xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้าชี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค.เริ่มดีขึ้นทุกรายการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม ดีขึ้นทุกรายการ จากปัจจัยบวกทั้งราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจ และการเมือง แต่ยังต่ำกว่าระดับ 100 จนถึงไตรมาส 4 ปี 2549 เพราะความกังวลบางส่วน แต่คาดผู้บริโภคจะเริ่มใช้จ่ายมากขึ้นในต้นปีหน้า หลังจากมีปัจจัยบวกหลายด้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เนื่องจากปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2549 จากร้อยละ 4-5 เป็นร้อยละ 4.5-5 และปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 จากเดิมร้อยละ 4-5 รวมถึงสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม อยู่ที่ 83.5 จากเดือนกันยายน อยู่ที่ 82.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 77.7 จากเดือนกันยายน ที่ 76.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 78.4 จากเดือนกันยายน ที่ 77.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 94.4 จากเดือนกันยายน ที่ 92.7

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบกระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ผู้บริโภคยังวิตกกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ เพราะราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ รวมถึงปัญหาดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง และปัญหาความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการ

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของดัชนีต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าภาพรวมผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมามากขึ้น หลังจากปัจจัยต่าง ๆ ดีขึ้น โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คาดว่ายังชะลอตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ไปถึงไตรมาส 4 ปี 2549 ทำให้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวร้อยละ 4-5 แต่จะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2550 โดยผ่านระดับ 100 ได้ เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ ราคาน้ำมันที่ไม่อยู่ในระดับสูง และภาวะเศรษฐกิจคงไม่ทรุดต่ำลงไปมากกว่าปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น