xs
xsm
sm
md
lg

แขวะเที่ยวไทย เติบโตแต่ไร้ทิศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทท.แนะรัฐเร่งทำวิจัยสร้างฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยว นำทางเอกชนเพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนการลงทุน เผยท่องเที่ยวไทยโตแบบไร้ทิศ ส่งผลส่วนแบ่งทั้งรายได้และจำนวนในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลดลง ด้านอดีตผู้ว่าการ ททท.สับยับ รัฐบาล “ทักษิณ” ใช้ช่องทางท่องเที่ยวผลาญงบกันมันส์มือ ลงทุนผุดโครงการ แต่ไม่คุ้มรายได้ ทั้งอีลิทการ์ด ลองสเตย์ ไนท์ซาฟารี ฉะผู้ว่าซีอีโอถลุงงบดูงานต่างประเทศ

วานนี้ (12 ก.พ.) ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทิศทางการท่องเที่ยวไทยในปีหมูทอง” นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในช่วง 10 ปี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย เติบโตไปในสัดส่วนเดียวกันกับการเติบโตของการท่องเที่ยวโลก  ทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ หรือมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.6% และ 10.8% ตามลำดับ  

ขณะที่การท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่ง และประเทศใกล้เคียง อย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลี และเวียดนาม มีการเติบโตในลักษณะที่สามารถเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้  เช่น เมื่อปี  2533  ประเทศจีนมีส่วนแบ่งรายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในสัดส่วน 5% แต่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น มากกว่า 21% ขณะที่จำนวนจากปี 2553 จีนมีส่วนแบ่งที่ 19% ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 28% ส่วนไทยมีส่วนแบ่งที่น้อยลง เช่น จากส่วนแบ่งด้านจำนวนที่เคยอยู่ที่ 9% ลดเหลือ 8% ส่วนรายได้จาก 9.4% เหลือเพียง 7.2%   ส่วนประเทศมาเลเซียมีส่วนแบ่งรายได้จาก  3.6% เพิ่มเป็น  6.1%

ทั้งหมดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า  ไทยได้นักท่องเที่ยวที่ด้อยคุณภาพมากขึ้น แม้ตัวเลขจำนวนจะเติบโตทุกปี ขณะเดียวกัน เป็นการเติบโตตามกระแสตลาดเท่านั้น

จี้รัฐทำรีเสิร์ชนำทางเอกชน
สาเหตุหลักมาจากภาครัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างถูกจุด แต่เป็นการช่วยเหลือแบบไร้ทิศทาง ส่งผลให้ภาคเอกชนยังต้องพึ่งวิสัยทัศน์และความรู้สึกของตัวเองมากกว่าการเข้าถึงเทรนด์ตลาดอย่างแท้จริง ทำให้ส่วนหนึ่งของภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวต้องพบกับความล้มเหลวในการประกอบการ และส่งผลให้ประเทศไทยมีสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ

ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสนใจกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เหมือนกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคผลิต เช่น ให้อินเซนทีฟแก่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้เหมือนกับที่ บีโอไอ ให้อินเซนทีฟภาคการผลิต, การเร่งพัฒนาบุคลากร  ระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้มีมาตรฐานเทียบชั้นสากล และการให้ความสำคัญกับการทำวิจัย และพัฒนา เพื่อให้เอกชนใช้เป็นข้อมูลไปพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของตลาด

“ประเทศไทยเก่งเรื่องการตลาด แต่กลับมีการเติบโตแบบช้าๆ ประเทศอื่นเขาเติบโตเร็วในสัดส่วนที่เร็วกว่า อีกทั้งยังต้องการให้รัฐบาลหาวิธีปลูกฝังสำนึกคนไทยให้ลดการใช้จ่ายต่อทริปที่ออกไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศให้ลดลงด้วย โดยเฉพาะเรื่องการชอปปิ้ง  แต่ควรไปเที่ยวเพื่อพักผ่อนและหาความรู้ ไม่ใช่มุ่งแค่มุ่งเรื่องชอปปิ้ง เพื่อให้ดุลบริการท่องเที่ยวของประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศปีละเพียง 2-3 ล้านคน แต่มีตัวเลขการใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวถึง 1 ใน 3 ของรายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในแต่ละปี” นายกงกฤษ กล่าว

