ความมุ่งมั่นในการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เริ่มตื่นตัวเรื่องนี้ แต่ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งเหตุผลหลักๆก็คงคล้ายคลึงกัน เช่น สินค้าทางการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือธรรมชาติ วิถีชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของเมืองนั้น ๆ เป็นสิ่งที่มีอยู่ ไม่ต้องลงทุนมากมาย จึงสามารถดึงเงินตราเข้าประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ
จากงาน Arabian Travel Market (ATM) 2007 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต์ส และอีกหลายๆงานที่ถูกจัดขึ้นในหลายๆประเทศ อาทิ งาน ITB ประเทศเยอรมัน หรืองาน WTM ที่ประเทศอังกฤษ แม้กระทั่งในประเทศไทยก็มีงาน TTM หรือไทยแลนด์ ทราเวลมาร์ท ซึ่งปีนี้จะจัดให้มีขึ้นในเดือนมิถุนายน ทั้งหมดที่กล่าวมา คืองานที่ทุกประเทศจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีทั้งภาครัฐของแต่ละประเทศ และทีมเอกชน จัดทัพเข้าร่วมออกบูธ เพราะเวทีที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นเวทีแห่งการเจรจาซื้อ-ขายสินค้าทางการท่องเที่ยว
นอกจากนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า ในแต่ละประเทศ ต่างตกแต่งบูธของตัวเองตามคอนเซปต์ และเอกลักษณ์ของประเทศตัวเอง อย่างอลังการเพื่อหวังดึงดูดความสนใจเบื้องต้นของผู้มาเดินชมซึ่งเหล่านั้นล้วนเป็นโฮลเซลเลอร์ และเอเยนต์ทัวร์ ที่สามารถเจรจาและมีอำนาจตัดสินใจในการซื้อแพกเกจทัวร์เกือบทั้งสิ้น อย่างงาน ATM ที่เพิ่งผ่านพ้นมา เป็นคำตอบได้ดีว่า การตื่นตัวของนานาประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวมีมากแค่ไหน เพราะมีภาคเอกชนที่เป็นบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ตลอดจนสินค้าด้านการท่องเที่ยวต่างๆเข้าร่วมมากถึงกว่า 2,600 ราย จาก 64 ประเทศทั่วโลก ในที่นี้มี 9 ประเทศ ที่เพิ่งมาร่วมงานนี้เป็นปีแรก ทั้งที่งานนี้ถูกจัดมาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 14 อาทิ ประเทศ จีน โครเอเชีย มาเก๊า ปาเลสไตล์ สวาซิแลนด์ ไต้หวัน ซิมบักเวย์ เป็นต้น โดยพื้นที่ของการจัดงานได้ขยายจากปีก่อนอีกถึง 11%
สำหรับผู้ซื้อหรือบายเออร์ ที่เข้าร่วมงาน มาจาก 122 ประเทศ ทั่วโลก และแน่นอน บายเออร์หลักที่จะขายเสียไม่ได้คือกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เป็นตลาดไฮเอนด์ แน่นอน ย่อมเป็นเป้าหมายที่หอมหวานของทุกๆประเทศที่มาเข้าร่วมงาน โดยเฉพาะผู้ขายจากกลุ่มเอเชีย
สร้างประเทศเป็นเมืองท่องเที่ยว
สำหรับดูไบซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า แม้จะเป็นเมืองทะเลทราย มีทรัพยากรที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลของประเทศดูไบตระหนักดีว่าต้องหารายได้จากสิ่งอื่นเข้ามาเพิ่มเติม และก็มาลงเอยที่เรื่องท่องเที่ยว จึงถือโอกาสใช้เวทีนี้ในการบอกกล่าวแก่นานาประเทศ ด้วยการเปิดโปรเจคใหญ่ ถึง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสปอร์ตซิตี้ โครงการยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ และโครงการเมืองธุรกิจและชอปปิ้ง ซึ่งทั้ง 3 โครงการใช้เงินลงทุนมหาศาล บทพื้นที่หลายหมื่นไร่ โดยคอนเซปต์ คือ รวมรวบแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมจากทั่วโลกจำลองไว้ที่เมืองแห่งนี้ ซึ่งก็หมายความว่า ดูไบจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแมนเมด ที่ใหญ่ที่สุด เพื่อหวังสร้างดูไบให้เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุรกิจ และการบินในกลุ่มประเทศGCC ซึ่งประกอบด้วย คูเวต โอมานต์ บาเรนต์ กาตาร์ ซาอุดิอารเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยังเป็นจุดขายที่จะเชิญชวนชาวต่างชาติจากนานาประเทศเข้ามาเที่ยวชมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ถือว่าโชคดี ที่เรามีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง หาดทราย เกาะ ป่า เขา น้ำตก ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอยู่แล้ว ขณะที่บริการอื่นๆ อย่าง สปา กอล์ฟ และบริการทางการแพทย์ เราก็ติดอันดับต้นๆ ด้วยความเป็นประเทศเสรี และพื้นฐานของคนไทยมีจิตใจดี ตรงนี้ถือเป็นเสน่ห์ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ และทำให้นักท่องเที่ยวต้องมาซ้ำ
