xs
xsm
sm
md
lg

นลท.ญี่ปุ่นมองความเชื่อมั่น ศก.ไทยต่ำสุดใน 5 ชาติอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุนักลงทุนญี่ปุ่นมองความเชื่อมั่นแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยต่ำสุดใน 5 ชาติอาเซียน แม้ค่าดีไอประมาณการในครึ่งแรกของปีนี้จะดีกว่าครึ่งหลังปีที่แล้วก็ตาม คาดยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่างที่กระทบต่อการทำธุรกิจ รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทด้วย ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 49,529 ล้านบาท พร้อมเสนอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายต่อเนื่อง และเร่งขจัดภาพพจน์เชิงลบของรัฐประหารจากสายตาต่างประเทศ

นายโยชิอิ คาโตะ ประธานคณะกรรมการวิจัยทางเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจโทร) ในไทย แถลงผลสำรวจของเจโทรเกี่ยวกับดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจหรือค่าดีไอใน 5 ชาติอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ประจำเดือนมกราคม พบว่าประเทศไทยมีค่าดีไอต่ำที่สุด อยู่ที่ระดับ –12.9 ขณะที่สิงคโปร์มีค่าดีไออยู่ที่ + 13.1 ดีที่สุดใน 5 ชาติอาเซียน รองลงมาคืออินโดนีเซีย +4.6 ฟิลิปปินส์ –4.3 และมาเลเซีย –4.6 โดยตัวเลขประเทศไทยตกต่ำต่อเนื่องมานานถึง 9 เดือน หากเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งค่าดีไอของไทยแย่ลงจากเดิมที่มีตัวเลขอยู่ในระดับเดียวกับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย แต่ดีกว่าอินโดนีเซีย แต่พบว่าขณะนี้ไทยกลับแย่กว่าทุกประเทศรวมทั้งอินโดนีเซีย

สำหรับผลสำรวจค่าดีไอในครึ่งแรกปี 2550 ของไทย ตัวเลขอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยค่าดีไอมีค่าประมาณการอยู่ที่ระดับ 23 แต่ถือว่าดีกว่าการสำรวจเมื่อครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีอยู่เพียงระดับ 9 แต่หากเทียบกับครึ่งแรกของปีที่แล้ว ผลสำรวจยังต่ำกว่า เพราะค่าดีไอในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 25 สรุปแล้วค่าดีไอของไทยในช่วง 2 ปี ต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยจากผลสำรวจในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 พบว่า บริษัทที่ตอบว่า สภาพธุรกิจดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 41 ซึ่งอยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทที่ตอบว่า สภาพธุรกิจแย่ลงมีร้อยละ 18 ลดลง 14 หน่วยเมื่อเทียบกับระยะก่อนหน้า ทำให้ค่าประมาณการสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทในอุตสาหกรามการผลิต พบว่าอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวในทิศทางแย่ลง ขณะที่การปรับตัวในทิศทางดีขึ้นมีเกือบทุกอุตสาหกรรมการผลิตประเภทอื่น ๆ ส่งผลให้ค่าดีไอประมาณการของอุตสาหกรรมการผลิตดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ค่าดีไอดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และมาตรการกันสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท การแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งอาจจะยังไม่มีผลกระทบต่อการย้ายการลงทุนจากไทยทันที แต่ส่งผลต่อความมั่นใจการลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนญี่ปุ่นจะเลือกลงทุนในประเทศที่อำนวยความสะดวกด้านการส่งออก เช่น กรณีมาเลเซียมีมาตรการส่งเสริมการส่งออกธุรกิจไฟฟ้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่อยู่ในระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นระดับที่แข็งค่ามาก ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นนำไปเป็นฐานประกอบการพิจารณาลงทุน โดยหลายบริษัทกำลังตัดสินใจว่าอาจจะลงทุนในประเทศญี่ปุ่นแทนที่จะย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทย

นอกจากนี้ผลสำรวจค่าดีไอยังพบว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพรวมทั้งค่าจ้างแรงงานเป็นปัจจัยสูงสุด รองลงมาเป็นการบริโภคและการลงทุนไม่ขยายตัว เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งความยืดเยื้อของความสับสนทางการเมือง

ส่วนยอดขายในปี 2550 นั้น มีการคาดการณ์ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นและกำไรก่อนหักภาษีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร ผลสำรวจพบว่า ในปี 2550 จะลดลงร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับรอบปี 2549 โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนในปีนี้จะมีประมาณ 49,529 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีประมาณ 67,372 ล้านบาท และบริษัทที่ตอบว่า การลงทุนเพิ่มขึ้นมีจำนวน 66 บริษัท น้อยกว่าบริษัทที่ตอบว่า การลงทุนลดลงที่มี 72 บริษัท โดยเหตุผลการลงทุนที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิม การขยายจำนวนเครื่องจักรเป็นสำคัญ

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน จากผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย 341 บริษัทที่ตอบกลับมา ร้อยละ 27 พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายต่อเนื่อง รองลงมาคือเร่งขจัดภาพพจน์เชิงลบของรัฐประหารจากสายตาต่างประเทศ และเร่งให้นำเงินงบประมาณประจำปี 2550 มาใช้บริหารประเทศอย่างรวดเร็ว โดยกรณีผลกระทบจากรัฐประหาร พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นว่าส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศมากที่สุด และเกิดการชะลอตัวทางธุรกิจ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นระงับการเดินทางและมีการชะลอตัวสำหรับการลงทุนภายในประเทศอีกด้วย

“สิ่งที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว โดยในวันนี้แข็งค่าอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่หารือกันว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นจะยกเป็นประเด็นพิจารณาเร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแผนการลงทุน ซึ่งจะมีการโยกย้ายการลงทุนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค พบว่า ผลสำรวจในปี 2549 ประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุด คือ จีน รองลงมาคือ อินเดีย เวียดนามและไทย ทำให้ประเทศไทยน่าสนใจในการลงทุนน้อยลง จากก่อนหน้านี้ไทยมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าเวียดนามและตัวเลขการลงทุนโดยตรงของเวียดนามปีที่แล้วอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทยที่มีประมาณ 8,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” ประธานเจโทรกล่าว

เจโทรพร้อมเข้าช่วยแก้ปัญหามลพิษที่มาบตาพุด
นายโยชิอิ กล่าวถึงปัญหามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า ได้เสนอแนะไปยังนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยญี่ปุ่นพร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือและดูแลปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้นำปัญหามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดไออิจิ ของญี่ปุ่น เพื่อมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นเห็นว่า การที่ประเทศไทยให้ความใส่ใจเรื่องมลภาวะเป็นเรื่องที่ดี และทำให้เกิดการลงทุนในอนาคต อย่างไรก็ตาม จะส่งผลกระทบด้านต้นทุนการลงทุนให้สูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีมาตรฐานของมลภาวะที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น