xs
xsm
sm
md
lg

"วีจีไอ"จับมือ "เก่งกาจ"หนีตาย เปิดบริษัทลุยจัดงานเทรดแฟร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธุรกิจอีเวนต์ปีนี้เหนื่อย หลังผู้ประกอบการโดนพิษการเมือง –เศรษฐกิจ เล่นงาน งดแผนการใช้เม็ดเงินโฆษณา “วีจีไอ” ควบรวม “เก่งกาจ” หวังน้ำบ่อใหม่ เบนเข็มลุยธุรกิจเทรดแฟร์เป็นเรือธง เดินหมากจัดงานแสดงสินค้าไว้ 3 งานในปีนี้ ตั้งเป้าปีแรกโกย รายได้รวมไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท

นางภัสสรา เกษมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี จี ไอ เก่งกาจ จำกัด ดำเนินธุรกิจรับจัดงาน อีเวนต์, เทรดแฟร์ และ งานด้านสื่อโฆษณา เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว ทำให้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะในส่วนของการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ จะหันมาทำตลาดในรูปแบบบิโลว์เดอะไลน์ การจัดอีเวนต์ และการจัดกิจกรรมต่างๆมากขึ้น

สภาพเศรษฐกิจดังกล่าว มีผลมาจนถึงในปีนี้ บวกกับการเมืองที่ยังไม่มั่นคง ผู้ประกอบการก็ยิ่งมีการระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่หันมาจัดอีเวนต์แทน มองว่าในปีนี้นอกจากจะตัดงบทางการตลาดลงแล้ว งบเกี่ยวกับการจัดอีเวนต์และกิจกรรมต่างๆก็ถูกลดลงด้วย จึงทำให้บริษัทฯที่รับจัดงานในประเทศไทยจำนวนกว่า 200 รายนั้น เกิดการแข่งขัน และแย่งลูกค้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะกลยุทธ์ทางด้านราคา มีการตัดราคากันสูง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้ลูกค้านั้นเอง

จากสาเหตุดังกล่าวทำให้บริษัท เก่งกาจกิจกรรม จำกัด และบริษัท วี จี ไอ เอ็กซิบิชั่น จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจทางด้านการจัดงาน อีเวนต์ และกิจกรรมต่างๆ ได้ควบรวมธุรกิจเข้าร่วมกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ บริษัท วี จี ไอ เก่งกาจ จำกัด โดยทางวี จี ไอฯ ถือหุ้น 51 % และทาง เก่งกาจ ถือหุ้น 49 % ซึ่งทางเก่งกาจฯจะเป็นฝ่ายดูแลด้านการบริหารงานทั้งหมด ในการที่จะดำเนินแผนธุรกิจใหม่ สู่ธุรกิจเทรดแฟร์เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อมองหาธุรกิจหลักใหม่ ทดแทนธุรกิจอีเวนต์เดิมที่กำลังมีการแข่งขันสูงแทน

“การที่บริษัทฯงานแผนการดำเนินธุรกิจสู่เทรดแฟร์หรืองานแสดงสินค้าเป็นธุรกิจหลัก ทดแทนอีเวนต์นั้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสและช่องว่างของตลาดดังกล่าว โดยเฉพาะตลาดนีชมาร์เก็ต ที่ยังไม่มีรายใดทำอย่างจริงจัง คาดว่าการหันมาทำธุรกิจเทรดแฟร์ครั้งนี้จะสามารถแข่งขันได้ ภายใต้ความแตกต่างที่ทางบริษัทฯสร้างขึ้น ได้แก่ รูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าให้เป็น เอ็ดดูเทนเม้นท์ เทรดแฟร์ โดยจะเน้นในส่วนของอีเวนต์และการจัดกิจกรรมภายในงาน ที่ทำให้ผู้เข้าชมงาน มีส่วนร่วมให้มากที่สุด จากเดิมที่งานเทรดแฟร์ส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารทางเดียว ทางบริษัทฯจะเน้นให้เป้นการสื่อสารแบบสองทาง”

ล่าสุดในปีนี้ทางบริษัทฯได้จัดสรรงบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และงบประชาสัมพันธ์รวมอีกกว่า 60 ล้านบาท ในการจัดงานเทรดแฟร์หรืองานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ทั้งหมด 3 งานในปีนี้ ได้แก่ ซีเนียร์ แฮปปี้ เดย์ ระหว่างวันที่ 3-7 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนพื้นที่กว่า15,000 ตารางเมตร คาดว่าจะมีรายได้กว่า 40 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี จะมีงานแสดงสินค้าอีก 2 งาน คือ คิดส์ ออฟ เดอะ เวิล์ด จัดที่ อิมแพค เมืองทองธานี บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร ตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท และงาน เอาท์ดอร์ ลิฟฟวิ่ง เอ็กซ์โป จะจัดขึ้นที่ อิมแพค เมืองทองธานี เช่นเดียวกัน บนพื้นที่กลางแจ้งขนาด 70,000 ตารางเมตร ตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท

นางภัสสรา กล่าวต่อว่า งานแสดงสินค้าทั้ง 3 งานนี้ นอกจากจะมีความแตกต่างจากการจัดงานเทรดแฟร์ทั่วๆไปแล้ว ส่วนหนึ่งทีทางบริษัทฯตั้งใจจัดให้มีขนาดใหญ่นั้น ก็เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจไปยังต่างประเทศนั้น ทางบริษัทฯได้วางแผนไว้เช่นเดียวกัน เริ่มจากในปีนี้ จะมีการออกไปจัดงานในต่างประเทศ หรืออาจจะนำเอางานแสดงสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยตั้งเป้าในอีก 2 ปีจึงจะเข้าไปดำเนินธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตามในส่วนของธุรกิจอีเวนต์นั้น ทางบริษัทฯยังคงดำเนินการต่อไป โดยตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ไว้ที่ 50 ล้านบาท เท่าปีที่ผ่านมา โดยงานส่วนใหญ่ยังเป็นงานนอกจากบริษัทลูกค้าเดิมเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอไอเอ และ ธนาคาร กสิกรไทย นอกจากนี้ภายในงานแสดงสินค้าทั้ง 3 งาน บริษัทฯ จะนำธุรกิจอีเวนต์ดังกล่าวเข้าไปจัดกิจกรรมต่างๆภายในงานด้วย คาดว่าจะช่วยเสริมรายได้ในส่วนธุรกิจอีเวนต์ในปีนี้ได้เท่ากับปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

“จากแผนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมา คาดว่าปีแรกของการควบรวมบริษัทกันครั้งนี้ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท แบ่งเป็นเทรดแฟร์กว่า 80 % และอีเวนต์ 20 %” นางภัสสรา กล่าวในที่สุด

ปัจจุบันมูลค่ารวมของตลาดเทรดแฟร์ (รวมกับตลาดจัดการประชุม)ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าว่าจะเป็นเทรดแฟร์จากต่างประเทศหรือในประเทศ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเล็กน้อย คิดเป็นตัวเลขเพียง 1 หลักเท่านั้น ส่วนในปีนี้คาดว่าจะอัตราการเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้เกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ปัญหาการเมืองที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้ผู้ประกอบชะลอแผนการดำเนินธุรกิจไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ขณะเดียวกันทางด้านผู้บริโภคเอง คาดว่า จะให้ความสนใจในการเข้าชมงานแสดงสินค้าน้อยลง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความระมัดระวังทางด้านการใช้จ่าย อีกส่วนหนึ่งมาจากงานแสดงสินค้านั้นๆไม่มีความแตกต่างหรือสร้างแรงจูงใจเท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น