เมื่อเอ่ยถึงคนชื่อ “ชาญ เธียรกาญจนวงศ์” คนส่วนใหญ่และที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงตลาดกล้องอาจจะไม่รู้จักเขา แต่ถ้าหากพูดถึงชื่อของร้าน “บิ๊กคาเมร่า” แล้ว ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดโฟโต้หรืออุปกรณ์การถ่ายภาพ ซึ่ง “ชาญ” คือผู้ก่อตั้งร้านบิ๊กคาเมร่าขึ้นมาด้วยน้ำมือของเขาเองเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ชีวิตของเขาคลุกคลีอยู่กับตลาดอุปกรณ์การถ่ายภาพมาโดยตลอด นับตั้งแต่เป็นเด็กส่งของในร้านขายส่งย่านพลับพลาไชย ทำได้ 5 ปี จึงออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เกี่ยวกับกล้องเหมือนเดิม กระทั่งปี 2535 เริ่มขยายกิจการใหญ่ขึ้น ชื่อว่า “ชาญเอ็นเตอร์ไพรซ์” มีเซลล์เป็นของตัวเองทั่วประเทศกว่า 10 คน กระทั่งเข้าสู่ปี 2540 ในยุคไอเอ็มเอฟพอดี ชาญมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจและตลาดเริ่มเปลี่ยนแล้ว จึงตัดสินใจยุติบทบาทค้าส่งเข้าสู่ธุรกิจรูปแบบค้าปลีกแทน ด้วยการตั้งร้าน “บิ๊กคาเมร่า” ขึ้นมา
เขาบอกถึงที่มาของชื่อร้านว่า เกิดขึ้นตอนที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเห็นร้านบิ๊กที่ขายอุปกรณ์และกล้อง ซึ่งเป็นเชนใหญ่อันดับที่สองก็เลยเอาชื่อนี้มาตั้งพร้อมใส่ชื่อคาเมร่าไปข้างหลัง
“ที่ผ่านมาผมเผชิญมาหมด มีล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการขาย ปัญหาด้านการเงิน การเก็บบัญชีลูกค้าไม่ได้ หรือต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคไอเอ็มเอฟ เพราะผมตั้งบิ๊กคาเมร่าขึ้นมาได้เพียงเดือนเดียวก็เกิดไอเอ็มเอฟพอดี แต่ว่าเราก็ต้องหาเงินมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ทางการค้าให้ได้ แม้ว่าตอนนั้นไม่ถึงรุนแรงแต่ก็สะดุดเหมือนกัน แต่ผมใช้เวลาแค่ปีเดียวก็พลิกสถานการณ์ได้” เป็นคำบอกเล่าของชาญ
สิ่งที่เขาได้จากการเผชิญชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดกล่าวได้ว่า เขาต้องทำงานเพื่อแลกข้าวกินในชีวิตวัยเยาว์นั้น ทำให้ชาญเป็นคนที่ทำธุรกิจแบบระวังไม่ประมาท และขยับไปทีละก้าวๆ อย่างมั่นคง พร้อมกับยึดคติการทำงานว่า ทำอะไรก็ได้ ขอให้ดีที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นจะสะเปะสะปะ เพราะกว่าที่เขาจะมีชีวิตรุ่งโรจน์ด้วยธุรกิจกล้องแล้ว เขาต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองมานานกว่าจะรู้ว่าจริงๆแล้วตัวเองถนัดกับงานนี้มากกว่า
“จริงๆแล้ว ผมรักอาชีพค้าขายมากกว่า แต่ไม่ได้รักกล้องเลย ตอนเป็นเด็กอยากทำงานกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งช่วงนั้นมี 3 อย่างที่ฮิตกันคือ ขายผ้าก็ต้องไปที่สำเพ็ง ขายอะไหล่ก็ต้องไปที่วรจักร ขายเครื่องไฟฟ้าก็ต้องไปที่วัดตึก ซึ่งเริ่มแรกนั้นผมก็ได้ทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าเหมือนกันแต่เป็นร้านรับซ่อมไฟฟ้าอู่ที่ถนนข้าวสาร เพราะพื้นฐานการศึกษาผมไม่สูง พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ มีพี่น้อง 8 คน ผมเป็นคนที่สอง แต่เป็นผู้ชายคนโต ผมทำได้ 5 ปีก็ออกมารับเหมาเองตอนอายุ 20 ปี แต่ทำไม่นานก็เลิก เพราะแม่บอกว่าอายุยังน้อยไป เลยไปทำกับเพื่อนของคุณแม่ที่พลับพลาไชย”
ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงได้เข้าไปสัมผัสกับวงการกล้อง อุปกรณ์ถ่ายภาพมาตลอดจนถึงวันนี้
ในแง่ของการบริหารงานนั้น ชาญ เองมีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างจะสบายๆ เนื่องจากพื้นฐานเป็นลูกจ้างมาก่อนจึงเข้าใจจิตใจของพนักงานได้ดี เขาบริหารงานแบบง่ายๆ กระจายอำนาจการตัดสินใจในวงกว้าง ซึ่งขณะนี้มีพนักงานระดับ ซูเปอร์ไวเซอร์ 15 คน 1 คนจะดูแลประมาณ 7 เอาท์เลท และมีระดับหัวหน้าซูเปอร์ไวเซอร์อีก 2 คนดูแล ทุกวันนี้เขาเองได้วางรากฐานให้กับองค์กรได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว และพร้อมที่จะเปิดทางให้รุ่นที่สองเข้ามารับช่วงต่อในอนาคตเต็มตัว ซึ่งขณะนี้ลูกชาย 2 คนเข้ามาร่วมบริหารงานในบิ๊กคาเมร่าแล้ว ในด้านการตลาดและการขาย
ปัจจุบัน เครือข่ายของบิ๊กคาเมร่าที่เติบโตขึ้นทุกวันนี้มีสาขามากกว่า 90 แห่งและยังมีแผนขยายต่ออีกในปีหน้า รวมทั้งการรีโนเวทสาขาเก่าๆ ซึ่งคงต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง แต่ชาญก็ยังไม่มีความคิดที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น เพราะยังไม่เห็นความจำเป็น แม้ว่ารายได้จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทแล้วก็ตาม เขายังสนุกกับการบริหารและความเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างกับมือเองอย่างเต็มตัวอยู่