xs
xsm
sm
md
lg

“ไชโย”แพ้อีกคดีจ่าย10ล. พร้อมห้ามใช้ชื่อ“ซึบูราญ่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ทป.132/2547 ระหว่างบริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด เป็นจำเลยในข้อหาละเมิดสิทธิการใช้นามและชื่อทางการค้า เรียกค่าเสียหาย ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2547 โดยศาลฯ ได้พิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี

ที่มาของคดีเกิดขึ้นหลังจากที่ฝ่ายจำเลยซึ่งมีนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย กับนายพีระศิษฏ์ แสงเดือนฉาย เป็นกรรมการบริษัท ได้นำคำว่า “ซึบูราญ่า” ภาษาไทยและ “Tsuburaya” ในภาษาอังกฤษ มาใช้จดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และนำเอาไปใช้กับฉลากสินค้าหรือที่ตัวสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยใช้คาแรกเตอร์อุลตร้าแมน ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ติดต่อธุรกิจกับโจทก์เกิดความสับสนและเข้าใจผิดคิดว่าจำเลยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือเป็นตัวแทนของโจทก์ หรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ใช้คำดังกล่าว

ผลจากคำพิพากษาทำให้จำเลยต้องชำระค่าเสียหายให้กับโจทก์เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้จนกระทั่งชำระครบจำนวน รวมทั้งรับผิดชอบค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์เป็นจำนวน 80,000 บาท

ทั้งยังได้ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อ บริษัท ซึบูราญ่า ไชโย จำกัด หรือ Tsuburaya Chaiyo Co., Ltd. หรือมีคำว่า ซึบูราญ่า หรือ Tsuburaya อยู่ในชื่อของจำเลย และให้จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยมิให้มีคำว่า ซึบูราญ่า, Tsuburaya อีกต่อไป หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

นอกจากนี้ศาลฯ ยังห้ามมิให้จำเลยใช้คำว่า ?Tsuburaya Chaiyo, ?Tsuburaya Chaiyo Co., Ltd. ไปใช้บนฉลากสินค้า หรือตัวสินค้าอีกต่อไป

นายสัมโพธิ เทียนทอง ผู้รับมอบอำนาจจากฝ่ายโจทก์ให้เป็นผู้ยื่นฟ้องคดีนี้เปิดเผยว่า นอกจากฝ่ายจำเลยจะนำชื่อซึบูราญ่ามาใช้กับชื่อของบริษัทจำเลยแล้ว ยังได้ประกอบธุรกิจทำนองเดียวกับโจทก์และได้อนุญาตให้บุคคลต่างๆ นำเอาผลงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุลตร้าแมนซึ่งโจทก์สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่แรกไปผลิตสินค้าและระบุข้อความกำกับไว้ที่ฉลากหรือตัวสินค้าว่าเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เรื่อยมาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงในการประกอบธุรกิจของโจทก์แม้ว่าโจทก์จะได้มอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการใช้ชื่อ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษแล้วก็ยังเพิกเฉย โจทก์จึงจำเป็นต้องขอพึ่งบารมีศาลฯ

“ผมเชื่อว่าคำพิพากษานี้จะสร้างความกระจ่างให้กับผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ใช้ประโยชน์จากผลงานอุลตร้าแมนต่างๆ ยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเดือนที่แล้วนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ก็เป็นฝ่ายแพ้คดี ทป. 149/2547 โดยศาลฯ ได้วินิจฉัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว ในการนำเอาอุลตร้าแมนรุ่นใหม่ๆของ บริษัท ซึบูราญ่า โปรดัคชั่นส์ จำกัดมาอนุญาตให้บุคคลอื่นผลิตสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งลอกเลียนดัดแปลงสร้างอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนอีลิทขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาต และศาลฯ ได้พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 15 ล้านบาทแก่โจทก์ด้วย” นายสัมโพธิ เทียนทองในฐานะผู้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนฟ้องคดีทั้งสองกล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น