xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” เตรียมชงร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานเข้า ครม.เดือนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันจะเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. … เข้าสู่การประชุม ครม.ภายในเดือนหน้า โดยประเด็นใดที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ. ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ขณะที่การทำแผนพีดีพีก็จะรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง และจะนำข้อมูลที่ได้จากการเดินทางไปโอมานมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. … ว่า ประเด็นที่ สร.กฟผ.ห่วงคือ การแปรรูป กฟผ. ซึ่งยืนยันว่าในร่างเดิมไม่ได้มีการพูดถึงการแปรรูป กฟผ. แต่หากเห็นว่าถ้อยคำใดมีข้อน่าวิตกกังวล ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ส่วนประเด็นที่เอ็นจีโอห่วงจะแตกต่างออกไป โดยเอ็นจีโอเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้เข้าถึงการปรับโครงสร้างกิจการพลังงานทั้งระบบ เพื่อลดปัญหาการผูกขาด ซึ่งยืนยันเช่นกันว่าในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้พิจารณาการปรับโครงสร้าง เพราะเห็นว่าควรเป็นอำนาจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะพิจารณามากกว่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยืนยันว่า กระทรวงพลังงานจะยังคงเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นที่ จ.ขอนแก่นและเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมความเห็นทั้งหมดเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะต้องเร่งเสนอ ครม.ให้ทันในเดือนมีนาคมนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ เพราะในขั้นตอนที่กฤษฎีกาพิจารณาจะต้องใช้เวลานาน และยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อ สนช. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลจะเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นมุมมองของแต่ละบุคคล

ส่วนการรับฟังความเห็นแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 15 ปี หรือแผนพีดีพี 2007 ที่ล้มเหลว ก็ยังคงต้องจัดรับฟังความเห็นอีกครั้ง แต่ช่วงนี้กระทรวงพลังงานจะเร่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานให้แล้วเสร็จก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องการรับฟังความเห็นที่มีเหตุผล ไม่ใช่การต่อต้านและจำกัดสิทธิ์ของบุคคลอื่น

นอกจากนี้ การรับฟังความเห็นดังกล่าว ในครั้งต่อไปจะนำข้อมูลที่ได้จากการเดินทางไปที่โอมานมาพิจารณาด้วย เพราะพบว่า ขณะนี้ที่โอมานแม้จะเป็นตลาดใหญ่สำหรับการส่งออกก๊าซแอลเอ็นจี และมีกำลังการผลิตเพิ่มจาก 31 ล้านตันต่อปี เป็น 77 ล้านตันต่อปี แต่ก็มีสัญญาการซื้อก๊าซแอลเอ็นจีเรียบร้อยแล้ว จากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน เพราะประเทศเหล่านี้มีปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน ดังนั้น จึงจะนำข้อจำกัดเรื่องก๊าซแอลเอ็นจีและการเร่งหาพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อผลิตไฟฟ้ามาพิจารณาด้วย เพราะหลายประเทศขณะนี้กำลังพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานประเภทอื่น ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น