xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เชื่อหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ช่วยลดผลกระทบค่าเงินบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สศอ.เชื่อการลงนามข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีการส่งออก-นำเข้า การย้ายฐานการผลิต-การลงทุนมายังไทย ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นลดลง รวมทั้งการขยายตลาดในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในร่างข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ และเครื่องหนัง ได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีการส่งออก-นำเข้า การย้ายฐานการผลิต-การลงทุนมายังไทย และต้นทุนผู้ประกอบการในการนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นลดลง และได้เปรียบในด้านการขยายตลาดในญี่ปุ่น โดยหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดผลิตและยอดการส่งออกไปญี่ปุ่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 30 และคาดว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ประมาณช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาระหว่างกันในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการคาดการณ์ในส่วนของผลกระทบในภาพรวมของเศรษฐกิจ เพราะจะต้องมีการหารือกับส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ และหอการค้าไทย ก่อน

ส่วนข้อกังวลต่อการนำเข้าขยะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อไทยตามที่หลายฝ่ายหยิบยกมาเป็นประเด็นในการคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว นางอรรชกา เชื่อว่า ผลกระทบในด้านลบต่อภาคอุตสาหกรรมจะมีไม่มาก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ พร้อมทั้งคาดหวังว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะมาชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องด้วย

ขณะเดียวกัน สศอ.ยังคาดการณ์ดัชนีการเติบโตภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัว โดยดัชนีอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล การผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การผลิตเหล็ก ฯลฯ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ 200 คน ในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะมีทิศทางชะลอตัว ยกเว้นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า โดยร้อยละ 50 ยังเห็นว่า ทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีโอกาสขยายตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ว่า ยอดขายในปี 2550 ในภาคอุตสาหกรรม จะมียอดขายลดลงร้อยละ 10-30

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเห็นว่า มีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67.31 โดยผู้ประกอบการต้องการเห็นการเมืองและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีการกำกับดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนด้านต้นทุนการผลิตนั้น ผู้ประกอบการร้อยละ 16.02 ต้องการให้รัฐบาลดูแลเรื่องภาวะราคาน้ำมันที่กระทบต้นทุนการผลิต และผู้ประกอบการร้อยละ 16.67 ต้องการให้รัฐบาลช่วยหาตลาดใหม่ เพื่อขยายการส่งออก นอกจากนี้ สศอ.ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.1 โดยมีแนวโน้มขยายตัวตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 4.9-5.3 ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัว แต่อยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 6.4 ลดลงจากการขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2549

ส่วนปัจจัยท้าทายในปี 2550 ประกอบด้วยคำถามว่า การที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล 146,200 ล้านบาท จะส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนเพียงใด โครงการลงทุนรถไฟฟ้า มูลค่า 150,000 ล้านบาท จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ ระดับราคาสินค้าโลกที่ลดลงจากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 3.3 ขณะที่ระดับราคาสินค้าของไทยลดลงจากระดับร้อยละ 4.9 เหลือร้อยละ 2.7 จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้มากเพียงใด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการแข็งตัวของค่าเงินบาท ที่กระทบต่อภาคการส่งออก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มลดลง จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นท้าทายเหล่านี้จะต้องติดตามผลกระทบในระยะยาวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น