xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ชี้ ภาษีสุราสร้างปัญหาเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ปรึกษาอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุ โครงสร้างภาษีสุรา ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ขณะที่การปรับเพิ่มอัตราภาษีไม่ทำให้พฤติกรรมการดื่มสุราลดลง แต่กลับทำให้ผู้บริโภคหันมาดื่มสุราราคาถูกลง รวมทั้งยังจูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าสุราหนีภาษีมากขึ้นอีกด้วย

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาหลายอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันที่ภาครัฐพยายามแก้ไขอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากระบบโครงสร้างภาษี เพราะการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีปัญหาบางประการ คือ มีภาษีฝังใน ทำให้ภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บที่แท้จริงสูงเกินไป เนื่องจากการจัดเก็บคำนวณตามมูลค่า และจากการคำนวณภาษีหลังการเปลี่ยนแปลงอัตราการจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2546 ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน

สำหรับการคำนวณภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตในประเทศจะคำนวณภาษีจากราคาหน้าโรงงานบวกภาษีสรรพสามิต และภาษีท้องถิ่น ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าจากต่างประเทศจะคำนวณจากราคา ณ ด่านศุลกากรบวกภาษีศุลกากรบวกค่าธรรมเนียมอื่นๆ บวกภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่น และจากการจัดเก็บเช่นนี้ทำให้เกิดภาษีฝังใน โดยเฉพาะในกลุ่มเบียร์ที่เห็นชัดว่า ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ทำให้ผู้ผลิตเบียร์ประเภทสแตนดาร์ด คือระดับกลางในตลาดเสียเปรียบผู้ผลิตเบียร์ประเทศอีคอนอมี หรือเบียร์ราคาต่ำ และพรีเมียม หรือเบียร์ราคาสูง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากการจัดทำโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบเพื่อการป้องกันการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ตนและคณะจากทีดีอาร์ไอ ได้เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ในเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อสังคม และผลอันเกิดจากมาตรการทางภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา พบว่าโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสร้างผลกระทบหลายเรื่อง ที่เห็นชัดคือ ผู้ประกอบการรายงานราคานำเข้าต่ำกว่าเป็นจริง เพื่อเสียภาษีน้อยหรือนำเข้ายี่ห้อใหม่ๆ ที่ไม่มีราคาอ้างอิงและบอกราคาในอัตราที่ต่ำ ส่วนที่ผลิตในประเทศจะใช้วิธีรายงานราคาหน้าโรงงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่การคำนวณภาษียังทำให้เครื่องดื่มราคาแพงที่ต้องเสียภาษีมากกว่าเครื่องดื่มราคาถูก แม้ว่าจะมีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เท่ากัน ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพงเปลี่ยนไปนำเข้าเครื่องดื่มที่มีราคาถูก โดยนำไปบรรจุขวดในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วนำเข้าประเทศไทย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงเหมือนในอดีต

ที่ปรึกษาอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า จากการวิจัยพบว่า การปรับเพิ่มอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายครั้งไม่ได้ทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง เพราะมีรายงานปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาดื่มเครื่องดื่มราคาที่ถูกลง เช่น ลดจากเครื่องดื่มราคาแพง 1 ขวด เป็นเครื่องดื่มราคาปานกลาง 2 ขวด ที่สำคัญ อย่างหนึ่ง คือ การจากการจัดเก็บภาษีที่สูงเกินไปจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบัน ทำให้เป็นสิ่งจูงใจลักลอบหนีภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคก็มีความต้องการบริโภคเครื่องดื่มราคาแพงในราคาที่ต่ำลง ซึ่งสามารถหาได้จากตลาดมืดทั่วไปในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ระบบภาษีไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จากการวิจัยยังพบว่ามีการลักลอบนำเข้าสุราต่างประเทศในปริมาณที่สูง โดยวิสกี้มีประมาณร้อยละ 10-11 ของปริมาณการนำเข้าวิสกี้ทั้งหมด ขณะที่ไวน์มีการลักลอบนำเข้าสูงถึงร้อยละ 40-55 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น