xs
xsm
sm
md
lg

"อนิษฐ์ฑิตา บัวทรัพย์" หญิงเก่งวงการลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถือได้ว่าเป็นผู้หญิงเก่งอีกคนหนึ่งในวงการตลาดเมืองไทย โดยเฉพาะวงการซื้อขายด้านลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ แม้ว่าเธอจะมีพื้นฐานการศึกษาทางด้านปริญญาโทศิลปะศาสตร์ สาขาบริหารการตลาดเอแบค และปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากวอชิงตันยูนิเวอร์ซิตี้ก็ตาม

"อนิษฐ์ฑิตา บัวทรัพย์" คือ คนที่กำลังกล่าวถึงนี้นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ประจำประเทศไทย บริษัท ฟัน คาแรคเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่เดือนกันยายนปี2548 ผู้ซึ่งผ่านประสบการณ์กว่า 10 ปี ในธุรกิจลิขสิทธิ์การ์ตูนคาแรคเตอร์ในตลาดประเทศไทย

เธอเริ่มต้นงานด้านนี้กับทางบริษัท วอลท์ดิสนีย์ ประเทศไทย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ของดิสนีย์ตั้งแต่ปี 1996 จนกระทั่งเดอะวอลท์ดิสนีย์ส่งมอบการดูแลตลาดประเทศไทยให้กับบริษัท ฟันคาแรคเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง เธอได้เข้ามารับผิดชอบในการพัฒนาธุรกิจลิขสิทธิ์สินค้าดิสนีย์ ที่ได้สร้างความแข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยได้เป็นผู้นำในธุรกิจลิขสิทธิ์ดิสนีย์ในกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว

ก่อนเข้าสู่วงการลิขสิทธิ์ เธอทำงานอยู่ที่ลินตาสประเทศไทย ตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายบริหารลูกค้า ดูแลรายใหญ่ เช่น ยูนิลีเวอร์

"ยอมรับว่าในช่วงแรกเหนื่อยมาก เพราะเราต้องบริหารลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ทั้งหมดของดิสนีย์ในไทย เพราะตลาดลิขสิทธิ์ก็แข่งขันสูงเช่นกัน แต่ก็ยังดีที่ว่า คาแรคเตอร์ของดิสนีย์แต่ละตัวนั้นโด่งดังและเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในกลุ่มผู้บริโภค จึงอาจจะทำให้การขายลิขสิทธิ์นั้นง่ายหน่อย"

ในมุมมองของ"อนิษฐ์ฑิตา" มองว่า การจะสร้างคาแรคเตอร์อะไรก็ตามตัวหนึ่งขึ้นมา แล้วจะทำให้ติดตลาดนั้น เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะต้องอาศัยเวลาและกลยุทธ์การตลาดหลายรูปแบบรวมกัน หลายตัวของดิสนีย์ไม่ใช่สร้างกันมาแค่ปีสองปี แต่หลายคาแรคเตอร์สร้างกันมาไม่ต่ำกว่า 40-50 ปีก็ยังมี และทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นหลัง เพราะเสน่ห์ของคาแรคเตอร์แต่ละตัวที่มีนั่นเอง

หลายคาแรคเตอร์ที่ดิสนีย์สร้างขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดเมืองไทย ซึ่งขณะนี้ก็ยังทำตลาดอยู่เช่น มิกกี้เมาส์ หมีพูห์ พริ้นเซส เป็นต้น

ทว่าเธอเองก็มองว่า การขยายฐานตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการพึ่งพาแต่ตัวเก่าๆนั้น ไม่ค่อยเหมาะสมมากนัก จำเป็นต้องเปิดตลาดใหม่ๆด้วยคาแรคเตอร์และตลาดสินค้าใหม่ๆ ซึ่งปีหน้าเอฟซีไอมีแผนที่จะขยายฐานสินค้าไปสู่กลุ่มอิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น เช่น ทั๊มไดร์ฟ ,เอ็มพี 3 ,เมมโมรี สติ๊ก ,กล้องดิจิตอล เป็นต้น ขณะที่คาแรคเตอร์ใหม่ๆก็จะมีเข้ามาไทยหลายตัว เช่น เพื่อนของตัวทิงเกอร์เบลในเรื่องปีเตอร์แพน เป็นต้น

เป้าหมายของ"อนิษฐ์ฑิตา"ก็คงเหมือนกับผู้บริหารคนอื่นๆในทุกธุรกิจ ที่ต้องการจะให้องค์กรประสบความสำเร็จทั้งยอดขาย ชื่อเสียง และการยอมรับ ซึ่งปัจจุบันนี้ ไม่มีใครปฎิเสธว่า ลิขสิทธิ์ของเอฟซีไอที่ทำเกี่ยวกับของดิสนีย์เป็นผู้นำในตลาดเมืองไทยแล้ว ด้วยยอดรายได้มากกว่า 6,000 ล้านบาทในปีนี้ และมีพันธมิตรใหม่ๆเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ปีนี้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 30 ราย

แต่ที่เหนือกว่านั้น เธอต้องการที่จะผลักดันให้ลิขสิทธิ์ดิสนีย์ในเมืองไทยให้เป็นตลาดที่ใหญ่และมีการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่เธอมั่นใจว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะตลาดลิขสิทธิ์ในไทยนั้นก็มีการเติบโตต่อเนื่องโดยช่วง1-2 ปีนี้โตมากกว่า20% ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงที่ทำงานแรกๆประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 หรือ 4 ด้วยซ้ำไป แต่วันนี้เป็นดาวเด่นหรือเดอะสตาร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว

โดยปัจจุบันนี้ตลาดในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มตลาดดิสนีย์ในเอเชีย ขณะที่ตลาดในประเทศจีนเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น