xs
xsm
sm
md
lg

หัวใจนักการตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลอดปี 2549 เราได้พูดคุยเรื่องการตลาด มาหลายแง่หลายมุม ที่น่าจะทำให้เรานั้นได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการตลาด ก่อนจะสิ้นปี 2549 จึงใคร่ขอทบทวนแก่นสารและหลักการของการตลาด เพื่อจะทำให้นักธุรกิจ และผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริหารขององค์กรต่าง ๆ มีหัวใจของนักการตลาดที่แท้จริง

นักการตลาดจะต้องเลือกทำธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและแก้ปัญหาให้แก่ผู้บริโภค โดยสร้างโอกาสทางการตลาดจากการมองหากลุ่มผู้บริโภคที่ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากสินค้าหรือบริการใด ๆ หัวใจแบบนักการตลาดย่อมไม่ทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความอยากของตนเองโดยไม่คำนึงว่ามีกลุ่มเป้าหมายรองรับธุรกิจของตัวเองหรือไม่ นักการตลาดที่ดีย่อมให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภคในทุกเรื่องทุกประเด็นที่จะต้องตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้า การตั้งราคา การกระจายสินค้า หรือยุทธศาสตร์การสื่อสารการตลาดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเหล่านั้น

นักการตลาดย่อมต้องสนใจที่จะเรียนรู้ผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง ที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า Customer Insight ซึ่งลึกซึ้งกว่าการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ตามปกติในการศึกษาผู้บริโภคเรามักจะสนใจพฤติกรรมการซื้อ พฤติกรรมการใช้ ความต้องการ แรงจูงใจ และทัศนคติ แต่สำหรับการเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งตามแบบอย่างของ Customer Insight นั้น เราต้องเรียนรู้รูปแบบของการดำเนินชีวิต ค่านิยม ความทะเยอทะยาน ความมุ่งหวัง ตลอดจนกิจกรรมที่พวกเขากระทำ (Activity) สิ่งที่เขาสนใจ (Interest) ความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ (Opinion) สิ่งทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า AIO ของการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นยังต้องเรียนรู้ บุคลิกภาพ วัฒนธรรม ของผู้บริโภคให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย

นักการตลาดจะต้องเชื่อเรื่องของการสร้าง Brand เพราะในสภาวะที่สินค้าไม่ค่อยจะมีความแตกต่างกันเท่าใดนัก Brand จะเป็นปัจจัยที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ ในปัจจุบันนี้การสร้างความแตกต่างทางกายภาพให้แก่สินค้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสินค้าสามารถเลียนแบบกันได้ง่าย ดังนั้นการสร้างความแตกต่างที่จำเป็น ก็คือการสร้างความแตกต่างทางอารมณ์ ซึ่งได้แก่การสร้าง Brand ที่ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกมั่นใจใน Brand ศรัทธาใน Brand มีความภักดีต่อ Brand มีความผูกพันทางอารมณ์กับ Brand อย่างลึกซึ้ง ซึ่งการสร้าง Brand นั้น จะต้องอาศัยการสื่อสารทางการตลาด ที่จะเล่าเรื่องราวของ Brand อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ Brand มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่างจากสินค้าของคู่แข่ง

นักการตลาดจะต้องมีความเชื่อเรื่องการสื่อสารการตลาดที่ใช้ในการสร้าง Brand โดยการสื่อสารการตลาดที่ว่านี้ จะต้องเป็นการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing Communications --IMC) ในยุคปัจจุบันการสื่อสารการตลาดเพื่อการสร้าง Brand นั้น จะต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อการจูงใจหลากหลายรูปแบบอย่างครบเครื่องไม่ใช่อาศัยเพียงการโฆษณาผ่านสื่อสารมวลชนอย่างเดียวเท่านั้น อันที่จริงแล้วยุคนี้ความสัมฤทธิ์ผลของการโฆษณามีน้อยเต็มที และยังเป็นการสื่อสารการตลาดที่ใช้งบประมาณสูงมาก นักการตลาดจึงต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อการจูงใจในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมพิเศษ ในการสร้างความโดดเด่นให้กับ Brand

