xs
xsm
sm
md
lg

แฟชั่นสร้างเทรนด์สินค้าเอาใจคุณตาคุณยาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายสัปดาห์ - นักการตลาดระดับโลกพูดถึงกลุ่มลูกค้าที่มีอายุมากขึ้น มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่เคยมีการปรับตัวทางธุรกิจอย่างจริงจัง เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ หรือพูดง่ายๆ ทำอย่างไรจึงจะติดตามไปให้บริการและสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคตได้ตลอดไป

แต่รูปธรรมของการปรับธุรกิจเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าสูงวัยเริ่มปรากฏเป็นจริงและมองเห็นความสำเร็จของการดำเนินงานเมื่อไม่นานมานี้ ยกตัวอย่างให้เห็นการปรับตัวของธุรกิจแฟชั่นที่ปรับแนวสินค้าไปรองรับตลาดของคนสูงอายุในญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่เสื้อผ้าคนแก่แนวโบราณอย่างที่เรานึกภาพเอาไว้แน่นอน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าแนวคิดค่านิยมในการแต่งตัวของคนญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนไปจากสมัยสาวๆ เคยอินเทรนด์อย่างไรในตอนเอ๊าะๆ ก็ยังคงอยากจะอินเทรนด์ไม่ตกยุคเหมือนเดิม แม้ว่าสังขารจะล่วงเข้าไปในวัย 70-80 ปีแล้วก็ตาม

ดูได้จากสินค้าเสื้อผ้าที่วางจำหน่ายในร้าน ทาคาชิมายะห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเปิดสาขาแรก ที่เน้นสินค้าแนว อินเทรนด์สำหรับกลุ่มลูกค้าสูงวัยโดยเฉพาะ หรือออกแนว “สไตลิส” เป็นหลัก

ที่น่าสนใจคือ ทำเลที่ตั้งของร้านค้าของทาคาชิมายะ ย่านชินจูกุ รอบๆที่คึกคักและในยามค่ำคืน ที่โดยปกติเป็นที่นัดหมายเพื่อย่ำราตรีของพวกชอบแสงสีและกิจกรรมยามราตรีและกลุ่มชาวเกย์ ว่ากันว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ได้ใช้เงินในการปรับแต่งสภาพภายในห้างไปถึง 1.3 หมื่นล้านเยน แต่ก็หวังว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มจากการนี้กว่า 1 หมื่นล้านเยนในปีแรกของการปรับปรุง

แม้ว่าจะย้ายไปย่านชินจูกุที่คนสูงอายุหลายคนไม่ได้เข้าไปกล้ำกราย แต่หลายคนบอกว่าจะตามไปชอปปิ้งสินค้าจากห้างนี้ในย่านดังกล่าว

หลังจากข่าวเรื่องนี้แพร่สะพัดออกไป สีสันของเสื้อผ้าที่วางจำหน่ายให้กับคนสูงอายุของห้างนี้ไม่ใช่สีมอๆ ตุ่นๆ หากแต่เป็นสีส้มสดใสเป็นสีเหลืองมะนาว หรือสีม่วงเจิดจ้า และยังแถมด้วยเข็มขัดหนังเส้นโตๆ ด้วย โดยดีไซเนอร์ที่ออกแบบหวังว่าลูกค้าจะสนใจซื้อเสื้อผ้าสีเจ็บๆ เหล่านี้ เพื่อเรียกคืนความทรงจำและความมีชีวิตชีวาในยามหนุ่มสาวกลับคืนมาอีกครั้ง

ในสังคมของชาวญี่ปุ่น คนสูงอายุจำนวนไม่น้อยไม่ได้นั่งจุมปุ๊กอยู่หน้าทีวี หรือนอนบนเตียงทั้งวันทั้งคืน หากแต่สังคมของคนสูงอายุจำนวนมาก ยังคงเป็นชีวิตของการเข้าสังคม การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดจากความก้าวหน้าและทันสมัยของเทคโนโลยี การได้สวมใส่เสื้อผ้า แม้แต่แจ็กเก็ตเท่ๆ ก็สามารถเรียกความกระชุ่มกระชวยกลับมาได้อย่างดี และมีส่วนอย่างมากในการหล่อเลี้ยงชีวิตชีวาของกลุ่มลูกค้าเหล่านี้

