xs
xsm
sm
md
lg

'เกริกไกร' เผยอยากให้คนไทยเป็นนักขาย-บริการ-ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยืนยันแนวทางการสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าแบบเสรี สร้างธรรมาภิบาล ทำงานทุกอย่างต้องโปร่งใส เผยวิสัยทัศน์อยากเห็นคนไทยเป็นนักขาย นักบริการ และนักลงทุน


นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงาน Open House With Economic Ministers ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. การทำให้การค้าเสรีและเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากการค้าเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย ดังนั้น จึงต้องตอบแทนซึ่งกันและกัน คู่ค้าจะไม่อยากค้ากับอีกฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งเปิดเสรี ขณะที่อีกฝ่ายเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย เพราะฉะนั้น การค้าจึงเป็นเรื่องต่างตอบแทน นโยบาย และ 2. การสร้างธรรมาภิบาล เรื่องของความโปร่งใส การทำงานทุกอย่างจะต้องให้เหตุผลได้ ตอบได้อย่างชัดเจนถึงเหตุผลของการตัดสินใจ

นายเกริกไกร เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์ของการดำรงตำแหน่งมี 3 ประการ ได้แก่ การทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศนักค้าขาย ซึ่งขณะนี้สัดส่วนของการส่งออกต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 65 การให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ให้บริการด้านการบริการ ซึ่งภาคการบริการมีมากกว่าธุรกิจขนส่ง และการท่องเที่ยว แต่รวมถึงภาคเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก และการสร้างให้ประเทศไทยเป็นประเทศนักลงทุน ซึ่งขณะนี้คนไทยออกไปลงทุนใน 4 ถึง 5 ประเทศ แต่ในอนาคตต้องการส่งเสริมให้คนไทยก้าวออกไปต่างประเทศมากกว่านี้ อาจเป็น 10 หรือ 100 ประเทศ ในอนาคต

สำหรับแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ มี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ นโยบายที่เน้นการส่งออก ซึ่งจะพยายามรักษาระดับการเจริญเติบโตของการส่งออกให้อยู่ที่ร้อยละ 16-17 ต่อปี โดยภาคเอกชนจะเป็นแนวหน้าในเรื่องนี้ต่อไป โดยการวางนโยบายส่งออกไทยจะต้องมองไปที่แนวนโยบายของสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย เพื่อวางนโยบายให้ไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของเศรษฐกิจเหล่านี้ นอกจากนี้ยังต้องการส่งเสริมให้โอท็อปพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ไปสู่เอสเอ็มอี ผู้ส่งออก ธุรกิจระดับประเทศ ภูมิภาค และกลายเป็นบริษัทระดับโลกในที่สุด

นายเกริกไกร ระบุด้วยว่า จะมีการพัฒนาการบริหารห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นไปที่ระบบโลจิสติกส์ของเฉพาะภาคเศรษฐกิจ นโยบายอีกประการ คือ รายได้ของภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เกษตรกรสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ใช้วิธีที่ทำให้เกษตรกรหลงติดกับความช่วยเหลือและอ่อนแอลง ดังนั้น แนวทางของรัฐบาล คือ การเข้าไปดูแลสวัสดิการภาคชนบท นโยบายประการที่ 3 คือ นโยบายสวัสดิการผู้บริโภค โดยจะมีการปฏิรูปการค้า ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขัน

นายเกริกไกร ขยายความเรื่องการค้าเสรีและเป็นธรรมว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ ต้องการเวทีต่อรองทางการค้าที่ดี และสามารถใช้ได้จริงในการต่อรองกับประเทศขนาดใหญ่ ต้องการองค์กรความร่วมมือภายในภูมิภาค เช่น อาเซียน ซึ่งประเทศไทยมองไปที่ปี 2020 ของการรวมกลุ่ม นอกจากนี้ยังจะดำเนินนโยบายเจรจาการค้าแบบ 2 ฝ่าย เช่น เอฟทีเอ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลต่อเอฟทีเอ มี 2 ประการ ได้แก่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และควรหรือไม่ที่จะให้รัฐสภามีส่วนในการตรวจสอบข้อตกลงเอฟทีเอ สำหรับประเด็นในเรื่องนอมินีนั้น นายเกริกไกร ชี้ว่าเป็นเรื่องยากในการแก้ไข แต่จะต้องปรึกษาหารือกับหลายฝ่าย รวมถึงเอกชน เพื่อนิยามคำว่านอมินี และพฤติกรรมนอมินี ในการร่างกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น