วิกฤตโลกร้อนกระทบท่องเที่ยว
ทางด้าน นายภราเดช พยัฆวิเชียร  ที่ปรึกษา 11 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าการ ททท.กล่าวว่า  สิ่งที่จะเป็นปัจจัยลบจากปีนี้ไปในอนาคต  ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งศึกษาเพื่อหาวิธีการรับมือและแก้ไข  มีหลายปัจจัย ได้แก่ ภาวะโลกร้อน ที่จะเข้ามากระทบกับภาคการท่องเที่ยว  เช่น  ฤดูกาลเล่นสกี จะสั้นลง หรือจะกระทบกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น การดำน้ำ ชมปะการัง เป็นต้น

นอกจากนั้น ล่าสุด สายการบินจากกลุ่มอียู ได้ประกาศที่จะคิดค่าเซอร์ชาร์จจากลูกค้าที่ใช้บริการเพราะมีส่วนทำให้โลกร้อนจากการบินของเครื่องบิน เพื่อรณรงค์ให้ลดการเดินทางแบบระยะไกล แล้วหันมาเดินทางท่องเที่ยวในระยะใกล้ หรือในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น  นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ  เช่น การชะลอตัวของการเติบโตในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาหาการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์  ทั้งหมดจะส่งผลให้ตลาดระยะไกลที่จะเดินทางเข้ามาในเอเชียแปซิฟิกลดลง หรือมีการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดขึ้น

ขณะเดียวกัน การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์  ที่มองว่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น ในทางกลับกันก็จะเป็นผลให้ประชาชนเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการที่แอร์เอเชียประเทศมาเลเซีย ได้เปิดตัว “แอร์เอเชียเอ็กซ์” บินตรงจากกัวลาลัมเปอร์ ไปยังยุโรป ในราคาประหยัด ยิ่งทำให้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเดินทางไปยุโรปมากขึ้นก็เป็นได้

“มองว่า การเติบโตในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมาถือเป็นการกินบุญเก่า รายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ได้มาไม่คุ้มกับทรัพยากรที่ต้องสูญเสียไป”

อัดรัฐบาลชุดเก่าถลุงงบอย่างไร้ค่า
อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เป็นการใช้เงินที่ไม่ตรงจุด ไม่ได้นำเงินมาใช้เพื่อพัฒนาภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน แต่กลับไปทุ่มให้กับการจัดอีเวนต์, การจัดจ้างออกาไนซ์ มากเกินความจำเป็น

ขณะเดียวกัน ในภาคลงทุน รัฐบาลยังใช้เงินไปกับการก่อตั้งองค์กรใหม่ๆ ที่ไม่เกิดประโยชน์หรือไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่าที่ควร เช่น การจัดตั้งบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือโครงการอีลิทการ์ด การจัดตั้งบริษัท ไทยจัดการลองสเตย์  การจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.และการก่อสร้างสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ทั้งหมดที่กล่าวมาใช้งบประมาณกลายพันล้านบาท แต่ไม่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากเท่าเม็ดเงินที่ต้องลงทุนไป อีกทั้งยังทำให้เกิดการทำงานที่ทับซ้อน ไม่เป็นหนึ่งเดียว เช่น สสปน.ซึ่ง ททท.จะมีหน่วยงานดูแลเรื่องจัดประชุมอยู่แล้ว เป็นต้น

“รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ใช้เงินเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบฟุ่มเฟือยเกินเหตุ ไม่มีประโยชน์กับการท่องเที่ยวเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่เป็นคอสต์เซ็นเตอร์  มากกว่าที่จะเป็นโปรฟิตเซ็นเตอร์ คือ เป็นการใช้เงินเพื่อลงทุนแบบไม่คุ้มกับรายได้”  อดีตผู้ว่าการ ททท. กล่าว

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างระบบราชการที่ผ่านมา โดยในภาคการท่องเที่ยวให้ผู้ว่าฯซีอีโอ เป็นผู้มีอำนาจใช้งบประมาณ ซึ่งผลจากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าล้มเหลวกว่า 90% เพราะใช้เงินงบประมาณไปกับการดูงานในต่างประเทศ ทั้งที่ไม่รู้ว่าไปดูเพื่ออะไรและจะกลับมาใช้อย่างไร เนื่องจากยังไม่เข้าใจถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น