xs
xsm
sm
md
lg

ผลิตภัณฑ์กาแฟปี’50ยังเฟื่อง มูลค่าตลาดทะลุ25,600ล.(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาแฟสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง…ผู้ผลิตรายใหญ่แข่งเดือด
ในปี 2550 คาดว่ามูลค่าตลาดกาแฟกระป๋องเท่ากับ 8,500 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.4 ตลาดกาแฟกระป๋องยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟกระป๋องวางตำแหน่งสินค้าเพื่อเบียดแย่งบางส่วนของตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ทำให้การเจาะขยายฐานตลาดกว้างมากขึ้น เนื่องจากมีการสำรวจพบว่าลูกค้าเกือบร้อยละ 70.0 ของกาแฟสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และที่เหลืออีกร้อยละ 30.0 เป็นกลุ่มคนทำงานและนักศึกษา

ภาวะการแข่งขันในตลาดกาแฟกระป๋องเป็นไปอย่างรุนแรง แม้ว่าผู้ผลิตรายย่อยหลายรายออกจากตลาดไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากตลาดกาแฟกระป๋องมีผู้ผลิตรายเดิมและผู้ผลิตรายใหม่ที่เข้ามาในตลาดล้วนเป็นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในวงการเครื่องดื่ม ทำให้มีฐานลูกค้าเดิมและมีความพร้อมในด้านเครือข่ายการจัดจำหน่าย ผู้ประกอบการต่างผลักดันให้ตลาดขยายตัวด้วยการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพิ่มรสชาติเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และการกระจายสินค้า ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเจาะตลาดให้ถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดและรวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยการแบ่งเซ็กเมนต์กาแฟกระป๋องเป็นระดับพรีเมี่ยมและอีโคโนมี่ รวมทั้งการขยายตลาดกาแฟพร้อมดื่มในกล่องยูเอชที ทั้งนี้เพื่อขยายฐานการตลาดให้ครอบคลุมผู้บริโภคที่นิยมดื่มกาแฟในวงกว้างมากขึ้น คาดการณ์ว่าตลาดกาแฟพร้อมดื่มของไทยก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตมาก โดยปริมาณการบริโภคกาแฟพร้อมดื่มของคนไทยอยู่ที่ 8 กระป๋องต่อคนต่อปี ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 150 กระป๋องต่อคนต่อปี

นอกจากการแข่งขันที่เข้มข้นของตลาดภายในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตกาแฟกระป๋องบางรายหันไปหาตลาดส่งออก คาดว่าในปลายปีนี้จะเริ่มมีการส่งออกกาแฟกระป๋องโดยผู้ประกอบการเน้นการส่งออกไปจำหน่ายยังภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอินโดจีน เนื่องจากมีรสนิยมในการบริโภคกาแฟใกล้เคียงกับตลาดในประเทศ

ร้านกาแฟพรีเมี่ยม…จับตาการขยายสาขาในปั๊มน้ำมัน
ในปี 2550 มูลค่าร้านกาแฟพรีเมี่ยมเท่ากับ 5,100 ล้านบาท เทียบกับปี 2549 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมมีอัตราการขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 โดยคาดว่าในปี 2550 นี้อัตราการขยายตัวจะอยู่ในระดับร้อยละ 5 ใกล้เคียงกับในปี 2549 จากเดิมที่ในช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมสูงถึงร้อยละ 15-20 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมยังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยร้านกาแฟพรีเมี่ยมขนาดใหญ่เน้นจำหน่ายเบเกอรี่ อาหาร ไอศกรีม และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ โดยการเพิ่มเมนูให้หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างแบรนด์ให้มากขึ้น และผู้ประกอบการบางรายยังขยายธุรกิจไปยังธุรกิจจัดเลี้ยงหรือธุรกิจแคเธอริ่งด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ต่อยอดธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งการขยายธุรกิจนั้นทำได้ค่อนข้างยากสำหรับธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมขนาดกลางและเล็ก เนื่องจากไม่ได้มีการวางระบบรองรับไว้ นอกจากนี้ร้านกาแฟพรีเมี่ยมขนาดกลางและเล็กยังต้องปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านคุณภาพและรสชาติ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนจากการดื่มกาแฟสำเร็จรูปหันมาเลือกดื่มกาแฟคั่วบดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับกาแฟคั่วบดมากขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้นเนื่องจากร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เป็นร้านขนาดใหญ่จะมีประเภทของกาแฟคั่วบดมากมายอีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจในช่วงปี 2550 คือ ร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เกิดใหม่จะเป็นการแตกแบรนด์มาจากธุรกิจเดิม โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนหรือร้านจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ หรือการสร้างแบรนด์ใหม่ของธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมเดิม โดยเน้นการจับกลุ่มลูกค้าระดับบนจากแบรนด์เดิมที่จับตลาดลูกค้าระดับกลางขึ้นไป และผู้ประกอบการร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เคยจับลูกค้าระดับบนก็หันมาขยายตลาดลูกค้าระดับกลางโดยการเพิ่มร้านในลักษณะเป็นบู๊ธเล็กๆหรือคีออส ทั้งนี้เพื่อเพิ่มยอดขายของธุรกิจ อย่างไรก็ตามร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เกิดใหม่ในปีนี้จะน้อยกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

