xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยนิยมบัตรอวยพร“ภาพพระบรมฉายาลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อบัตรอวยพรปีใหม่ของคนกรุงเทพฯโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 777 รายในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าเม็ดเงินรวมที่คนกรุงเทพฯใช้จ่ายเพื่อการซื้อบัตรอวยพรช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2550 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 390 ล้านบาท งบประมาณซื้อบัตรอวยพรปีใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 จำนวน 11.4%


ในช่วงเทศกาลสำคัญคือวันขึ้นปีใหม่ของทุกปีความต้องการใช้บัตรอวยพรของคนไทยจะมีเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดพบว่าจำนวนไปรษณีย์ภัณฑ์ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2549-15 มกราคม 2550 คาดว่าจะมีประมาณ 6.6 ล้านชิ้นต่อวันซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนประมาณ 10%

ประเภทของบัตรอวยพรจำแนกตามแหล่งที่มาได้ดังนี้

-บัตรอวยพรที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง จากความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดเขียนรูปภาพหรือข้อความต่างๆ หรือนำเอาวัสดุต่างๆมาประดิษฐ์ให้มีความสวยงามตามแต่จินตนาการของผู้ทำ ทั้งนี้ปัจจุบัน การประดิษฐ์บัตรอวยพรขึ้นเองยังพัฒนาไปเป็นการผลิตเพื่อการค้าโดยผู้ทำจะใช้กล้องดิจิตอลถ่ายภาพวิว คน สัตว์หรือสิ่งของในมุมมองที่แปลกตาและแนวศิลปะแตกต่างจากรูปแบบบัตรอวยพรทั่วไป ก่อนจะนำไปตกแต่งผ่านโปรแกรมตกแต่งภาพในคอมพิวเตอร์แล้วจึงนำไปพิมพ์ยังร้านถ่ายรูปออกมาจำหน่ายตามพื้นที่ตลาดนัดหน้าห้างสรรพสินค้าหรือสวนจตุจักรในราคาที่ไม่สูงมากนักเพียงประมาณ15-20 บาท/ใบ

-บัตรอวยพรที่ผลิตจากบริษัทผู้ผลิตทั่วไป ในส่วนนี้มีทั้งที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศซึ่งมีราคาจำหน่ายไม่สูงนัก รวมทั้งสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง บัตรอวยพรประเภทนี้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และดิสเคาท์สโตร์ทั่วไป

-บัตรอวยพรที่ผลิตจากองค์กรต่างๆ เช่นของมูลนิธิ องค์กรภาคเอกชนรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ผลิตบัตรอวยพรในวาระต่างๆ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินไปใช้ในด้านการกุศลหรือใช้ภายในองค์กร

สำหรับสถานการณ์ตลาดบัตรอวยพรในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2550 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการอวยพรปีใหม่ของคนกรุงเทพฯในระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2549 ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 777 ราย พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีการอวยพรปีใหม่ปี 2550 ด้วยวิธีการใช้บัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส. และอวยพรผ่านโทรศัพท์มือถือในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยบัตรอวยพรปีใหม่มีผู้เลือกใช้คิดเป็นสัดส่วน 46.6% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ

ในขณะที่การอวยพรผ่านโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วน 42.1% และการอวยพรผ่านอิเล็กทรอนิกส์การ์ด(E-Card) มีสัดส่วน 10.7% ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซึ่งมีอายุระหว่าง 15-29 ปี มีการอวยพรปีใหม่ผ่านทางระบบโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 45.6% และใช้บัตรอวยพรในสัดส่วน 42.4% ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มคนในช่วงดังกล่าวเป็นคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นที่มีการถือครองโทรศัพท์มือถือในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการส่งข้อความและภาพ(SMS, MMS)ก็มีมากกว่ากลุ่มคนอายุอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มคนในวัยอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจะมีความคุ้นเคยกับวิธีการอวยพรปีใหม่ด้วยบัตรอวยพรมาแต่ดั้งเดิมทำให้เลือกใช้วิธีนี้ถึง 53.3% และใช้วิธีอวยพรปีใหม่ผ่านทางระบบโทรศัพท์มือถือสัดส่วน 36.6%

