xs
xsm
sm
md
lg

ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ปี 2550 : โตต่อเนื่องสู่ตลาด 7,200 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงเทศกาลฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ของทุกปีนับว่าเป็นช่วงโอกาสทองของธุรกิจเบเกอรี่ เนื่องจากยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โดยเฉพาะเค็กและคุกกี้ในช่วงเทศกาลปลายปีจะสูงกว่าช่วงปกติประมาณ 1 เท่าตัว
 
ดังนั้นในช่วงปลายปีบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจเบเกอรี่ต่างเร่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และแคมเปญต่างๆ เช่น การลดราคา การแจกหรือแถมของพรีเมี่ยม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งยอดจำหน่ายในช่วงปลายปีกล่าวคือ ในช่วงเดือนธันวาคมนั้นมียอดจำหน่ายสูงถึง 1,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ในปี 2549 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 6,500 ล้านบาทนั้น

สำหรับในปีนี้ธุรกิจผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากคู่แข่งสินค้าประเภทเดียวกันในตลาด และคู่แข่งทางอ้อมโดยเฉพาะขนมหวานแบบไทยๆ และสินค้าเพื่อสุขภาพอื่นๆที่มีผู้บริโภคบางส่วนหันไปซื้อเป็นของขวัญให้กันในช่วงเทศกาลปลายปีแทนการซื้อผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ อย่างไรก็ตามบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจเบเกอรี่ก็มีการปรับตัวโดยการปรับสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การผลิตเบเกอรี่เพื่อสุขภาพ เป็นต้น

ในปี 2550 คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่โดยรวมจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 7,200 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10.8% เติบโตอย่างต่อเนื่องจากในปี 2549 ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในวงการตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ กล่าวคือ ในปี 2549 ตลาดเบเกอรี่ระดับบนเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนจากผลิตภัณฑ์ เบเกอรี่จากต่างประเทศ ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายอิงกับห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์อย่างสยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนเบเกอรี่ในระดับกลางและล่างก็ขยายเข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งส่งผลให้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก

เทศกาลฉลองปลายปี...ดันมูลค่าตลาดเบเกอรี่ปี’49
คาดว่ามูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ในปี 2549 เท่ากับ 6,500 ล้านบาทเมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้น 10% โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

-ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ตลาดกลางและล่าง คาดว่ามูลค่า 3,700 ล้านบาทหรือ 57.1% ของตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทั้งหมด สีสันของตลาดเบเกอรี่ในปี 2549 คือกระแสเม็กซิกันบันที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าจำนวนลูกค้าที่เข้าคิวรอซื้อไม่ยาวเหมือนที่เพิ่งเริ่มนำเข้ามาจำหน่าย ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวโดยการมุ่งสู่การเปิดเป็นร้านเบเกอรี่เต็มรูปแบบ เพิ่มความหลากหลายของขนมปังรสชาติอื่นๆนอกจากรสกาแฟ หาผลิตภัณฑ์อื่นๆมาจำหน่ายเสริม เช่น นมถั่วเหลือง เป็นต้น เป็นกลยุทธ์การต่อยอดทางธุรกิจ เน้นการขยายสาขาในลักษณะแฟรนไชส์ไปยังต่างจังหวัด

นอกจากนี้อีกกระแสที่ชัดเจนในปี 2549 คือ การขยายตัวของการวางจำหน่ายขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ประเภทอื่นๆผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ ราคาประมาณชิ้นละ 5-15 บาท ซึ่งเดิมนั้นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ประเภทนี้จัดเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายหน้าร้านจำหน่ายเบเกอรี่เท่านั้น นับว่าเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่เคยมีวางจำหน่ายในร้านโชห่วยหรือร้านริมทาง กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก

-ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ตลาดบน คาดว่ามูลค่า 2,800 ล้านบาท หรือร้ 42.9% ตลาดเบเกอรี่ระดับบนในปี 2549 มีการขยายตัวอย่างชัดเจน โดยมีร้านเบเกอรี่จากต่างประเทศเข้ามาเปิดร้านจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดร้านจำหน่ายในศูนย์การค้าไฮเอนด์ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้ เช่น สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น

ในช่วงเดือนธันวาคม 2549 คาดว่าผลิตภัณฑ์เบเกอรี่มียอดจำหน่ายสูงถึง 1,000 ล้านบาท โดยในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปีผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์เบเกอรี่สูง เนื่องจากเค้กและคุกกี้เป็นของกำนัลคนถูกใจและคนใกล้ชิด ตลอดจนเป็นขนมยอดนิยมในงานเลี้ยงที่จัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ในแต่ละปียอดจำหน่ายเค้กในช่วงเทศกาลปลายปีจะสูงกว่าช่วงปกติประมาณ 1 เท่าตัว

โดยขนาดเค้กที่เป็นที่นิยมของลูกค้าแบ่งตามลักษณะของลูกค้า ถ้าเป็นลูกค้ารายย่อยขนาดเค้กที่เป็นที่นิยมอยู่ระหว่าง 2-3 ปอนด์ และถ้าเป็นลูกค้าบริษัทขนาดจะอยู่ระหว่าง 4-5 ปอนด์ ส่วนสินค้าเบเกอรี่ประเภทอื่นๆก็มียอดจำหน่ายสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากมีเทศกาลงานเลี้ยงในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผู้บริโภคเน้นประหยัดนั้น ผู้ประกอบการต่างลดกำลังการผลิตตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงมาก จึงต้องทำเค้กที่ราคาไม่แพงรองรับตลาด รวมทั้งการปรับขนาดเค้กให้เล็กลง

ในช่วงปลายปี 2549 ต่อเนื่องไปสู่ต้นปี 2550 ผู้ประกอบการยังคงปรับกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยยังใช้กลยุทธ์ในเรื่องราคาเป็นตัวชูโรงเช่นเดิม รวมทั้งมีการเสนอเค้กหลายรูปแบบ และเค้กพรีเมี่ยมไว้บริการลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้อสูง เท่ากับว่าผู้ประกอบธุรกิจนั้นยอมตัดกำไรส่วนหนึ่งเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด เนื่องจากการขึ้นราคาจะมีผลอย่างมากต่อยอดขายในภาวะที่กำลังซื้อโดยรวมของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

โดยจะเห็นได้จากทุกค่ายจะมีบริการส่งเค้กนอกสถานที่ด้วย และการรับสั่งเค้กผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในปีนี้จะมีการแจกแผ่นพับแนะนำธุรกิจเค้กรายย่อยๆมากขึ้น โดยรับคำสั่งซื้อผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต อาศัยสิ่งจูงใจลูกค้าโดยใช้กลยุทธ์ส่วนลดเมื่อสั่งชิ้นต่อไป หรือให้ส่วนลดมากถึง 30% ในธุรกิจเค้กนั้นจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ก็จะเป็นเฉพาะในกลุ่มของธุรกิจผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ระดับกลางลงมาเท่านั้น ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์เบเกอรี่พรีเมี่ยมนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ส่วนคุกกี้และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อื่นๆนั้นก็ได้รับความนิยมในการให้เป็นของขวัญและของกำนัลในช่วงเทศกาลทั้งคริสต์มาสและปีใหม่เช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยหันมานิยมรับประทานผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่างๆมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการมีการปรับกลยุทธ์ทั้งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ นับว่าเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายในช่วงเทศกาล เนื่องจากผู้บริโภคหันมาเลือกผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่างๆเป็นของขวัญกันมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น