กลยุทธ์หลักยังเน้นในด้านช่องทางการจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการในพื้นที่ร้านค้าสมัยใหม่หรือโมเดิรน์เทรด ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดีสเคาน์สโตร์ ทำให้เกิดการแย่งพื้นที่ทำเลดี ทำให้ต้นทุนในการขยายสาขาแต่ละแห่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมโดยเฉพาะผู้ที่ขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์หรือบริษัทขยายเอง โดยเป็นพันธมิตรกับโครงการศูนย์การค้าและโครงการหมู่บ้านจัดสรรโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ที่มีการสร้างคอนมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านอาหารและร้านชอปปิ้ง

อย่างไรก็ตามร้านกาแฟพรีเมี่ยมในปั๊มน้ำมันนั้นถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและรายได้ที่น่าสนใจมากธุรกิจหนึ่ง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันที่เข้ามาในปั๊มน้ำมันไม่ได้ต้องการเติมน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการใช้บริการอื่นๆด้วย ซึ่งหนึ่งในบริการนั้นคือ การดื่มกาแฟ ตลาดรวมของร้านกาแฟพรีเมี่ยในปั๊มน้ำมันยังขยายตัวได้อีกมาก ขณะที่ต้นทุนและค่าใช่จ่ายหมุนเวียนในแต่ละวันไม่สูงนัก เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่จะใช้ของจากในประเทศเป็นหลัก ปัจจุบันร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันมีรายได้ประมาณวันละ 1,500-4,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นจำนวนลูกค้าที่เข้าร้านและค่าใช้จ่ายต่อหัวของลูกค้า ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ถือเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันตลาดร้านกาแฟอยู่ในช่วงขยายตัว และมีฐานลูกค้ารองรับอีกมาก ขณะที่จำนวนร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน แม้ปัจจุบันมีอยู่หลายร้อยร้าน แต่ก็ไม่ถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงมากนัก

การที่ธุรกิจร้านกาแฟจากต่างชาติยังทยอยกันเข้ามาลงทุนเปิดกิจการในเมืองไทยแสดงว่า ตลาดของธุรกิจนี้มีอนาคตและได้รับการประเมินว่ายังขยายตัวต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณเตือนภัยจากการรุกของธุรกิจข้ามชาติที่กดดันให้ร้านกาแฟของทุนไทยต้องปรับตัว ทั้งรสชาติและบริการเพื่อเผชิญการบุกตลาดของเครือข่ายร้านกาแฟชื่อดังจากต่างประเทศ นอกจากการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันของบรรดาร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เป็นเครือข่ายสาขาต่างประเทศแล้ว บรรดาร้านกาแฟพรีเมี่ยมของไทยยังหันไปขยายสาขาในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีร้านกาแฟพรีเมี่ยมไทยใน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า สหรัฐอาหรับเอมิเรต์ และกัมพูชา รวมทั้งมีแผนในการเข้าไปเปิดสาขาในเมืองมุมไบของอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น