แต่ทั้งนี้รัฐบาลไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะในเวทีของการแข่งขัน ย่อมไม่มีผู้ชนะที่ถาวร หากเราไม่รู้จักปรับตัวหรือพัฒนาหนีคู่แข่งขัน เพราะต้องตระหนักไว้ว่าเมื่อเราหยุดก็เท่ากับเราถอย
จะเห็นได้ว่า เอกชนหลายภาคส่วนมักจะพูดว่า ต้องดิ้นรนขวนขวายกันเอง หากรอแต่จะพึ่งความช่วยจากรัฐบาลคงไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ททท.เองซึ่งเป็นผู้ทำตลาดด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยมากกว่า 40 ปี ย่อมรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเอกชน แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด และต้องเจียดจ่ายให้กับทุกหน่วยงาน ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำได้ค่อนข้างดี แม้จะมีตกหล่นไปบ้าง แต่ก็ยังพอถูไถไปได้ ยังสามารถโกยนักท่องเที่ยวและรายได้เข้าประเทศได้ตามเป้าหมายอย่างสาหัสสากันในทุกๆปี
ล่าสุดแว่วมาว่า งบประมาณประจำปี 2551 ที่ การท่องเที่ยวทำเรื่องเสนอขอไปทั้งสิ้นประมาณ 6,000 ล้านบาท มีแววว่าอาจต้องถูกปรับลด ซึ่งทางททท.เองก็ได้เข้าไปชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน ต่อสำนักงบประมาณอยู่เรื่อยๆ โดยมีเสียงเปรยจาก ททท. ว่า ปีหน้า เราตั้งเป้าหมายเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น15.2 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นเงินกว่า 6 แสนล้านบาท หากไม่มองถึงจำนวนนักท่องเที่ยว ททท.ก็ยังขอการันตีเรื่องของรายได้ เพราะจะมุ่งเจาะตลาดระดับไฮเอนด์ โดยเฉพาะกลุ่มความสนใจพิเศษ ดังนั้นงบประมาณที่เสนอขอไปคงจะไม่มากมายอะไร หาก ททท.สามารถทำได้ตามเป้าหมายจริง และถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หากตีมูลค่าลงทุนก็เพียง 1:100 คุ้มเกินคุ้ม และรัฐบาลเองก็ไม่มีทางเลือกมากนักในยามที่ประเทศต้องการเพิ่มรายได้ เพราะจะหวังเพียงอุตสาหกรรมส่งออกคงนำพาประเทศชาติไปไม่ได้แน่ในสถานการณ์เช่นนี้
จี้รัฐเร่งพัฒนาบุคคลากร
สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนไทยต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านงานบริการ ซึ่งนับวันที่การท่องเที่ยวของไทยเติบโต ยิ่งทำให้บุคลากรด้านนี้ขาดแคลน แม้ว่าบางสมาคมด้านการท่องเที่ยวจะมีเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่พอป้อนตลาด เพราะเมื่อเราเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาจากหลากหลายประเทศมากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่มีความชำนาญด้านภาษายิ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ จีน รัสเซีย เกาหลี และแม้แต่ภาษาอาหรับ ก็ตาม เพราะความเข้าใจภาษาจะทำให้เกิดการสื่อสารที่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวไม่ให้เสื่อมโทรม และความสะดวกในการขอวีซ่า ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้อตกลงกับ 42 ประเทศ ที่จะออกวีซ่าให้เข้าประเทศไทยได้นานถึง 30 วัน
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลหวังที่จะพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ก็ควรที่จะเข้ามาดูแลใส่ใจมากขึ้นอย่าปล่อยให้ ททท. หรือภาคเอกชน ทำงานกันไปเพียงลำพัง เพราะนโยบายของรัฐบาลและผู้นำประเทศ จะเป็นแนวทางการทำงานได้เป็นอย่างดี หากเราไม่เริ่มบูรณาการตั้งแต่ตอนนี้ สักวันหนึ่งอาจเสียแชมป์ ให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งเราได้แซงหน้าเขามาแล้ว อย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้กระทั่งประเทศที่ไม่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวเลยอย่างดูไบ