xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ไทยพาณิชย์คาดเศรษฐกิจปีหน้าโตร้อยละ 4.5-5.5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์คาดเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 สินเชื่อโดยรวมทั้งระบบขยายตัวร้อยละ 7-8 โดยการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่เอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐในการตั้งเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดเงินในปีกุน” ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 จากปี 2549 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5- 5 โดยการลงทุนภาครัฐเริ่มกลับมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเตรียมพร้อมด้านการลงทุนโดยจะส่งผลต่อธุรกิจต่อเนื่อง ตลอดจนแรงงานและคาดว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารทั้งระบบน่าจะขยายตัวร้อยละ 7-8 หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท

ส่วนแนวทางการตั้งเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ คุณหญิงชฎา กล่าวว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่แรงจูงใจสำคัญที่จะให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน คือความมั่นคงและความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา ตลอดจนมาตรการทางภาษี การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนมากขึ้น เพราะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าทางการเกษตรที่มีศักยภาพ ตลอดจนการประมงและการทำอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจในปีนี้ ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง และยังไม่มีสัญญาณว่าการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัว โดยเศรษฐกิจปีนี้มีรายได้หลักจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเงินจากภาคต่างประเทศ ส่วนการลงทุนมีประมาณร้อยละ 30 ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5 และในปีหน้าขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 5.5 โดยเศรษฐกิจโลกปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากปี 2549 ที่เติบโตร้อยละ 5.1 และราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบจะอยู่ที่ 50-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากค่าเฉลี่ยประมาณ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2549 และยังมีโอกาสผันผวนสูง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ปัญหาการเมืองในตะวันออกกลาง ตลอดจนการเก็งกำไร เพราะมีการซื้อขายน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าเก็บไว้ปริมาณที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม การลงทุนโครงการภาครัฐมีแนวโน้มเบิกจ่ายได้เร็วขึ้นในช่วงกลางปี 2550 เช่น ระบบขนส่งสาธารณะที่จะใช้งบปี 2550 จำนวน 98,000 ล้านบาท ที่อยู่อาศัย 124,000 ล้านบาท การพัฒนาทรัพยากรน้ำ 60,000 ล้านบาท ทำให้การลงทุนโดยรวมในปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 8-9 จากปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 4.8-5.8 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.5-3 จากปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 4.3-4.8

ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง เห็นได้จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนหลังเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่สิ่งที่น่าจับตามองการเปลี่ยนแปลงหลังจากการปฏิรูปการปกครอง โดยเฉพาะความคืบหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2550 จากเดิมกำหนดไว้ร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิ หรือประมาณ 497,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะจัดสรรได้เพียงร้อยละ 25 หรือประมาณ 353,000 ล้านบาท ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในระบบสถาบันการเงินในปีหน้า เพราะจะเริ่มนำหลักเกณฑ์การกำกับดูแลบาร์เซิล 2 มาใช้ในปี 2551 ซึ่งธนาคารจะต้องดำรงเงินกองทุนเพื่อสะท้อนความเสี่ยงหลายประเภทมากขึ้น เพื่อใช้เป็นสถิติในการวัดคุณภาพของลูกค้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บมีแนวโน้มขึ้นอยู่กับคุณภาพของลูกค้า ตลอดจนการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากและการเจรจาเอฟทีเอกับหลายประเทศ ดังนั้น ปี 2550 เศรษฐกิจยังคงเคลื่อนไหวไม่แตกต่างจากปี 2549 มากนัก

กำลังโหลดความคิดเห็น