xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาชี้ขาดคดีทุจริตเรือขุด “เอลลิคอตต์” วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีชี้การตัดสินของศาลอาญาในคดีทุจริตเรือขุด “เอลลิคอตต์” ในวันนี้ (28 ธ.ค.) จะไม่มีผลกระทบต่อการเรียกร้องค่าเสียหาย เนื่องจากได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เปิดเผยว่า การตัดสินพิพากษาชี้ขาดของศาลอาญากรณีนายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า เรือตรีสัญชัย กุลปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมพวกรวม 6 คน กรณีการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเรือขุดหัวสว่าน บริษัท เอลลิคอตต์ แมชชีน คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สหรัฐ มูลค่า 2,000 ล้านบาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียกร้องค่าเสียหายที่กรมฯ ดำเนินการฟ้องร้อง ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินอย่างใด เนื่องจากการพิจารณาคดีวันนี้ (28 ธ.ค.) เป็นการพิจารณาในส่วนของศาลอาญา ซึ่งในส่วนของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กรมฯ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงการตัดสินลงโทษทางวินัยก็ได้ดำเนินการลงโทษเสร็จสิ้นหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีคำตัดสินเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา

สำหรับขั้นตอนเรียกร้องค่าเสียหาย หลังจากนี้จะต้องมีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อเจรจา โดยกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนไปแล้ว เหลือเพียงตัวแทนจากบริษัท เอลลิคอตต์ ที่ยังไม่ยอมส่งตัวแทนมา อย่างไรก็ตาม ทางอัยการได้ชี้แจงให้ทราบว่าจะสามารถตั้งอนุญาโตตุลาการทั้งคณะได้ครบปลายเดือนมกราคม 2550 หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนกระบวนการทางแพ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 12, 28 มกราคม 2547 โดยมีนายจงอาชว์ เรือตรีสัญชัย เรือตรีประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ นายอิทธิพล กาญจนกิจ นิติกร 8 สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า นายดนัย ศรีพิทักษ์ นายช่างขุดลอกฝ่ายแผนงานบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล เรือตรีวิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 และนายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 ตกเป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานตามมาตรา 157 และมาตรา 162

โดยคำฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 เรือโทวิทย์ วรคุปต์ อธิบดีกรมเจ้าท่าขณะนั้น จัดทำสัญญาซื้อเรือขุดแบบหัวสว่าน จำนวน 3 ลำ พร้อมเรือพี่เลี้ยงมูลค่า 49,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท จากบริษัท เอลลิคอตต์ มีกำหนดส่งมอบงานภายใน 540 วัน นับจากวันทำสัญญา โดยครบกำหนดสัญญาวันที่ 24 มีนาคม 2542 ต่อมาจำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง และระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2541 ถึง 6 สิงหาคม 2542 จำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันกระทำความผิดที่ตรวจรับเครื่องยนต์ขับเคลื่อนกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 3 เครื่อง พร้อมอ้างเป็นเครื่องจักรหลัก และอ้างว่าทำถูกต้องตามข้อกำหนดทางเทคนิคและเงื่อนไขสัญญา นอกจากนี้ พวกจำเลยยังร่วมกันรับรองบันทึกรายงานผลการตรวจรับงานลงวันที่ 30 กันยายน 2541 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 6,679,817.85 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้กรมเจ้าท่าได้รับความเสียหายและเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2544 พวกจำเลยยังร่วมกับบริษัท เอลลิคอตต์ แก้ไขสัญญาเงื่อนไขและการชำระเงิน จากเดิมให้ชำระร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 9 ใน 3 งวด ทำให้ราชการเสียประโยชน์ โดยมีบริษัทผู้ขายได้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการพิจารณาคดีของศาลอาญาในวันนี้จะสิ้นสุดลงในเวลา 12.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น