xs
xsm
sm
md
lg

สวนสยามทุ่ม3พันล.รุกหนัก ดึงแม็ทชิ่งร่วมตั้งบ.ลูกลุยทัวร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวนสยามทุ่ม 3,000 ล้านบาท เนรมิตสวนน้ำ-สวนสนุกขนาดยักษ์ ดูดนักท่องเที่ยวข้ามชาติ พร้อมปรับโครงสร้างองค์กร ดึงมืออาชีพเสริมทัพ สลัดภาพธุรกิจครอบครัว ตั้งเป้าโกยรายได้ปี 51 แบบก้าวกระโดดที่ 100 ล้านบาท

นายไชยวัฒน์  เหลืองอมรเลิศ  ประธานคณะกรรมการ บริษัท อมรพันธ์นคร-สวนสยาม จำกัด  ผู้บริหารสวนน้ำและสวนสนุก “สวนสยาม” เปิดเผยว่า แผนธุรกิจของสวนสยาม ตั้งแต่ปีนี้ ไปถึงปี 2551 บริษัท จะลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท  เพื่อปรับปรุงสวนสยาม ทะเล-กรุงเทพฯ ให้เป็นสวนสนุกแบบครบวงจร พร้อมปรับโครงสร้างภายในองค์กร ให้เป็นมืออาชีพอย่างเต็มรูปแบบ สลัดภาพความเป็นบริษัทแบบครอบครัว

โดยจะเร่งพัฒนากระบวนการทำงาน และบุคลากร พร้อมทั้งจะจ้างทีมงานมืออาชีพทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศเข้ามายกระดับองค์กร เพื่อให้การบริหารจัดการได้มาตรฐานในระดับเดียวกับสวนน้ำสวนสนุกระดับสากล โดยมีแนวคิดจะสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งจะให้บริษัท ประกิตฯ เข้ามาช่วยวางแผนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขณะที่บริษัท แม็ทชิ่ง เข้ามาเสริมด้านแผนการตลาดและจัดอีเวนต์ต่าง ๆ

ด้านการลงทุนนั้น บริษัทจะใช้เงินหมุนเวียนของบริษัท 1,000 ล้านบาท และใช้วงเงินกู้จากธนาคารไทยธนาคารอีก 2,000 ล้านบาท  ทยอยลงทุนในช่วง 2 ปี เริ่มจากปีนี้จะใช้งบ 1,500 ล้านบาท สำหรับติดตั้งเครื่องเล่นใหม่ๆรวม 6 เครื่อง  และปรับปรุงพื้นที่บางส่วน  ส่วนในปี 2551 จะใช้งบอีก 1,500 ล้านบาท ติดตั้งเครื่องเล่นอีก 10 เครื่อง ,ซ่อมแซมเครื่องเล่นเก่า และปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดภายในสวนสนุกและสวนน้ำ    เพื่อให้สวยงาม และปลอดภัย  โดยเมื่อการลงทุนแล้วเสร็จจะทำให้สวนสยามมีเครื่องเล่นทั้งหมด เกือบ 40 เครื่อง และจะทำให้สวนสยามเป็นสวนสนุก-สวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาเที่ยว โดยกลุ่มเป้าหมายต่างประเทศ บริษัทมีแผนดึงนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาใช้บริการ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ลาว กัมพูชา เป็นต้น    

“วงเงินกู้ ที่เรากู้มาจาก ไทยธนาคาร จะปลอดดอกเบี้ยและการผ่อนชำระคืนในช่วงที่อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องเล่น และหลังจากนั้นจึงจะคิดดอกเบี้ยในอัตราในช่วงนั้น และจะผ่อนคืนภายใน 7 ปี หลังจากวันเริ่มผ่อน และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ภายใน 10 ปี”

สำหับเครื่องเล่น 6 เครื่อง ที่จะติดตั้งให้เสร็จภายในปีนี้ ได้แก่  เกลียวเหาะมหาสนุก Suspended Looping Coaster รถไฟเหาะตีลังกา ที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 2 ของโลก มีความยาวถึง 765 เมตร สูง 33 เมตร ใช้พื้นที่ติดตั้ง 6 ไร่ ขณะที่ในประเทศอื่นมีความยาวเพียง 650 เมตรเท่านั้น  บูมเมอแรง รถไฟเหาะตีลังกาถอยหลัง ,ไจแอ้นท์ ดร็อป ดิ่งพสุธา ,ไช-แอม ทาวเวอร์ หอคอยลอยฟ้าชมวิว ,เหยี่ยวเวหา และอลาดิน พรมเหาะมหาสนุก ซึ่งได้นำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมันนี  ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนต.ค. นี้

“แผนการปรับปรุงสวนสยามครั้งนี้ นับเป็นครั้งยิ่งใหญ่ในช่วง 26 ปี นับจากเปิดให้บริการ แต่ทั้งนี้บริษัทจะเก็บค่าบริการในส่วนของเครื่องเล่น จากเดิมที่ซื้อบัตรเดียวเที่ยวได้ทั้งสวนน้ำและสวนสนุก ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าบริการตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.นี้ พร้อมกับการเปิดตัวมหกรรม “บิ๊ก ฮอลลิเดย์ 2007”  โดยเครื่องเล่นเก่าจะเก็บ 30-60 บาทต่อครั้งต่อเครื่อง ส่วนเครื่องเล่นใหม่อยู่ระหว่างการกำหนดราคา”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่เป็นกรุ๊ปทัวร์จากต่างประเทศ อาจจะเป็นบริษัทย่อย หรือบริษัทใหม่ เพราะจะเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ขณะนี้ได้จัดตั้งทีมงานขึ้นมาดูแลในธุรกิจดังกล่าวด้วย เพื่อมาดูแลเตรียมความพร้อม เช่น ที่จอดรถทัวร์ ที่พักของเจ้าหน้าที่กรุ๊ปทัวร์ และสิ่งอำนวยความสะดวก

ส่วนงบการตลาดปีนี้ ตั้งงบประมาณไว้ที่ 40 ล้านบาท แบ่งเป็นงาน “บิ๊ก ฮอลลิเดย์ 2007” จำนวน 10 ล้านบาท และปรับปรุงโลโก้ให้ดูสดใสและทันสมัยมากขึ้น ส่วนอีก 30 ล้านบาท จะใช้สำหรับลงโฆษณาประสัมพันธ์ โดยตั้งเป้ากำไร 40 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 20% สำหรับปี 2551 จะมีผลกำไรเติบโตเป็นเท่าตัว จากการเปิดให้บริการเครื่องเล่นใหม่ โดยจะมีกำไรเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทในปี 2551 และเพิ่มเป็น 150 ล้านบาท ในปี 2552

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทยังเดินตามแผนเดิมที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนี้รอเพียงความพร้อมของการลงทุนให้เรียบร้อย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนสนใจธุรกิจของสวนสยาม ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทมีผลกำไรมาตั้งแต่ปี 2547 ที่มีกำไร 12 ล้านบาท ปี 2548 กำไร 27 ล้านบาท และปี 2549 กำไร 38 ล้านบาท ซึ่งมาจากการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ไม่รวมผลกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และปัจจุบันนี้บริษัทได้ชำระหนี้กับธ.กรุงเทพฯหมดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น