นักการตลาดที่ดีจะต้องใช้การตลาดแบบบูรณาการ หมายถึงการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่ายบริการ ฝ่ายการเงิน ฝ่ายธุรการ และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์การตลาดไม่อาจจะสำเร็จได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กรเดียวกัน ไม่ว่ายุทธศาสตร์การตลาดจะไปในทิศทางใด ผู้นำฝ่ายการตลาดจะต้องใช้ความสามารถในการขายความคิดดังกล่าว ให้ฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กรยอมรับ และยินดีให้ความร่วมมือ และจะต้องให้ผู้จัดการทุกฝ่ายมีวิญญาณการตลาด และพร้อมที่จะปลูกฝังวิญญาณดังกล่าวให้แก่พนักงานของตนในทุก ๆ แผนก เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการตลาดขึ้นมาในองค์กร ซึ่งหัวใจหลักของวัฒนธรรมการตลาดก็คือ การให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภค ยกย่องให้เกียรติผู้บริโภค ดำเนินการทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคสมหวังทางด้านความทะเยอทะยาน

องค์กรที่มีหัวใจการตลาดจะต้องเชื่อเรื่องของการสร้างความภักดีให้เกิดขึ้นในหมู่ของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ทางการตลาดสมัยใหม่ ที่จะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภค ในปัจจุบันที่ใช้กันมากก็คือการตลาดแบบฐานข้อมูล (Database Marketing) ที่จะทำให้นักการตลาดได้รู้จักผู้บริโภคในฐานะเป็นปัจเจกชน สามารถตอบสนองผู้บริโภคแต่ละรายได้อย่างถูกต้องโดนใจตามหลักของการตลาดที่เรียกว่า Customization ซึ่งหมายถึงการดำเนินยุทธศาสตร์การตลาดกับลูกค้าแต่ละรายได้อย่างคนที่รู้ใจ เป็นการยกย่องให้เกียรติลูกค้าทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เรียกว่า Customer Relationship Management (CRM) ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่จะเอาใจลูกค้าได้อย่างเพื่อนผู้รู้ใจมีความผูกพันกันทำตัวดั่งเพื่อนสนิทผู้หวังดีพร้อมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคซึ่งจะก่อให้เกิดความผูกพันสนิทแน่นแฟ้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังต้องใช้หลักการบริหารประสบการณ์ของลูกค้าที่เรียกว่า Customer Experience Management (CEM) ตามหลักการของการตลาดที่เรียกว่า Experiential Marketing ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์อันน่าประทับใจตั้งแต่การได้เรียนรู้เรื่องราวของ Brand จากการสื่อสารการตลาดของเรา จากการเข้ามาติดต่อซื้อขาย จากการได้รับบริการก่อนซื้อ การได้รับบริการขณะที่ซื้อ การได้รับบริการหลังซื้อ การใช้สินค้าไปจนถึงวันสุดท้ายของในการมีสินค้าดังกล่าวไว้ในครอบครอง

ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เป็นหัวใจการตลาดที่ว่านี้ CEO คือหมายเลข 1 ขององค์กร ไม่ว่าจะเรียกตำแหน่งอะไรก็ตาม จะต้องมีหัวใจแบบการตลาดอันเป็นแบบอย่างให้แก่พนักงานคนอื่น ๆ และจะต้องมีผู้นำฝ่ายการตลาดเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนองค์กร และพนักงานขององค์กรทุกคนไม่ว่าจะเป็นพนักงานในฝ่ายใดก็ตาม จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นนักการตลาดที่ให้การยกย่องผู้บริโภคเสมอและจะต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นทูตที่ดีของ Brand ตลอดเวลา ด้วยการดำเนินชีวิตที่สะท้อนคุณค่าหลักของ Brand และทั้งหมดนี้คือสาระที่ใคร่ฝากย้ำเตือนแก่ผู้ทำธุรกิจ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้บริหารขององค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะมีหัวใจแบบนักการตลาดอย่างแท้จริง

รศ.ดร. เสรี วงษ์มณฑา
กำลังโหลดความคิดเห็น