xs
xsm
sm
md
lg

ถุงยางอนามัย : ตลาดในเติบโตต่อเนื่อง...ตลาดส่งออกแข่งขันรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเอดส์โลกเพื่อให้ทั่วโลกได้พร้อมใจกันจัดงานรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยปี 2549 กำหนดคำขวัญสากลเพื่อใช้ในการรณรงค์ว่า “เอดส์หยุดได้...ร่วมใจรักษาสัญญา” (Stop Aids, Keep the Promise) ทั้งนี้เพื่อให้ทั่วโลกร่วมใจกันหยุดยั้งและลดผลกระทบจากโรคเอดส์ รวมทั้งให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาและป้องกันโรคเอดส์อย่างทั่วถึงให้ได้ภายในปี 2553 โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ทั่วโลก ในปีนี้องค์การอนามัยโลกมีความวิตกต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อเอชไอวีเป็นพิเศษ เพราะนอกจากปีนี้จะมีอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่และอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง และยุโรปตะวันออก ส่วนสถานการณ์ในไทยซึ่งมีผู้ติดเชื้อราว 580,000 คนนั้น พบว่าแม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่จะยังลดอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2548 อยู่ที่ 18,000 คน ลดจากปี 2547 ประมาณร้อยละ 10.0 แต่อัตราการติดเชื้อในกลุ่ม "ความเสี่ยงต่ำ" กลับมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นไทยควรมองรูปแบบการระบาดของเชื้อเอชไอวีว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา กลุ่มผู้เสี่ยงติดเชื้อในปัจจุบันอาจไม่ใช่กลุ่มเดียวกับกลุ่มเดิมในอดีต

ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศมีมูลค่าประมาณ 650 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปี อย่างไรก็ตามบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจถุงยางอนามัยคาดว่าตลาดถุงยางอนามัยจะขยายตัวได้มากกว่านี้ถ้าภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัย โดยเน้นเพื่อ “การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย” และจากเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์รายใหม่และการรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยอันตรายจากโรคเอดส์ว่าเป็นภัยใกล้ตัวมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของตลาดถุงยางอนามัยเชิงพาณิชย์ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัจจุบันตลาดส่งออกถุงยางอนามัยของไทยกระจายไปถึงเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดหลักในการส่งออก คือ สหรัฐฯมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 12.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่รัสเซียร้อยละ 7.7 อังกฤษร้อยละ 7.3 และจีนร้อยละ 6.1 คาดว่าอนาคตการส่งออกถุงยางอนามัยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากการที่องค์การอนามัยโลกออกมาแสดงความวิตกในการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และหันมากระตุ้นให้ประเทศต่างๆตระหนักถึงอันตรายของโรคเอดส์ ซึ่งจะสร้างความตื่นตัวในการหันมาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์กันมากขึ้น นับว่าจะส่งผลกระตุ้นตลาดส่งออกถุงยางอนามัยให้ขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตถุงยางอนามัยของไทยยังมีการพัฒนาในเรื่องการเจาะขยายตลาด ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภค รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการผลิตน้ำยางข้นในช่วงปลายปี 2549 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำยางข้นมีแนวโน้มลดลง ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตถุงยางอนามัยที่จะมีต้นทุนการผลิตลดลง

อนาคตการส่งออกถุงยางอนามัยของไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออก โดยในปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกถุงยางอนามัยอันดับหนึ่งของโลก จากมูลค่าการค้าถุงยางอนามัยในตลาดโลกเฉลี่ยประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ไทยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าการค้าถุงยางอนามัยในตลาดโลก รองลงมาคือ อินเดียมีสัดส่วนร้อยละ12.7 สหรัฐฯร้อยละ 10.4 และมาเลเซียร้อยละ 10.0 ตามลำดับ เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบที่เป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำยางข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตถุงยางอนามัยมากที่สุดในโลก ทำให้ไทยเป็นประเทศเป้าหมายในการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตถุงยางอนามัยเพื่อการส่งออกไปป้อนตลาดทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่ต้องพึ่งการนำเข้าถุงยางอนามัย เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตถุงยางอนามัยได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคเอดส์และโรคเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ซึ่งตลาดใหม่ๆที่มีแนวโน้มนำเข้าถุงยางอนามัยจากไทยเพิ่มขึ้นคือตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศต่างๆในแอฟริกา

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับอุตสาหกรรมถุงยางอนามัยในไทย คือ
-การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ปัจจุบันตำแหน่งการส่งออกถุงยางอนามัยอันดับหนึ่งของโลกกำลังถูกท้าทายจากประเทศคู่แข่งขัน โดยประเทศคู่แข่งขันในการส่งออกถุงยางอนามัยแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยโดยเฉพาะในประเทศที่นำเข้าถุงยางอนามัยที่สำคัญของโลก คู่แข่งที่น่าจับตามองคือ อินเดีย โดยส่วนแบ่งทางการตลาดถุงยางอนามัยของไทยในตลาดโลกในปี 2546 เท่ากับร้อยละ 15.5 ในขณะที่อินเดียมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 8.6 แต่ในปี 2548 สัดส่วนตลาดของไทยลดลงเหลือร้อยละ 14.9 แต่อินเดียเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.7 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าส่วนแบ่งตลาดของถุงยางอนามัยของไทยในตลาดโลกนั้นค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของอินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นมีโอกาสอย่างมากที่ภายใน 1-2 ปีนี้อินเดียจะแซงไทยขึ้นไปเป็นผู้ส่งออกถุงยางอนามัยอันดับหนึ่งของโลก

-ไทยยังมีการนำเข้าถุงยางอนามัย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณและมูลค่าการนำเข้าแล้วยังต่ำกว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกอยู่มาก อย่างไรก็ตามบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจถุงยางอนามัยคงต้องมีการติดตามพฤติกรรมของคนไทยที่เป็นลูกค้าของถุงยางอนามัยที่นำเข้า และมีการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น