xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าเวียดนามแข่งขันสินค้าไทย : ต้อนรับ WTO 2550 (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแข่งขันตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทางการเวียดนามเปิดประเทศและดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบกลไกตลาดเมื่อปี 2529 ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเจริญก้าวหน้ารวดเร็ว ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศเอเชียที่มีเศรษฐกิจร้อนแรงอันดับ 2 รองจากจีน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวประมาณ 7.8% ในปีนี้ และมีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 8% ในปี 2550 ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนามในระยะต่อไป

เวียดนามมีเศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดในกลุ่มอาเซียน คาดว่าเวียดนามจะสามารถรักษาอัตราขยายตัวในระดับ 8% ในปี 2550 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในกลุ่มอาเซียน ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระดับประมาณ 4%-5% ในปีหน้า นับเป็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน สำหรับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะขยายตัวประมาณ 5%-6% ในปี 2550 ส่วนสิงคโปร์ คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2550 จะเติบโตใกล้เคียงกับประเทศไทยในอัตราราว 4%-5%

ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ เช่น ถ่านหินคุณภาพดี อลูมิเนียม แมงกานีส ฯลฯ รวมทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำตลอดแนวชายฝั่งทะเลของเวียดนามที่มีระยะทางยาวกว่า 3,400 กิโลเมตร และความมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตมั่นคงในระยะยาว

มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ผนวกกับปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งของเวียดนาม ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจเดินหน้ารวดเร็ว และประสบความสำเร็จในการเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ในช่วงต้นปี 2550 ซึ่งจะช่วยจัดระบบการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามให้สอดคล้องกับกติกาสากล พร้อมทั้งช่วยเปิดเสรีทางการค้าภายใต้พันธกรณีของ WTO คาดว่าจะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของเวียดนาม อาทิ สิ่งทอ ข้าว กาแฟ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล เป็นต้น เพราะสินค้าเหล่านี้จะไม่ถูกจำกัดโควตานำเข้าจากประเทศคู่ค้าอีกต่อไป รวมทั้งจะเสียภาษีขาเข้าในอัตราต่ำลงด้วย สินค้าเวียดนามจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตลาดในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีข้อพึงระวังที่ควรเร่งคลี่คลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งนโยบายที่ชัดเจนในการประกอบธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในเวียดนาม นอกจากนี้ เวียดนามควรตัดทอนกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อให้การทำธุรกิจคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยประสานสอดคล้องกับมาตรการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบ WTO ต่อไป

สถานการณ์การค้าโลกที่โน้มเอียงไปสู่การเปิดเสรีมากขึ้น ทั้งภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก และการเปิดเสรีทวิภาคีระหว่างประเทศคู่ค้าต่างๆ ส่งผลดีต่อการขยายตลาดสินค้าและบริการที่กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันนำมาซึ่งการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน ในกรณีของประเทศไทยกับเวียดนาม ซึ่งส่งออกสินค้าคล้ายคลึงกันไปแข่งขันในตลาดโลก ประเทศทั้งสองจึงควรหันมาร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกันในตลาดโลก รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ไทยและเวียดนามผลิตให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ย้อนกลับไปสู่ประชาชนของแต่ละประเทศ และเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ประเทศไทยและเวียดนามมีศักยภาพสูงทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งสามารถประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมประมง โดยอาศัยทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ของเวียดนาม ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปของไทย น่าจะเป็นปัจจัยประกอบกันที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของทั้งสองประเทศให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยและเวียดนามมีลู่ทางที่จะร่วมมือกันพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชน้ำมัน เนื่องจากเวียดนามน่าจะสามารถเพาะปลูกพืชน้ำมันได้จำนวนมาก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล โดยผสมผสานกับเทคโนโลยีของไทย คาดว่าจะช่วยให้การพัฒนาพลังงานทดแทนคืบหน้าเร็วขึ้น สำหรับใช้เป็นพลังงานสำรองอย่างจริงจัง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศไทยและเวียดนามมีจุดแข็งในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งมีความสามารถในการผลิตและส่งออกอาหาร ตลอดจนพืชผักและผลไม้ต่างๆ ประเทศทั้งสองน่าจะอาศัยจุดเด่นนี้ จัดทำกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็น “ครัวโลก” ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยชูบทบาทสินค้าเกษตรของไทยและเวียดนามให้โดดเด่นในเวทีการค้าโลกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น