xs
xsm
sm
md
lg

เผยไทยติดอันดับ 5 เป้าหมายถูกมาตรการเอดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยไทยติดอันดับ 5 ของประเทศ ที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือเอดี ในปี 2549 โดยไทยถูกไต่สวนจำนวน 8 คดี เตือนสินค้าเหล็ก เคมีภัณฑ์ อาจถูกมาตรการเอดี ในอนาคต

นาย Ciff Richarson ผู้เชี่ยวชาญด้านการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) จากบริษัท Antidurnpingblishing.com รายงานผลการศึกษาการใช้มาตราการเอดี ของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2538-2549 ว่า ประเทศที่ใช้มาตรการทุ่มตลาดโดยการเปิดไต่สวนเอดี สูงติด 10 อันดับแรกของโลก ในปี 2549 ได้แก่ อันดับที่ 1 สหภาพยุโรป 35 คดี อันดับ 2 อินเดีย 31 คดี อันดับ 6 จีน 10 คดี และอันดับ 10 สหรัฐฯ 7 คดี เมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปี 2538-2549 อินเดียอยู่ในอันดับ 1 ไต่สวนจำนวน 456 คดี อันดับ 2 สหรัฐฯ 373 คดี อันดับ 3 สหภาพยุโรป 362 คดี อันดับ 8 จีน 133 คดี

สำหรับประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้มาตรการเอดี ในปี 2549 ได้แก่ อันดับ 1 จีน 70 คดี อันดับ 2 ไต้หวัน 12 คดี อันดับ 3 สหรัฐฯ 10 คดี และอันดับ 5 ไทย 8 คดี เช่น ถูกไต่สวนสินค้าข้าวโพดหวานโดยสหภาพยุโรป รองเท้าโดยตุรกี กระดาษแข็งจากมาเลเซีย สิ่งทอโดยปากีสถาน พลาสติกโดยอินโดนีเซีย และยางรถยนต์ โดยอียิปต์ เป็นต้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2538-2549 จีนยังคงติดอันดับ 1 ถูกไต่สวน 539 คดี อันดับ 2 สหภาพยุโรป 501 คดี อันดับ 3 เกาหลี 227 คดี อันดับ 4 สหรัฐฯ 172 คดี และอันดับ 8 ไทย 119 คดี

อย่างไรก็ดี ยังจัดได้ว่า ปี 2549 เป็นช่วงที่สมาชิก WTO เปิดไต่สวนคดีเอดีกันน้อย เพียง 187 คดี เมื่อเทียบกับปี 2542-2549 ซึ่งสมาชิกเปิดไต่สวนคดีเอดีกันมาก ประมาณ 300 กว่าคดีต่อปี เนื่องจากลักษณะการใช้มาตรการเอดี เช่น เหล็ก สินค้าเกษตร อยู่ในช่วงราคาขาขึ้น ดังนั้น แม้จะมีการนำเข้าสินค้ามาก แต่อุตสาหกรรมภายในไม่เดือดร้อน และไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดไต่สวนเอดี ของประเทศต่าง ๆ จึงต่ำกว่าช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศต่างๆ เปิดไต่สวนคดีเอดีน้อยลง น่าจะเกิดจากกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยจากสถิติกรณีพิพาท WTO ที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 ของกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการของสมาชิก โดยส่วนใหญ่ที่คณะผู้พิจารณาตัดสินให้ผู้ใช้มาตรการแพ้คดี สมาชิกจึงระมัดระวังการใช้มาตรการมากขึ้น และไม่ต้องการเปิดไต่สวน หรือใช้มาตรการเอดีในช่วงที่วงจรสินค้ามีราคาสูง เพราะอาจขัดกับความตกลง เนื่องมาจากยากที่จะพิสูจน์การทุ่มตลาด ความเสียหายของอุตสาหกรรมภายใน และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้งสอง

นาย Richardson คาดการณ์ว่า สมาชิกต่างๆ อาจใช้มาตรการเอดีเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากจะเป็นช่วงที่วงจรสินค้าของเหล็ก และเคมีภัณท์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของมาตรการเอดี มีราคาต่ำลง และประเทศผู้นำเข้าอาจต้องการปรับปรุงอุตสาหกรรมจากการแข่งขันของจีน อันเนื่องมาจากการยกเลิกโควตาสิ่งทอของ WTO รวมทั้งความสำเร็จของการเจรจารอบโดฮา ที่จะนำไปสู่การลดการอุดหนุนและเปิดเสรีสินค้าเกษตรระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น