เรือด่วนเจ้าพระยาวอนภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการลงทุนติดตั้งและเปลี่ยนเรือเป็นเอ็นจีวี โอดพร้อมขายกิจการและบริหารการเดินเรือให้หากมีผู้สนใจรายใหม่สนใจ ด้านอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำฯหนุนใช้เอ็นจีวีโดยจะยกเว้นค่าธรรมเนียมเรือและใบอนุญาตใช้เรือ 5-10 ปี
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในการดำเนินโครงการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ในเรือด่วนเจ้าพระยา ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และ บริษัท จีเอฟเอส เอเชียแปซิฟิค จำกัด ผู้ประกอบการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ระบบเชื้อเพลิงร่วม (Diesel Dual Fuel : DDF) เพื่อนำเรือด่วนเจ้าพระยา 1 ลำ มาติดตั้งอุปกรณ์ NGV ระบบเชื้อเพลิงร่วม ซึ่ง ปตท. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กล่าวว่า พรุ่งนี้ (30 พ.ย.) จะเสนอต่อที่ประชุมร่วมระหว่าง นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาส่งเสริมการติดตั้งเอ็นจีวี ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมเรือและใบอนุญาตใช้เรือ เป็นเวลา 5-10 ปี หลังจากนั้นจะคิดในอัตราครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเรือทั่วประเทศมีทั้งหมด 50,000 ลำ เสียค่าใบอนุญาตการใช้เรือประมาณ 500 บาท/ลำ ส่วนค่าธรรมเนียมเรือเสียตามประเภทและน้ำหนักเรือ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาเสียลำละประมาณ 4,000-5,000 บาท/ปี
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสำรวจผลิตและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ดำเนินโครงการทดลองใช้ NGV กับเรือประมงที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และเรือเฟอร์รี่ ระหว่างอำเภอแหลมงอบ – เกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งผลการทดลองประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สำหรับโครงการทดลองในเรือด่วนเจ้าพระยานี้ได้มีการตกลงกันว่าหากประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจภายใน 6 เดือน บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาฯ จะนำเรือโดยสารในสังกัดมาติดตั้งอุปกรณ์ NGV เพิ่มเติมจำนวน 30-40 ลำ คาดว่าจะช่วยให้ประเทศลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึงปีละ 920,000 ลิตร คิดเป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาท
นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา กล่าวว่า เรือของบริษัท มีประมาณ 60 ลำ หากทดลองประสบผลสำเร็จแล้วทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นผลดีต่อประเทศทั้งในแง่ลดต้นทุนเชื้อเพลิง การแก้ปัญหามลพิษ การลดปัญหาเสียงดัง ก็ต้องมีการลงทุนเปลี่ยนเรือเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเอ็นจีวี ต้องลงทุนหลายล้านบาท/ลำ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ภาครัฐคงต้องเข้ามาช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือหากจะมีผู้เข้ามาลงทุนซื้อกิจการ ทางบริษัทก็ยินดีที่จะขายให้และพร้อมที่จะบริหารการเดินเรือให้ด้วย