโคโนมี กว่า 70,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เนื่องจากสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนตลาดเบียร์ที่มีศักยภาพในอนาคต คือ เบียร์รสอ่อน ได้แก่ ไลท์เบียร์ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการตลาดคิดเป็น 1% ของตลาดรวม และเบียร์สดมีสัดส่วน 2-3% ของตลาดรวม โดยภาวะตลาดทรงตัว ซึ่งปัจจุบันคู่แข่งในตลาดเบียร์สดมีไฮเนเก้นลงมาทำตลาดอย่างจริงจัง
นายสรกฤต กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการตลาดเบียร์อาชา หลังจากที่ได้รับรางวัลเบียร์เหรียญทองจากประเทศออสเตรเลีย บริษัทฯจะมุ่งเน้นการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมเป้าหมายมากยิ่งขึ้นโดยการเพิ่มดิสทริบิวเตอร์ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการทำตลาดเจริญรอยตามเบียร์ช้าง คลาสสิก ก่อนหน้านี้เป็นเบียร์ที่ได้รับเหรียญทองมาแล้วเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดเบียร์เซกเมนต์อีโคโนมี ซึ่งปัจจุบันครองส่วนแบ่ง 50%