สำหรับในส่วนของงบประมาณที่ใช้ทางด้านการซื้อบัตรอวยพรในปี 2550 เพื่อส่งให้กับบุคคลต่างๆจากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯใช้งบประมาณเฉลี่ยคนละไม่เกิน 200 บาท (1 คนจะซื้อบัตรอวยพรหลายใบในราคาที่แตกต่างกัน)คิดเป็นสัดส่วน 52.7% ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 201-500 บาทมีสัดส่วนประมาณ 31.9% และค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 501 บาทขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณ 15.4%

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงงบประมาณที่ใช้ซื้อบัตรอวยพรในปีนี้เทียบกับปีก่อนพบว่าคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ 52.2% ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจยังคงใช้งบประมาณเท่าเดิมเมื่อเทียบกับการซื้อบัตรอวยพรปี 2549 ในขณะที่กลุ่มที่ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมีสัดส่วน 31.6% ส่วนกลุ่มที่ใช้งบประมาณซื้อบัตรอวยพรลดลงมีสัดส่วน 16.2% ทั้งนี้หากรวมกลุ่มตัวอย่างที่ซื้อเท่าเดิมและซื้อเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนสูงถึง 83.8% แสดงให้เห็นว่าความนิยมใช้บัตรอวยพรเพื่อส่งความสุขให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้คงจะมีปัจจัยจากความคุ้นเคยของคนไทยที่มีต่อบัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส. มาช้านาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโต รวมทั้งราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลงมาเป็นลำดับรวมทั้งปัจจัยทางการเมืองที่คลี่คลายลงทำให้อารมณ์ของคนไทยที่จะส่งความสุขให้แก่กันมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการบัตรอวยพรไม่ควรมองข้ามได้แก่ราคาของบัตรอวยพรซึ่งมีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อบัตรอวยพร

จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 52.9% เห็นว่าราคาบัตรอวยพรไม่เปลี่ยนแปลง และในกลุ่มที่เห็นว่าราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนถึง 44.2% ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบคือกระดาษมีการปรับเพิ่มขึ้นไปพอสมควร โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 15-44 ปีมีความเห็นว่าราคาบัตรอวยพรมีราคาสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณการซื้อบัตรอวยพรได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยที่เริ่มต้นทำงานซึ่งมีรายได้ไม่สูงมากนัก

สำหรับในส่วนของรูปแบบของบัตรอวยพรที่คนกรุงเทพฯนิยมซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจบัตรอวยพรที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์สัดส่วน 27.7% รองลงมาได้แก่ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพการ์ตูน/กราฟฟิก และภาพวิถีชีวิต/การละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งมีสัดส่วน 22.3% , 18.2% และ 12.7% ตามลำดับ

ในขณะที่สถานที่ซึ่งคนกรุงเทพฯนิยมไปเลือกซื้อหาบัตรอวยพรช่วงปีใหม่พบว่าแหล่งใหญ่ที่สุดคือห้างสรรพสินค้าคิดเป็นสัดส่วนถึง 57.3% เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้การไปห้างสรรพสินค้ายังได้จับจ่ายซื้อของขวัญและสินค้าต่างๆ สำหรับสถานที่ที่ได้รับความนิยมรองลงมาคืองานแสดงสินค้าของขวัญของชำร่วยปีใหม่คิดเป็นสัดส่วน 20.5% ดิสเคาท์สโตร์ สัดส่วน 7.8% การสั่งซื้อทางไปรษณีย์จากมูลนิธิและสมาคมต่างๆ 6.3% และซื้อจากงานแสดงสินค้าที่ผลิตจากชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะ 6.1%
กำลังโหลดความคิดเห็น