xs
xsm
sm
md
lg

อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งปี’50 : ตลาดในยังขยายตัว30%เร่งรุกตลาดส่งออก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาและการแก้ไขของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง

สำหรับประเด็นปัญหาและอุปสรรค ของอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งในประเทศ ผู้ประกอบการมีการแก้ไข ดังนี้

1.การที่ต้องพึ่งการอุ่นอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งด้วยไมโครเวฟ โดยการให้บริการอุ่นให้ ณ จุดจำหน่าย ทำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ทันที ซึ่งสามารถขยายกลุ่มลูกค้าจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานในอาคารสำนักงาน สถานออกกำลังกาย สถาบันการศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนลูกค้าในกลุ่มที่เป็นครัวเรือนก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการพัฒนาบรรจุภัณฑ์โดยให้สามารถอุ่นได้ด้วยการต้มในน้ำเดือดทั้งบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ในปัจจุบันราคาเตาไมโครเวฟลดลง ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเตาไมโครเวฟมากขึ้น ส่งผลให้การขยายตัวของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

2.การเพิ่มเมนูให้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังมีการออกเมนูใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่มีแนวโน้มสดใสคือ การผลิตอาหารกล่องแช่แข็งเพื่อสุขภาพ โดยเน้นการใช้วัตถุดิบเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง อาหารมังสวิรัติ อาหารเจ อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบปลอดสารพิษ เป็นต้น รวมทั้งการผลิตเมนูอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำกว่าอาหารปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เน้นการบริโภคอาหารสุขภาพ หรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และกลุ่มที่ต้องการควบคุมปริมาณแคลลอรี่ที่ได้รับจากอาหาร เนื่องจากเป็นผู้ป่วยด้วยโรคบางโรค โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปริมาณคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง

3.การตั้งราคาที่อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับราคาอาหารจานเดียวที่จำหน่ายอยู่ในตลาด เนื่องจากเดิมนั้นจุดอ่อนที่ทำให้อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งขยายตัวไม่ได้มากนัก เป็นผลมาจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง แต่เมื่อผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ให้ราคามาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาอาหารจานเดียว ทำให้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4.กระจายจุดจำหน่ายเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากขึ้น เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งมีข้อจำกัดที่จะต้องจัดจำหน่ายผ่านช่องทางตู้แช่เท่านั้น ดังนั้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ทั่วถึงมากขึ้นนั้นผู้ประกอบการต้องลงทุนกระจายตู้แช่ให้มากขึ้น ซึ่งช่องทางหลักในปัจจุบันคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ส่วนการกระจายไปยังย่านชุมชนโดยเฉพาะสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งการตั้งร้านจำหน่ายเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งนั้น นอกจากการลงทุนด้านตู้แช่แล้วแต่ละจุดจำหน่ายต้องลงทุนในเรื่องเตาไมโครเวฟเพื่อพร้อมที่จะบริการอุ่นให้กับลูกค้าด้วย

เดิมนั้นจุดเด่นในการขยายตัวของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งคือ ความสะดวกสบายและการประหยัดเวลาในการเตรียม/ประกอบอาหาร แต่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะพิจารณาปัจจัยสำคัญเพิ่มเติมในการเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปแช่แข็งโดยเฉพาะ“คุณภาพ” และ “สุขอนามัย” ทำให้บรรดาผู้ประกอบการหันมาพิถีพิถันและเข้มงวดในขั้นตอนการผลิตมากขึ้น และยังใช้เป็นจุดขายเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าอีกด้วย
 
โดยแนวโน้มของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งจะหันมาใส่ใจกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารมากขึ้น โดยคัดเลือกวัตถุดิบที่มีความสด ใหม่และปลอดภัยจากสารตกค้าง ซึ่งกระแสความใส่ใจของผู้บริโภคทำให้เกิดตลาดใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศและมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมในประเทศไทยเช่นกันคือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็ง(Ambient Foods) ซึ่งเป็นอาหารที่ปรุงแล้วแต่ยังไม่ได้ทำให้สุกพร้อมรับประทานและแช่เย็น/แช่แข็งไว้ เมื่อจะรับประทานต้องนำไปอบเพื่อให้สุกก่อนจะรับประทาน โดยมีแนวโน้มว่าอาหารประเภทนี้จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะมีการคิดค้นเมนูใหม่ๆมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
 
ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็งจะเป็นอาหารต่างประเทศ เช่น พิซซ่า สปาเก็ตตี้ ลาซันย่า เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะของอาหารเหมาะสมสำหรับการทำเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็ง คาดว่าอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นโดยเฉพาะอาหารแนวตะวันตกจะได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยมากขึ้น เนื่องจากคนไทยบางกลุ่มนิยมรับประทานอาหารตะวันตก แนวโน้มของการเติบโตของตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็งนี้เป็นไปในแนวเดียวกับตลาดต่างประเทศ แม้ว่ามูลค่าตลาดของอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็งในปัจจุบันยังน้อยกว่าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง แต่ก็มีแนวโน้มการขยายตลาดที่น่าสนใจ

ในอนาคตการรุกตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งของผู้ประกอบการไทยนั้นนับว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากชาวต่างชาติรู้จักและยอมรับอาหารไทยมากขึ้น ในฐานะที่เป็นอาหารสุขภาพที่อุดมไปด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร โดยมีการคาดหมายว่าในปี 2550 ตลาดอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯและประเทศในยุโรปตะวันตกจะมีมูลค่าสูงถึง 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ The Meal Solutions Outlook to 2007 โดยแยกเป็นอาหารดั้งเดิม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาหารต่างถิ่น 9,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในบรรดาอาหารต่างถิ่นนั้นอาหารยอดนิยมคือ อิตาเลี่ยนสัดส่วนตลาดร้อยละ 45.0 ของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่เป็นอาหารต่างถิ่น จีนร้อยละ 21.3 เม็กซิกันร้อยละ 18.0 และอินเดียร้อยละ 3.1 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12.6 เป็นอาหารต่างถิ่นอื่นๆ ซึ่งอาหารไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
 
 
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา การเติบโตของอาหารต่างถิ่นอื่นๆนั้นอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าบรรดาอาหารยอดนิยม ซึ่งอาหารไทยก็เป็นหนึ่งในอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่มีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งของไทยในการรุกขยายตลาดในสหรัฐฯและยุโรปตะวันตก กล่าวคือ อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งประเภทอาหารจีน อินเดีย อิตาเลี่ยน และเม็กซิกันในช่วงระหว่างปี 2544-2550 เท่ากับร้อยละ 6.4 ,7.7,5.8 และ 8.6 ส่วนอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งต่างถิ่นอื่นๆมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 11.5

ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งนับว่าเป็นตลาดผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าจับตามอง เนื่องจากมูลค่าตลาดอยู่ในเกณฑ์สูง และยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จึงดึงดูดให้นักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้ามาในตลาด การแข่งขันในธุรกิจนี้จึงทวีความเข้มข้น ทั้งในด้านการส่งเสริมการจำหน่าย การพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ตลอดจนการเจาะขยายตลาดโดยอาศัยช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ และการแก้ไขปัญหาที่เคยเป็นข้อจำกัดในการขยายตลาดของอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง โดยเฉพาะการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถอุ่นได้ด้วยการต้มในน้ำเดือด การบริการอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟให้กับลูกค้าเพื่อขยายกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเมนูให้มีความหลากหลายมากขึ้น และการตั้งราคาให้ใกล้เคียงกับคู่แข่งขันโดยตรงคือ อาหารจานเดียว
 
ตลอดจนการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการขยายตู้แช่ในย่านชุมชนเพื่อกระจายจุดจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเมนูอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็งซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น คาดหมายว่าตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงแช่เย็น/แช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกับในตลาดต่างประเทศ
 
นอกจากการขยายตัวของตลาดในประเทศแล้ว การส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งก็มีลู่ทางที่จะเติบโตเช่นกัน โดยอาศัยการยอมรับทั้งในด้านรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทยในหมู่ชาวต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งนั้นเป็นการปิดช่องว่างทางการตลาดสำหรับกลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการรับประทานอาหารไทยแต่ไม่ได้เข้ารับประทานในภัตตาคารและร้านอาหารไทยที่เปิดดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ เท่ากับว่าการส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเข้าไปตอบสนองความต้องการบริโภคในระดับครัวเรือน หรือเข้าไปเป็นหนึ่งในเมนูอาหารทางเลือกหนึ่งสำหรับชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดอาหารไทยให้กว้างมากยิ่งขึ้นด้วย

ที่มา : มองเศรษฐกิจ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

กำลังโหลดความคิดเห็น