xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการติงแผนพีดีพีใหม่ยังสูงเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการติงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ยังมีความไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่ เนื่องจากคำนวณบนพื้นฐานความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งที่ในอดีตเคยพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าพลาดเป้าหมายมาหลายครั้ง พร้อมระบุหากมีการบริหารจัดการที่ดีและประเมินภาวะเติบโตเศรษฐกิจที่สอดคล้องความจริง ความต้องการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ (ไอพีพี) แทบไม่ต้องมี ขณะที่กระทรวงพลังงานยืนยันจัดรับฟังความเห็นแผนพีดีพีใหม่แน่นอน

นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เปิดเผยว่า แผนพีดีพี 2007 ที่กระทรวงพลังงานจัดทำ มีความไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่ เพราะได้วางแผนว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นโดยตลอดทุก ๆ ปี โดยใน 5 ปีแรกของแผนความต้องการขึ้นถึง 1,400 เมกะวัตต์ต่อปี ทั้งที่ความจริงในอดีตความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงพลาดเป้าหมายพยากรณ์หลายครั้ง โดยเฉพาะปีที่แล้วพลาดเป้าหมายถึง 899 เมกะวัตต์ ที่สำคัญสมมุติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง แต่พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับสูงขึ้น

“ที่สำคัญทำไมกระทรวงพลังงานจึงมีการบวกเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือเอสพีพี เข้าระบบแทนที่จะมีการหักออก และเห็นว่ากระทรวงพลังงานควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่หลากหลาย” นายเดชรัต กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาชี้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 2,500 เมกะวัตต์ ในช่วงเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2554 และหากพิจารณาข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดไว้เดิมเป็นร้อยละ 4.8 จะพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2556 จะลดลงจาก 31,569 เมกะวัตต์ เหลือ 30,171 เมกะวัตต์ จึงเสนอให้มีการลงทุนในการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ปีละ 400 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2551-2556 รวม 2,400 เมกะวัตต์ ตามศักยภาพที่มีอยู่ และจากการมีทางเลือกในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพีและผู้ผลิตรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงผลิต น่าจะมีไฟฟ้าเข้าสู่ระบบประมาณ 650 เมกะวัตต์ในช่วงเวลา 7 ปี ระหว่างปี 2550-2556 บวกกับการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าอีก 2,400 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่แล้ว ทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 10,958 เมกะวัตต์ มากกว่าแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเดิมประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

ส่วนความจำเป็นในการประมูลไอพีพีใน 4 กรณี พบว่า กรณียึดการพยากรณ์ของกระทรวงพลังงานกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการอยู่ จะพบว่ากำลังผลิตสำรองจะมีระดับต่ำกว่าร้อยละ 15 ในปี 2554-2556 จึงต้องเปิดประมูลไอพีพี 1,947 เมกะวัตต์ แต่หากยึดการพยากรณ์ของกระทรวงพลังงาน โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการบวกกับการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าและการรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพีและวีเอสพีพี กำลังผลิตสำรองจะเกินร้อยละ 15 แต่หากประเมินอัตราเติบโตเศรษฐกิจร้อยละ 4.8 ไม่รวมการจัดการไฟฟ้าและการรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพีและวีเอสพีพี กำลังผลิตสำรองจะต่ำกว่าร้อยละ 15 ในปี 2555-2556 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่จำเป็นต้องเปิดประมูลไอพีพีจะลดลงเหลือ 789 เมกะวัตต์ และกรณีสุดท้ายปรับการพยากรณ์เป็นอัตราเติบโตเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.8 รวมกับโรงไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการ บวกการจัดการใช้ไฟฟ้าและรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพีและวีเอสพีพี กำลังผลิตสำรองจะเกินร้อยละ 15 จึงไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลไอพีพีแต่อย่างใด

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงจะมีการจัดรับฟังความเห็นเรื่องพีดีพีใหม่แน่นอน โดยกำลังกำหนดวันและสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งการทำร่างแผนพีดีพีไว้ดังกล่าว ก็เป็นการจัดทำตามการคาดการณ์อัตราเติบทางเศรษฐกิจด้วยตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่สำคัญแผนดังกล่าวจะมีการปรับในทุกปีอยู่แล้ว ตามภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น