xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” คาดเปิดประมูลไอพีพีรอบใหม่ เม.ย. 2550

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” คาดว่าการประมูลไอพีพีรอบใหม่น่าจะเริ่มต้นได้ในเดือนเมษายนปีหน้า พร้อมระบุยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหรือไม่ ส่วน กฟผ.จะไม่เข้าร่วมประมูลแน่นอน แต่บริษัทในเครือสามารถแข่งขันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้ ด้านเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการทำความเข้าใจกับประชาชนกรณีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างการเป็นประธานงานสัมมนา “แนวทางการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)” ว่า งานสัมมนาครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากไอพีพี นักลงทุน และสถาบันการเงิน เพื่อนำความคิดเห็นมาปรับปรุงในการร่างประกาศเชิญชวนไอพีพี ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะมีการจัดรับฟังความเห็นอีกครั้งวันที่ 28 ธันวาคมนี้ โดยจะเป็นการรับฟังความเห็นจากนักวิชาการด้านพลังงาน สหพันธ์องค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการประมูลไอพีพี รอบที่ 2 ของประเทศไทย หลังจากมีการประมูลรอบแรกในปี 2537 จำนวนประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ มีผู้เข้าร่วมประมูล 89 ราย คิดเป็นกำลังการผลิต 39,000 เมกะวัตต์ และได้ผู้ชนะประมูล 7 ราย ซึ่งครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นที่น่าสนใจของผู้เข้าประมูลเหมือนกับครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ก็อยู่ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยการรับฟังความเห็นครั้งนี้ จะนำไปพิจารณาว่า ระยะเวลาการเปิดประมูลไอพีพี ควรคำนวณจากความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปี (2554-2556) หรือ 5 ปี (2554-2558) และเงื่อนไขที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เชื้อเพลิงต่างๆ รวมทั้งบทบาทของรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะเป็นผู้รับซื้อ ควรอยู่ในฐานะใดบ้าง

“การประมูลครั้งนี้ กฟผ. จะไม่เข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นผู้รับซื้ออยู่แล้ว จึงไม่สมควรเข้าร่วมประมูลด้วย แต่บริษัทในเครือ คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก้) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง ก็พร้อมจะเข้าแข่งขันได้ เพื่อให้มีผู้ประมูลมากราย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถึงประชาชนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำที่สุด โดยกระทรวงพลังงานจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์กติกาการประมูลที่เป็นธรรม และจัดตั้งคณะกรรมการประมูลที่มาจากหน่วยงานอิสระ เพื่อให้การประมูลโปร่งใส นอกจากนี้ ในร่างสัญญาคงต้องมีการกำหนดด้วยว่า หากก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ หรือล่าช้าออกไป จะต้องไม่สร้างภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าเหมือนอดีต” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นในการประมูลรอบนี้หรือไม่ เรื่องนี้ขึ้นกับราคาของค่าไฟฟ้าที่เสนอมาว่าจะแข่งขันได้หรือไม่ โดยภาครัฐยังไม่มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้ค่าไฟฟ้าจากถ่านหินแพงกว่าเชื่อเพลิงก๊าซธรรมชาติอย่างใด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตประเทศไทยควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อกระจายเชื้อเพลิง ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากปัจจุบันไทยได้ใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ากว่าร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมด

นอกจากนี้ การประมูลรอบนี้ จะเป็นก๊าซธรรมชาติทั้งหมดหรือไม่ ขึ้นกับ บมจ.ปตท. จะมีการเสนอราคาก๊าซที่ต่ำจนแข่งขันได้ด้วยหรือไม่ ซึ่งกรณีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) หาก ปตท.สามารถหาแหล่งนำเข้าป้อนให้ไทยอย่างมั่นคงและมีราคาตามที่ระบุคือ ไม่แพงกว่าราคาเฉลี่ยของแหล่งอ่าวไทยรวมกับแหล่งจากพม่า ก็เป็นโอกาสที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดในการประมูลรอบนี้ ส่วนปริมาณการประมูลรอบนี้จะเป็นเท่าใด ขึ้นกับการทำค่าพยากรณ์การใช้ไฟฟ้ารอบใหม่ ที่คาดว่าจะเสร็จภายในต้นปีหน้า และการแบ่งสัดส่วนว่า กฟผ.จะได้สัดส่วนผลิตไฟฟ้าของความต้องการใหม่เท่าใด ซึ่งจะไม่ใช่เกณฑ์ที่รัฐบาลเดิมกำหนดไว้ครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังขึ้นกับการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) และเล็กมาก (วีเอสพีพี) ซึ่งจะมีการเปิดรับซื้อในเดือนมกราคมนี้ว่า จะมีจำนวนเท่าใด โดยตามประมาณการเดิมคาดว่า การประมูลไอพีพีรอบใหม่จะคำนวณในช่วงระยะเวลา 2554-2556 กำลังการผลิตประมาณ 3-4 พันเมกะวัตต์

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เสนอผลการศึกษาเบื้องต้นว่า ควรรับซื้อไฟฟ้าที่คำนวณจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพียง 3 ปี โดยจะเริ่มประกาศประมูลเดือนเมษายน 2550 และจะมีการประมูลใหม่ทุก 2 ปี ซึ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นว่า ควรขยายเวลาการประมูลเป็น 5 ปี เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการแข่งขันและเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการชี้แจงการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินให้เกิดการยอมรับจากภาคประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น