xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจเพลงไทย : เข้าสู่ยุคดิจิตอลมิวสิค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจเพลง ถือเป็นธุรกิจบันเทิงประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังเห็นได้จากกระแสตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคที่มีต่อผลงานเพลงของศิลปินต่างๆ ทั้งศิลปินไทยและศิลปินจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการผ่อนคลายความเครียดจากการดำเนินชีวิตประจำวันที่เร่งรีบท่ามกลางปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่รุมเร้า ประกอบมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสื่อบันเทิงรูปแบบอื่น ทำให้ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้ดี แม้ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยในปัจจุบัน จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภคมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเริ่มหันมานิยมการฟังเพลงในรูปแบบ MP3 และการฟังเพลงผ่านระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ต แทนการซื้อเทปและซีดีมาฟังกันมากขึ้น เป็นผลทำให้ยอดจำหน่ายเทปและซีดีเริ่มลดลง ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายในตลาดจึงได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจเพลงดิจิตอล หรือ Digital Music มากขึ้น เพื่อนำรายได้มาชดเชยรายได้จากการจำหน่ายเทปและซีดีที่ทีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ ส่งผลให้ธุรกิจเพลงยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อไปในยุคของดิจิตอลมิวสิค

สถานะผู้ประกอบการ….ตลาดส่วนใหญ่เป็นของ Grammy และ RS
จากรายงานของธนาคารนครหลงไทย ระบุว่า ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจเพลงของผู้ประกอบการต่างๆเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบครบวงจร โดยครอบคลุมตั้งแต่การสร้างสรรค์ผลงานเพลงและผลิตสินค้าเพลงในรูปแบบต่างๆ เช่น เทป ซีดี และวีซีดีรวมถึงการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการในร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ ที่นำผลงานเพลงไปใช้ใน ทางการค้า นอกจากนั้นยังมีการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆเพื่อเป็นการต่อยอดให้แก่ผลงานเพลง เช่น ธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ รวมทั้งธุรกิจเพลงดิจิตอล เพื่อการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิตอลคอนเทนต์ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ธุรกิจเพลงมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดอยู่ 2 ราย ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี จำกัด(มหาชน) หรือ Grammy และบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ซึ่งถือ เป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายในตลาด และเป็นเพียง 2 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย โดยทั้ง Grammy และ RS มีสว่นแบ่งตลาดร้อยละ 59 และร้อยละ 26 ตามลำดับ ขณะที่ ผู้ประกอบการรายอื่นๆในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันร้อยละ 15 ของมูลค่าตลาดเพลงโดยรวม

ภาพรวมธุรกิจเพลง….MP3…โตสวนกระแสซีดี
ธุรกิจเพลงในปี 2549 มีมูลค่าตลาดประมาณ 7,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการสร้างสรรค์ผลงานในทุกแนวเพลงของผู้ประกอบการในตลาดแต่ละราย ทั้งศิลปิน ไทยและศิลปินจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปินที่กำลังได้รับความนิยม จากผู้บริโภคค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ ในกลุ่มวัยรุ่น ส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละค่ายต่างมีการนำเข้าศิลปินจากประเทศเหล่านี้เข้ามาโชว์การแสดงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามประเภท ของเพลงแล้ว จะเห็นได้ว่าเพลงไทยสากล ยังคงเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาด โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 รองลงมาคือ เพลงลูกทุ่ง และเพลงสากล มีสัดส่วนร้อยละ 30 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 เป็นเพลงประเภทอื่นๆ

นอกจากกระแสความนิยมในผลงานเพลงแล้ว ผู้บริโภคยังมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการฟังเพลงจาก การซื้อเทปหรือซีดีมาฟัง มาเป็นการฟังเพลงในรูปแบบ MP3 ผ่านทางเครื่องเล่นเพลงดิจิตอล หรือ เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการฟังเพลงผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการค่ายเพลงแต่ละค่าย ทำให้ผู้ประกอบการ ค่ายเพลงในแต่ละค่ายต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการในรูปแบบดิจิตอลคอนเทนต์ หรือบริการดาวน์โหลดเพลงในรูปแบบดิจิตอลไฟล์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอบรับกระแสความนิยมของ ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังสามารถนำมาทดแทนรายได้จากยอดจำหน่ายเทปและซีดีที่เริ่มลดลง ส่งผลให้ธุรกิจเพลงดิจิตอล หรือ Digital Music มีแนวโน้มขยายตัวดีและเริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเพลงเพิ่มมากขึ้น

สำหรับด้านรายได้จากธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักนั้น ส่วนใหญ่ยังคงมาจากการจำหน่ายเทป ซีดี และวีซีดี โดยทั้ง Grammy และ RS ต่างมีรายได้จากส่วนนี้เป็นสัดส่วนร้อยละ 53 และร้อยละ 43 ของรายได้จากธุรกิจทั้งหมด ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายเทป ซีดี และวีซีดี ของทั้ง Grammy และ RS เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้ง 2 บริษัทต่างเริ่มให้ความสำคัญกับธุรกิจเพลงดิจิตอลมากขึ้น โดยได้มีการพัฒนาบริการดาวโหลดเพลงในรูปแบบของไฟล์เพลงดิจิตอล รวมทั้งดิจิตอลคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ เสียงเพลงรอสาย และคลิปมิวสิควีดีโอ ผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและระบบโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับมีการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบของคอนเทนต์ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ประกอบกับสามารถตั้งราคาจำหน่ายได้ต่ำกว่าราคาจำหน่ายแผ่นซีดี เนื่องจากไม่มีต้นทุน ค่าบรรจุภัณฑ์และส่วนแบ่งที่ต้องให้กับร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ทำให้บริการในรูปแบบเพลงดิจิตอลนี้ กลายเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ส่งผลให้ทั้ง 2 บริษัท สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจเพลงดิจิตอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทดแทนรายได้จากการจำหน่ายเทป ซีดี และวีซีดี ที่เริ่ม ลดลงได้ โดยในปัจจุบันรายได้จากธุรกิจเพลงดิจิตอล ของ Grammy มีสัดส่วนร้อยละ 15 ของรายได้จากธุรกิจเพลงทั้งหมด ขณะที่ ธุรกิจเพลงดิจิตอลของ RS มีสัดส่วนร้อยละ 18 โดยในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากธุรกิจเพลงดิจิตอลแล้ว ธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทั้ง Grammy และ RS ต่างเริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการจัดงานคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมาของทั้ง Grammy และ RS ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เฉพาะอย่างยิ่ง งานคอนเสิร์ตของศิลปิน ทำให้รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันรายได้จากธุรกิจเพลงให้มีมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น