นอกเหนือไปจากห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นที่กล่าวมาแล้ว ร้านค้าปลีกอื่นๆ และห้างสรรพสินค้าอื่นก็ต่างพากันจัดโปรโมชั่นและแคมเปญเพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มสูงอายุกันเป็นทิวแถว การปรับเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดมากขึ้น คือ พื้นที่ให้พักขาเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งพักแบบสบายๆ ในแบบที่คนอายุมากในญี่ปุ่นมักจะชอบกัน และบรรยากาศที่น่าไปอยู่นานๆ ไม่พลุกพล่าน วุ่นวายและเอะอะเกินไป อันจะช่วยให้กลุ่มคนสูงวัยได้มีโอกาสใช้ชีวิตในช่วงที่สองที่มีความสุขหลังจากผ่านพ้นวัยเกษียณมาแล้ว

ความสำเร็จที่ได้จากการปลุกกระแสตลาดเสื้อผ้าแนวแฟชั่นและมีสไตล์ในตลาดญี่ปุ่นเชื่อว่าจะมีการนำออกไปเผยแพร่และทำเลียนแบบในตลาดต่างประเทศอื่นๆ ตามในไม่ช้า ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจที่มั่นคงยาวนานนิสัยที่อดออมและประหยัดเงินของชาวญี่ปุ่น ทำให้ตลาดในส่วนนี้ไม่ได้มีอำนาจซื้อของลูกค้าต่ำลงมากมายอย่างที่นักการตลาดในรุ่นก่อนๆ เชื่อกันอีกต่อไป

สังคมในประเทศทางตะวันตกมีแนวโน้มที่จะอยู่ในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากสังคมของคนสูงอายุในญี่ปุ่นเท่าใดนักเพราะการที่ลูกหลานแต่งงานแต่งการออกไป ทำให้ขนาดของครอบครัวของคนแก่ในประเทศที่เจริญแล้วเป็นสังคมที่คนสูงอายุแยกกันอยู่กับคนหนุ่มสาว การศึกษาโครงสร้างของลูกค้ากลุ่มนี้ได้พบว่า ประการแรก ลูกค้าสูงอายุส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประการที่สอง ราว 25% ของลูกค้าในตลาดนี้มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป

ประการที่สาม ราว 19% - 36% ของลูกค้ากลุ่มสูงอายุมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ประการที่สี่ ในสังคมของประเทศที่เจริญแล้ว คนสูงอายุไม่ได้มีชีวิตหลังเกษียณที่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินบำเหน็จบำนาญอย่างเดียว

หากแต่มีความมั่งคั่งของตนเองในระดับหนึ่งเพิ่มเติมด้วย คนสูงอายุจึงต้องการสินค้าและบริการมากมายที่เหมาะสมจะทำให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และต้องการย้ายที่อยู่จากชนบทหรือย่านชานเมืองเข้าไปอยู่ในในใจกลางเมืองแทนเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นย่านชอปปิ้ง ไปจนถึงบริการรถเช่า สถานพยาบาล หรือศูนย์แลสุขภาพ

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การที่นักการตลาดเสื้อผ้าแนวแฟชั่นหันมาให้ความสนใจและเจาะกลุ่มตลาดคนสูงอายุนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่รายได้จากกลุ่มลูกค้าวัยหนุ่มสาวไม่เพียงพอกับต้นทุนคงที่ในการดำเนินงานการผลิตเสื้อผ้าอีกต่อไป ในขณะที่โครงสร้างของลูกค้าขยายฐานมาสู่กลุ่มคนสูงอายุมากกว่า จากการที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุนับวันจะมีมากขึ้น การปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อหันมาเอาใจลูกค้ากลุ่มสูงอายุจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง

เมื่อพูดถึงสินค้าสำหรับคนสูงอายุไม่ได้จำกัดเฉพาะในเรื่องของเสื้อผ้าเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงสินค้าอื่นๆ อย่างเช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องประดับมีค่าพวกอัญมณีด้วย และที่น่าสนใจคือ สินค้าสำหรับคนสูงอายุเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะดึงลูกค้าเพศชายได้มากกว่ากลุ่มลูกค้าวัยหนุ่มสาวที่เกือบจะทั้งหมดเป็นผู้หญิงมากกว่า

นอกจากประเทศญี่ปุ่นและสังคมทางตะวันตกแล้ว ขณะนี้หลายประเทศมีอัตราการเกิดต่ำลงไปเรื่อยๆและสังคมคนสูงอายุกำลังคืบคลานเข้ามาเหมือนกัน การตลาดในแนวนี้จึงน่าจะขายดิบขายดีในอีกหลายประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น