xs
xsm
sm
md
lg

กรุ๊ปอินเซนทีฟยกเลิกมาไทย สสปน.ตื่นปรับแผน-หวั่นพลาดเป้า9หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสปน. จับมือเอกชน ระดมสมองรับมือวิกฤตนักท่องเที่ยวกลุ่ม อินเซนทีฟ  หดตัว เหตุสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบ กรุ๊ปอินเซนทีฟจากหลายประเทศตัดสินใจยกเลิก เตรียมอัดงบ-จัดแพกเกจทัวร์ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไทยช่วงโลว์ซีซั่น พร้อมเร่งสานฝัน เดินหน้าโครงการพัฒนาบุคคลากร จับมือ อูฟี่ อบรมหลักสูตรเอ็กซิบิชั่น ดันไทยขึ้นศูนย์กลางการบริหารจัดการและพัฒนาคนในวงจรไมซ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 3 ปี

นางพอใจ  พุกกะคุปต์  กรรมการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน.(TCEB)  และประธานคณะอนุกรรมการธรรมาภิบาลสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน เปิดเผยว่า จากสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้  ตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) , เหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 49 รวมถึงกระแสข่าวลือเรื่องการก่อการร้าย และ ปัญหาทางการเมือง  

ปรับแผนรับผลกระทบตลาดไมซ์
ทั้งหมดที่กล่าวมายอมรับว่าเป็นปัจจัยลบที่จะเข้ามากระทบผู้ที่อยู่ในธุรกิจไมซ์(MICE) โดยเฉพาะ I หรือ อินเซนทีฟ  ซึ่งเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุด จึงได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ ดังนั้น เพื่อเตรียมรับมือ คณะกรรมการสสปน.(บอร์ด) ได้หารือเพื่อปรับแผนการดำเนินงานในปีนี้  พร้อมนำข้อมูลที่ได้ไปหารือร่วมกับภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยว และ ไทยทีม(Thai Team)  อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ(ไทย) และ สมาคมการแสดงสินค้า(ไทย)  

โดยข้อสรุปเบื้องต้น จะให้ความสำคัญในการกระตุ้นตลาดอินเซนทีฟเพิ่มมากขึ้น  เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยในช่วงโลว์ซีซั่นนี้เป็นต้นไป  สำหรับสิ่งที่จะดำเนินการ ได้แก่ การจัดแพกเกจทัวร์ให้น่าสนใจ ทั้งเรื่องของราคา และโปรแกรมการเดินทาง ,นอกจากนั้น สสปน.ยังเตรียมให้เงินสนับสนุนสำหรับกรุ๊ปที่จะจัดอินเซนทีฟเข้ามาประเทศไทยด้วย โดยประเทศเป้าหมาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย  เช่น เกาหลี จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนตลาดยุโรป ก็ยังคงทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

“ยอมรับว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทบกับกลุ่มอินเซนทีฟมาก  ล่าสุดมีการยกเลิกแผนการเดินทางเข้ามาประเทศไทยบ้างแล้วในประเทศที่รัฐบาลออกประกาศเตือนประชาชน(ทราเวล วอนนิ่ง) 3-4 ประเทศ  เช่น ฮ่องกง  ออสเตรเลีย  เป็นต้น  ดังนั้น สสปน.และภาคเอกชนก็จะปรับแผนไปรุกประเทศอื่นให้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สสปน.จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนแผนได้อย่างทันท่วงที  เพื่อให้ได้ตัวเลขเป้าหมายการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ว่าปีนี้  จะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ เข้าประเทศตลอดปี 2550 ที่ 870,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นเงินกว่า 5-9 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 25% หรือที่ได้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ 677,500 คน สร้างรายได้ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งธุรกิจไมซ์จะเติบโต เฉลี่ย 20%  ทุกปี

เปิดหลักสูตรพัฒนาคน
นางพอใจ กล่าวอีกว่า ในเรื่องแผนการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมไมซ์ สสปน.ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมมือกับ อูฟี(UFI) ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรผู้เชี่ยวชาญการสร้างความรู้เพื่อธุรกิจไมซ์ระดับโลก จัดโครงการ UFI EMD  Programme  โดยจัดเป็นคอร์สอบรมในหลักสูตร Exhibition Management Degree ให้แก่บุคลากรในวงการอุตสาหกรรมไมซ์ โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นเรื่องของการพัฒนาคนในด้านการบริหารจัดการ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่ง UFI  ได้เป็นผู้คิดหลักสูตรนี้ขึ้น และนำมาใช้ที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก  ซึ่ง สสปน. และ UFI ได้ลงนามสัญญาหลักสูตรต่อเนื่องระยะเวลา 3 ปี สำหรับรุ่นแรกที่จะเข้าฝึกอบรม จะเริ่มตั้งแต่ 26 มีนาคม ไปถึง เดือนกรกฎาคม ศกนี้ โดยมีผู้เข้าฝึกอบรมทั้งหมดรวม  32 คน คาดว่าตลอดระยะสัญญา 3 ปี จะฝึกอบรมได้ไม่น้อยกว่า 3 รุ่น

“หลักสูตร Exhibition Management Degree นี้มีผู้ให้ความสนใจมาก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นระดับผู้นำองค์กร และผู้บริหารองค์กร ที่ทำธุรกิจด้านไมซ์ และเอ็กซิบิชั่น โดย 32 คนที่เข้ารับการอบรมรุ่นแรกนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย แต่ อีกครึ่งหนึ่ง มาจากนานาชาติ รวม 9 ประเทศ  ได้แก่ รัสเซีย  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย โอมาน จีน ฮ่องกง  สิงคโปร์  โปแลนด์  สหรัฐอาหรับเอมิเรต   ซึ่งจากการตอบรับนี้ แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่เป็นถึงระดับผู้บริหาร เขาวางใจประเทศไทยในเรื่องความปลอดภัย เพราะขณะนี้ทั่วโลกต่างก็ประสบกับภัยด้านนี้ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน”

อย่างไรก็ตาม จากการฝึกอบรมดังกล่าว สสปน. มีแนวคิดที่จะขยายผลออกไปสู่การจัดอบรมในระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นโดเมสติกไมซ์ ด้วย  เพื่อให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดได้มีการปรับตัวรับมือกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ เป็นการสร้างฐานความแกร่งให้เหนือคู่แข่งขันในภูมิภาคนี้  ดังนั้น การอบรมในครั้งแรกนี้ จึงได้มีโค้วต้าให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อนำความรู้ที่ได้ ไปปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ประเดิม 2  แห่งคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัย  มหิดล อินเตอร์เนชั่นแนล คอลเลจ  จุดประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อการมุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการและพัฒนาคนในวงจรไมซ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสสปน.มั่นใจว่าผลของการต่อยอดโครงการนี้ ประเทศไทยจะผลิตบุคลากรด้านไมซ์ได้อย่างน้อยปีละ 200 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น