xs
xsm
sm
md
lg

พรานทะเลจับมือ"ชามิฯ"ยักษ์ซาอุฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยูเอฟพี บริษัทแม่พรานทะเล ดอดร่วมทุน”ชามิฯ” ยักษ์ใหญ่ฟาร์มปศุสัตว์จากซาอุฯ ผุดบริษัทสยาม แอนด์ ชามิ เรดซี ลุย 4 ธุรกิจใหญ่ครบวงจรครั้งแรกในต่างแดน ประมง แปรรูป ฟูดเซอร์วิส เพาะสัตว์น้ำ ขยายตลาดตะวันออกกลาง-เอเชีย อัดฉีด 400 ล้านบาท นำร่อง 2 โครงการ ชูความได้เปรียบต้นทุนน้ำมันถูก วัตถุดิบหลากหลายแข่งสามยักษ์ใหญ่ตลาดโลก สิ้นปีรายได้ขยับ 7,500 ล้านบาท โต 10%

นายธงชัย ธาวนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี.ที.อินเตอร์ฟิชเชอรี่ จำกัด หนึ่งในเครื่อบริษัท ยูเนี่ยน โฟรเซนโปรดักส์ จำกัด และเป็นบริษัทแม่ของบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งพรานทะเล เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท วางเป้าหมายรุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการสร้างฐานสินค้าให้ครบด้วยการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย โดยปีนี้จะเริ่มรุกตลาดภูมิภาคเอเชียอย่างเต็มรูปแบบ ก่อนหน้านี้บริษัทได้เปิดตลาดในสิงคโปร์ด้วยอาหารพร้อมทาน และส่งออกไปกุ้งแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่นและอเมริกา รวมทั้งการขยายตลาดไปยังประเทศในตะวันออกกลาง

ดังนั้นบริษัทจึงได้ร่วมทุนดำเนินธุรกิจอาหารทะเลกับบริษัท ชามิ อัล –ฮัสซานิ แอนด์ ซันส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเรียลเอสเตท โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ ฟาร์มปศุสัตว์ ฯลฯ จากประเทศซาอุดิอาระเบีย จัดตั้งบริษัท สยาม แอนด์ ชามิ เรดซี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ในสัดส่วนลงทุนสัดส่วน 50:50 เพื่อทำอุตสาหกรรมประมงน่านน้ำและแปรรูปสัตว์ในน่านน้ำตะวันออกกลาง ซึ่งแนวทางบริหารยูเอฟพีจะเป็นผู้บริหารงานด้านการตลาด ส่วนบริษัทชามิฯ ดูแลด้านศักยภาพและช่องทางต่างๆภายใต้เครือข่ายทางธุรกิจที่ใหญ่และกว้างขวาง

การร่วมทุนดังกล่าวนับว่าเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจรในต่างประเทศครั้งแรกของยูเอฟพี โดยแบ่งออกเป็น 4 โครงการหลัก ได้แก่ ประการแรก คือ การทำประมง ซึ่งเป็นโครงการเริ่มแรกในการดำเนินธุรกิจครั้งนี้ ประกอบด้วย เรือประมงขนาด 300 ตัน สามารถหาแหล่งวัตถุดิบ 2 ลำ และเรือประมงขนาด 60 ตัน จำนวน 6 ลำ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจับวัตถุดิบได้ประมาณ 8,000-9,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 280 ล้านบาท โดยรูปแบบการจัดจำหน่ายวัตถุดิบ แบ่งเป็น ส่งกลับมาในประเทศไทย 50% อีก 50% ช่วงแรกมุ่งเน้นตลาดในซาอุดิอาระเบีย และแผนในระยะยาวเตรียมขยายตลาดไปสู่ประเทศในตะวันออกกลางในสัดส่วน 20%

สำหรับโครงการที่สอง การแปรรูปสัตว์น้ำในรูปแบบพร้อมทานภายใต้แบรนด์”พรานทะเล”ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตและแปรรูปสัตว์น้ำได้ประมาณไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2550 ซึ่งการแปรรูปจะต้องสำรวจพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคก่อน ส่วนแผนพัฒนาธุรกิจที่สาม คือ การดำเนินธุรกิจในรูปแบบภัตราคารอาหารทะเลในตะวันออกกลาง นำร่องที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยได้นำวิธีการบริหารเครือข่ายจากร้านพรานทะเลฟาสต์ซีฟูดเป็นต้นแบบ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตั้งชื่อแบรนด์ และโครงการสุดท้าย คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง บนพื้นที่ 3,000 ไร่

นายธงชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นยูเอฟพีและชามิฯ ได้ลงทุน 400 ล้านบาท ในส่วนของการทำประมงกับโรงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และภายในปีที่ 2 รูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้ง 4 โครงการจะเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามการร่วมทุนในครั้งนี้ เนื่องจากจำนวนสัตว์น้ำในน่านน้ำภูมิภาคนี้ลดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งเริ่มเกิดภาวะขาดแคลน จากปัจจุบันบริษัทมีเรือประมงน้ำลึก 13 ลำ ในประเทศอินโดนีเซีย และมอริเชียส เป็นต้น ทำให้บริษัทต้องเร่งหาแหล่งน่านน้ำใหม่ๆ

อีกทั้งการร่วมทุนกับผู้ประกอบการซาอุดิอาระเบีย ซึ่งประเทศผลิตน้ำมัน ทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันถูกมากกว่า 50% โดยราคาน้ำมันจำหน่าย 7-8 บาทต่อลิตร เนื่องจากเรือทั้งหมดจดทะเบียนในนามบริษัทร่วมทุน จากปัจจุบันต้นทุนน้ำมันในไทยคิดเป็น 65-70% ขณะที่สภาพตลาดอาหารซีฟูดเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโต จากจำนวนผู้ประกอบการที่เปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้บริโภคก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังการซื้อที่ดี และประการสำคัญ คือ การได้วัตถุดิบใหม่ที่มีความหลากหลาย ซึ่งปัจจัยบวกทั้งหมดทำให้บริษัทสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากประเทศจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบประเทศไทยในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า

สำหรับผลประกอบการปีนี้ตั้งเป้า 7,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 220 ล้านเหรียญฯ หรือมีอัตราการเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าหลังจากร่วมลงทุนกับชามิฯจากประเทศซาอุดิอาระเบีย สัดส่วนรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น 10-15% จากเดิมมีเพียง 10% ของรายได้รวม โดยมีตลาดหลัก สหรัฐอเมริกาสัดส่วน 60% ยุโรป 15% ญี่ปุ่น 15% และในประเทศ 10% และปีแรกตั้งเป้าบริษัทร่วมทุน สยาม แอนด์ ชามิ เรดซี จำกัด สามารถสร้างกำไร 20%
กำลังโหลดความคิดเห็น