xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเทอมปี’50 : เงินสะพัด 50,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมนี้ต้องมีการปรับกลยุทธ์กันอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวและราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่ากำลังซื้อของบรรดาผู้ปกครองจะลดลง และผู้ปกครองจะต้องหาทางรัดเข็มขัดกันทุกวิถีทาง

ในขณะเดียวกันช่วงเปิดเทอมนั้นนับเป็นโอกาสทองของปีที่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมจะเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมก็เริ่มมีการกระตุ้นตลาดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนหรือหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนับว่าเร็วขึ้นกว่าเมื่อปี 2549 ที่บรรดาผู้ประกอบการเริ่มมีการส่งเสริมการจำหน่ายผ่านสื่อต่างๆประมาณปลายเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตามผู้ปกครองส่วนใหญ่เน้นการประหยัดต่อเนื่องมาจากปี 2549 จากเดิมที่ในช่วงเปิดเทอมใหม่แต่ละครั้งบรรดาผู้ปกครองจะซื้อเครื่องแบบนักเรียน รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนต่างๆใหม่ทั้งหมดให้กับบุตรหลาน แต่ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองจะซื้อน้อยลงหรือใช้ของเดิมไปก่อน ถ้าไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่จากการที่ต้องเปลี่ยนสถานศึกษา

ดังนั้นการรักษายอดจำหน่ายให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมานับว่าเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเปิดเทอม นอกจากปัญหาที่บรรดาผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง โดยมีการส่งเสริมการจำหน่ายทุกรูปแบบ ตลอดจนการหันไปร่วมมือจัดการส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า และช่องทางโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย โดยเฉพาะร้านดิสเคาต์นสโตร์ ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยยอดนิยมในปัจจุบัน นอกจากนี้ก็มีการเน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2549 รวมทั้งยังมีการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปประมูลจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับทางสถาบันการศึกษา

ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10...ผู้ปกครองบ่นว่าค่าเทอมแพงขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2550” ในช่วงระหว่าง 1-20 เมษายน 2550 จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเฉพาะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหรือเด็กในความดูแลที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม การกระจายกลุ่มตัวอย่างโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับชั้นการศึกษา และประเภทของสถานศึกษา รวมทั้งหลักสูตรที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมีความแตกต่างกัน และกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันในช่วงเปิดเทอมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบรรดาผู้ปกครองที่ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมให้กับบุตรหลาน รวมทั้งการเก็บรวบรวมรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆของโรงเรียน/สถานศึกษา จากผลการสำรวจคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมทั่วประเทศสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยการคำนวณเม็ดเงินสะพัดสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2550 คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตรการศึกษา เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2549 แล้วค่าใช้จ่ายในปี 2550 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 โดยเฉพาะค่าเทอมซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมจะแตกต่างกันอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรหลานที่ครัวเรือนนั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ประเภทของสถานศึกษา (เช่น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิต โรงเรียนฝรั่ง หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นต้น) และระดับชั้นการศึกษา นอกจากนี้ในระดับอุดมศึกษาความแตกต่างของค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมขึ้นอยู่กับประเภทของสถานศึกษาที่แยกเป็นสถาบันของรัฐและเอกชน รวมทั้งค่าใช้จ่ายยังมีความแตกต่างกันตามสาขาวิชาด้วย

ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสถาบันการศึกษาและระดับชั้นการศึกษา ซึ่งเมื่อนำค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมาคำนวณเป็นเม็ดเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมในปี 2550 คาดว่าในช่วงเปิดเทอมก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดทั่วประเทศ 50,000 ล้านบาททั่วประเทศ โดยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีเม็ดเงิน

สะพัดมากที่สุด 20,000 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายสมทบ…ภาระของผู้ปกครอง

จากการสำรวจและในการสัมภาษณ์บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุปัญหาที่น่าหนักใจในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2550 พบว่านอกจากสถานศึกษาบางแห่งปรับเพิ่มค่าเทอม และสถานศึกษาบางแห่งยังมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันบางสถาบันการศึกษายังมีการขอเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมเพื่อนำไปสมทบกับค่าเล่าเรียนที่เรียกเก็บเดิม โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนในหลักสูตรพิเศษ เช่น หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรภาษาอังกฤษ เป็นต้น โดยอ้างว่าค่าเล่าเรียนที่เรียกเก็บเดิมนั้นไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเฉพาะค่าจ้างอาจารย์ต่างประเทศ และค่าหนังสือประกอบการเรียนที่ต้องเป็นภาษาต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายสมทบในส่วนนี้นับว่าเป็นภาระอย่างมากสำหรับผู้ปกครอง นอกจากนี้บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังระบุว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่สามารถนำไปเบิกกับต้นสังกัดได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าเล่าเรียน

ซึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายสมทบนี้ ตามระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องไม่บังคับผู้ปกครอง แต่ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และหากมีการเรียกเก็บรายการใดต้องออกใบเสร็จให้ผู้ปกครองด้วย รวมทั้งควรมีการชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจในกรณีมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสมทบที่เพิ่มขึ้นจากค่าเล่าเรียน โดยทางกระทรวงศึกษาธิการออกหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษา โดยสามารถขอเก็บเงินบริการเสริมพิเศษใน 4 บริการได้แก่การจัดบริการเสริมพิเศษ เช่น เรียนคอมพิวเตอร์ การสอนเสริมพิเศษ การเรียนปรับพื้นฐาน เป็นต้น การจัดบริการกิจกรรมพิเศษ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายต่างๆ กิจกรรมกีฬาสี การเรียนว่ายน้ำ เป็นต้น การจัดบริการเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน เช่น การประกันอุบัติเหตุ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสารเสพติด โครงการอาหารของโรงเรียน เป็นต้น การจัดบริการเสริมมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน เช่น การพัฒนาสื่อเทคโนโลยี ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองสมัครใจ อีกทั้งต้องแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น